ดูเพิ่มเติม

สรุป หุ้น STARK เกิดอะไรขึ้น และที่มาที่ไปของการล่มสลาย

5 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

สรุป ปัญหา หุ้น STARK หรือ บริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อุทาหรณ์การล่มสลายของหุ้นไทย ที่มาที่ไปของสาเหตุที่มูลค่าร่วงลงกว่า 90% ภายในวันเดียว

 นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือหุ้นไทยในช่วงนี้ คงจะต้องได้ยินเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้มาบ้างแล้ว เพราะไม่ว่านักลงทุนรายย่อย รายใหญ่ หรือ สถาบัน ต่างขาดทุนกันย่อยยับอย่างไม่ทันตั้งตัวไม่ต่างจากการถูก Rug Pull หรือ Scam ในวงการคริปโต กันเลยทีเดียว บทความนี้เราจะมาสรุปที่มาที่ไปครบจบเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ให้ทราบกัน

จุดเริ่มต้นของ STARK

การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของหุ้นตัวนี้ไม่ได้เข้าสู่ตลาดด้วยวิธีการปกติอย่างการขาดหุ้นใหม่ให้แก่สาธารณะ หรือที่เรียกกันว่า IPO (Initial Public Offering) แต่เข้ามาด้วยการเข้าจดทะเบียนทางอ้อมหรือที่เรียกว่า Back-door Listing ผ่านการเข้าซื้อกิจการ สินทรัพย์และหุ้นของบริษัท SMM หรือ สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ที่ถูกจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

เมื่อทางบริษัทเข้าซื้อกิจการและเปลี่ยนแปลงอำนาจการควบคุมและโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ บริษัทที่เข้าควบกิจการจะกลายเป็นบริษัทที่ได้รับการจดทะเบียนด้วยไปในตัว

บท สรุป หุ้น STARK ร่วงดิ่งติดฟลอร์หลายวันติด นำไปสู่การล่มสลาย

การเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ในขณะเดียวกัน STARK เป็นผู้ประกอบธุรกิจขายสายไฟฟ้า โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ของบริษัทระดับโลกชื่อดังอย่าง Phelps Dodge และมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยมีกำไร 123 ล้านบาท 1,608 ล้านบาท 2,783 ล้านบาท และ 2,216 ล้านบาท ในปี 2562-2565 ในไตรมาสที่ 3 ตามลำดับ

ดังนั้นจึงมีนักลงทุนจากทั้งไทยและต่างประเทศเข้าลงทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางบริษัทติดชื่อหนึ่งในบริษัทด้านสายไฟฟ้าที่ติดอันดับโลก โดยหากนับมูลค่าหุ้นสมัยยังเป็น SMM ที่ 1.40 -2.60 บาทต่อหุ้น

ในช่วงปี 2562 มีการเก็งกำไรจากการเข้าครอบครองกิจการ SMM จนราคาพุ่งไปถูก 6.65 บาทต่อหุ้นเลยทีเดียว ผลักดันให้หุ้นติด SET100 หรือ 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การเพิ่มทุนจากสถาบัน 12 แห่งมูลค่า 5,580 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นกลางปี 2565 ทางบริษัทประกาศเพิ่มทุน 1,500 ล้านหุ้น ให้กับนักลงทุนสถาบัน ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท หรือตีเป็นมูลค่าราว 5,580 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อกิจการ LEONI ธุรกิจสายเคเบิลและการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเยอรมนี

การระดมทุนมีสถาบันทางการเงินทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศชื่อดังมากมายเข้าร่วมกว่า 12 ราย ได้แก่ The Hongkong and Shanghai Banking, UOB Kay Hian, Credit Suisse, บลจ. บัวหลวง, บลจ. กสิกรไทย, บลจ. ไทยพาณิชย์, บลจ. เกียรตินาคินภัทร, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง, บลจ. วรรณ, เมืองไทยประกันชีวิต, บลจ. กรุงไทย และ บลจ. อเบอร์ดีน

แต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ทางบริษัทออกมาประกาศ “ยกเลิก” การลงทุนใน LEONI โดยอ้างเหตุผลเรื่องสถานการณ์สงคราม Russia-Ukraine และนำเงินเพิ่มทุนที่ระดมได้กว่า 5,580 ล้านบาท ไปใช้กับโครงการอื่นแทน รวมถึงนำไปใช้หนี้ระยะสั้นเพื่อเสริมฐานะทางการเงิน

แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ เหล่าผู้บริหารและกรรมการบริษัท ประกาศลาออกยกชุด รวมถึงผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทต่างๆ ต้องส่งงบสรุปประจำปี 2565 ให้แก่ตลาดหลักทรัพย์

การตกแต่งงบและการทุจริตของ STARK

การลาออกของผู้บริหารเกิดขึ้นหลังจากทางบริษัท ไม่สามารถส่งงบประจำปี 2565 ให้กับตลาดหลักทรัพย์ได้ จนหุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) หรือถูกระงับการซื้อขายชั่วคราว โดยหุ้นจะสามารถกลับมาซื้อขายได้หลังจากวันประกาศ 1 เดือน และต้องจัดส่งงบภายใน 3 เดือน มิเช่นนั้นจะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นโดยขึ้นเป็นเครื่องหมาย NC

ไม่นานสิ่งที่ซ่อนไว้ใต้พรมก็ถูกขุดขึ้นมาหมดว่า ส่งงบล่าช้าและการลาออกของเหล่าผู้บริหารนั้น เกิดขึ้นเพราะคณะกรรมการเหล่านี้มีการ “ทุจริต” ภายในบริษัทและ “ตกแต่งงบการเติบโตในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา” เพื่อดึงดูดนักลงทุน

“เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้” ต้นต่อของการล่มสลายหุ้น STARK

อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมา คือความเสี่ยงผิดชำระหนี้หุ้นกู้มุลค่า 9,200 ล้านบาท และการค้างชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นและยาวจากธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย มูลค่ารวมอีกกว่า 7,000 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีส่วนทุนเหลือเพียง 8,600 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะเดียวกันแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ก็เข้ากระหน่ำซ้ำเติม จึงมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงมาก ทำให้ ทริสเรทติ้ง ประกาศลดเครดิตเรทติ้งมาอยู่ที่ระดับ C พร้อมเครดิตที่เป็นลบ

บท สรุป หุ้น STARK ร่วงดิ่ง การถล่มทลายของราคา

วันที่ 1 มิถุนายน หุ้น STARK กลับมาซื้อขายเป็นวันแรกและราคาถล่มลงมากว่า 92.44% ที่ราคา 0.18 บาท ณ สิ้นวัน ทำให้นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็น รายย่อย รายใหญ่ หรือแม้แต่สถาบัน ต่างขาดทุนกันย่อยยับ ท่ามกลางตลาด SET ที่มีแรงเทขายมากอยู่แล้ว ล่าสุดราคาปิดสัปดาห์วันที่ 9 มิถุนายน อยู่ที่ 0.11 บาทต่อหุ้น เพียงเท่านั้น

ดังที่กล่าวมาข้างต้น หุ้นจะเปิดให้ซื้อขายในวันที่ 1-30 มิถุนายน เพียงเท่านั้นก็จะครบกำหนด 1 เดือน และตกส่งงบให้ได้ภายในสิงหาคมก่อนถูกเพิกถอนจากตลาด

ตอนนี้ ผู้บริหารชุดใหม่ของบริษัท ได้เข้าพบ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ยก.ปอศ.) เพื่อแจ้งเบาะแสการฉ้อโกงของผู้บริหารชุดเก่าแล้ว

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | เมษายน 2024

Trusted

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ

IMG_4466-1.png
Nonthachai Sukkankosol
นนทชัย สักการโกศล จบการศึกษาปริญญาโท ด้านการวิจัยผลงานศิลปะร่วมสมัย จาก SOAS University of London แต่ผันตัวมาเป็นผู้แนะนำการลงทุนที่บริษัทหลักทรัพย์ Finansia Syrus Securities PLC. เขาถือใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารทุน ตราสารหนี้และกองทุนรวม และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงใบรับรองด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิค CMT ระดับ 2 จาก CMT Association ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเริ่มลงทุนคริปโตเคอเรนซี่มาตั้งแต่ปี 2016
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน