Trusted

การ Burn token และ NFTs กับเหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์

2 mins
อัพเดทโดย Passanai Jiraruekmongkol

สรุปย่อ

  • การเผาเงิน ไม่ใช่แนวคิดใหม่และมันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของสถาบัน/บริษัท
  • กระแสการ Burn เหรียญในช่วงหนึ่งที่ผ่านมา
  • การเผา NFTs
  • วิธีการ Burn NFTs กรณีนักสะสมต้องการทำความสะอาดกระเป๋าตนเอง
  • Promo

การ Burn เหรียญคริปโต และ NFTs โดยการส่ง Token ต่างเหล่าๆ นี้ไปยังกระเป๋านอกบล็อกเชนที่ไม่สามารถเปิดหรือส่งต่อไปยังที่ใดได้ แต่แท้จริงแล้วมีความซ้ำซ้อนทางเทคนิคและกลยุทธ์ทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นแก่นสำคัญ

การเผาเงิน ไม่ใช่แนวคิดใหม่และมันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของสถาบัน/บริษัท

การนำสินทรัพย์ออกจากการหมุนเวียนเพื่อปรับความพร้อมใช้งานและมูลค่ามีมากนานแล้วในระบบการเงินปัจจุบัน หรือการลดอุปทานเพื่อเพิ่มอุปสงค์ทางอ้อมนั่นเอง หรือเพื่อรักษาอำนาจการควบคุมยกตัวอย่างเช่น

  • ธนาคารกลาง ที่สามรถปรับปริมาณสกุลเงินหมุนเวียนเพื่อปรับกำลังซื้อของสกุลเงินนั้นๆ หรืออย่าง FED ที่ทำ Quantitative Tightening (QT) เพื่อดึงสภาพคล่องออกนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง คือ การสร้างภาวะเงินฝืด เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และลดอุปทานเกินบนตลาด (เงินเฟ้อ)
  • บริษัทมหาชนที่ซื้อหุ้นคืนเพื่อลดจำนวนที่หุ้นหมุนเวียนในระบบ โดยทั่วไป แนวปฏิบัตินี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าหุ้นในขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัท แต่แน่นอนว่าบางครั้งมันกลับส่งผลตรงกันข้ามเพราะอุปทานที่แท้จริงนั้นไม่เพียงพอทำให้สภาพคล่องต่ำลง
  • การซื้อหุ้นคืนยังเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาอำนาจการควบคุมบริษัท โดยบริษัทต่างๆ สามารถใช้กลยุทธ์นี้เพื่อป้องกันการเข้าซื้อกิจการจากบริษัทคู่แข่ง อีกนัยหนึ่งคือ การซื้อหุ้นเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก เพื่อรักษาความเป็นเจ้าของบริษัท

เช่นเดียวกันกับการ Burn เหรียญคริปโต การลดอุปทานในระบบในช่วงตลาดกระทิง ทำไปเพื่อหนุนหลักแรงดันราคาจากอุปสงค์ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ราคาพุ่งทะยานมากขึ้นและทำให้มูลค่าบริษัททางบัญชี (Market Cap) ทวีคูณขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังทำให้เปอร์เซ็นต์การถือครองของกลุ่มเจ้าของบริษัทเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วเหรียญที่ถูกเผา ไม่ใช่อุปทานจากส่วนของเจ้าของโปรเจค แต่เป็นรายย่อย เช่น การเผาส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมการโอน

กระแสการ Burn เหรียญในช่วงหนึ่งที่ผ่านมา

การเผาเหรียญถูกจุดฉนวนด้วย EIP-1559 ของ Ethereum ตามด้วยโปรเจคชื่อดังอีกมากมาย เช่น Columbus-5 (TIP44) ของ Terra MKRBurn ของ MakerDao และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ละโปรเจคก็เลือกรูปแบบการเผาเหรียญที่แตกต่างกันออกไป

  • เผาจากค่าธุรกรรม

Ethereum ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่เป็นอันดับสองตามมูลค่าราคา ได้นำระบบการทำงาน EIP-1559 ซึ่งเป็นการอัปเดตที่เปิดตัวในเดือนสิงหาคม 2021 เพื่อเผา Ethereum ส่วนหนึ่งที่รวบรวมจากค่าธรรมเนียมจากการตรวจสอบธุรกรรมบนเครือข่าย ปัจจุบันได้เผา Ethereum ไปแล้วมูลค่ากว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ (2.5 ล้าน ETH) นับตั้งแต่เปิดตัว ตามรายงานของ Watch the Burn โดยเฉพาะล่าสุดการเปิดตัวโปรเจคอย่าง Otherdeed NFTs ที่ได้เผาเหรียญไปมูลค่าไปกว่า 157 ล้านเหรียญสหรัฐ

  • เผาเพื่อ Mint ในระบบ Algorithmic Stablecoin

UST ของ Terra หรือ algorithmic Stablecoin ใช้กระบวนการที่เรียกว่า seigniorage นั่นคือการ mint ของ UST จะต้องเผา LUNA ตามมูลค่าเทียบเงินดอลลาร์ ณ ขณะนั้น หากมูลค่า UST ลดลงกว่า 1 USD LUNA จะถูก mint ขึ้นโดยการเผา UST จำนวนเท่ากับมูลค่า USD ของ LUNA ณ ขณะนั้น หลังจากที่ Terra พังทลายลง ปัจจุบันเหรียญ USDD จาก TRON ก็ยังใช้ระบบที่คล้ายคลึงกันนี้อยู่

  • เผาจาก Supply ส่วนเกินเพื่อ Reward ชุมชน

ในระบบ Tokenomics ของ MakerDao ผลิตภัณฑ์หลักของโปรเจค คือ การนำเหรียญคริปโตมาวางค้ำประกัน เพื่อกู้เหรียญ Stablecoin DAI หรือเรียกว่าการ Over-collateralized แต่หลังจากวิกฤตการหลุด peg ในเดือนมิถุนายน 2020 ได้มีการเปิดระบบกองทุนสำรอง (Surplus Buffer) ขึ้น โดยนำส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยต่างๆ มาเก็บสะสมเข้ากองทุน หลังจากนั้น ระบบ MKRBurn ในปัจจุบันคือ การนำ DAI ส่วนเกินจากกองทุนสำรองมาซื้อคืน (buy back) เหรียญ MKR ในตลาดและส่งเข้าเตาเผา ระบบการเผานี้ในแง่หนึ่งคือ การลดอุปทานส่วนเกินในขณะเดียวกันก็เพื่อตอบแทนชุมชนทางอ้อมในเชิงของราคา ปัจจุบันมีการเผาไปแล้วกว่า 22,368 MKR นับเป็น 2.24% ของอุปทานทั้งหมด 1 ล้าน MKR

  • การเผาในรูปแบบอื่นๆ : Burn เพื่อ Mine (PoB)

ระบบ Proof-of-burn (PoB) คือ การทำลายเพื่อสร้าง เป็นหนึ่งใน consensus algorithm ที่ดำเนินการโดยเครือข่ายบล็อคเชน เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของธุรกรรมบนบล็อกเชน

Iain Stewart คิดค้น PoB ใช้การเปรียบเทียบเพื่ออธิบายการทำงานว่า เหรียญที่ถูกเผาเป็นเหมือนแท่นขุด นักขุดจะเผาเหรียญเพื่อซื้อเครื่องขุดเสมือนจริงที่ให้พลังในการขุดบล็อค ยิ่งนักขุดเผาเหรียญมากเท่าไร “แท่นขุดเจาะ” เสมือนของพวกเขาก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นและขุดหารางวัลได้มากขึ้น

ในการเผาเหรียญ นักขุดจะส่งมันไปยังที่อยู่ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ กระบวนการนี้ไม่ใช้ทรัพยากรหรือพลังจำนวนมาก (นอกเหนือจากเหรียญที่ถูกเผา) และช่วยให้เครือข่ายยังคงทำงานอย่างคล่องตัว ผู้ขุดสามารถเผาสกุลเงิน native หรือสกุลเงินทางเลือกจากเชนย่อยอื่นๆ (alternative chain) ก็ได้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน พวกเขาได้รับรางวัลเป็นเหรียญสกุล native แทน ตัวอย่างหนึ่งคือ ShibBurn ที่นำเหรียญ Shib มาเผาเพื่อขุด เหรียญ RYOSHI VISION และ 0.49% จากค่าธุรกรรมทั้งหมดจะทุกมอบเป็นรางวัลเพิ่มเติมให้กับผู้ที่เผา Shib อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Slimcoin ที่จำนวนเหรียญที่ถูกเผาจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการค้นหาบล็อกเพื่อขุด ในขณะเดียวกันการขุดก็คือการพิสูจน์ธุรกรรมการเผาของผู้อื่นเพื่อรับรางวัล

ระบบ PoB ยังเป็นกลไกหนึ่งเพื่อสร้างความเสมอภาคระหว่างนักขุดที่เข้ามาก่อนและคนที่มาที่หลัง เพราะปกติในระบบ PoW ผู้ที่เริ่มขุดก่อนจะได้อุปทานมาง่ายกว่า ผู้ที่มาที่หลังเพราะค่า difficulty ที่เพิ่มตามจำนวนบล็อก แต่ระบบ PoB จำเป็นต้องเผาเหรียญเพื่อขุด จึงทำให้รายใหญ่รักษาอัตราส่วนการถือครองไว้ได้ยากขึ้น การขุดจึงไม่เกี่ยวกับการมาก่อนหลังแต่อยู่ที่จำนวนการลงทุนเผื่อเผานั่นเอง

การเผา NFTs

ไม่ต่างไปจากแนวคิดเบื้องหลังการเผาเหรียญคริปโต การ burn NFTs เป็นไปเพื่อควบคุมอุปสงค์และอุปทาน หรือ “การบริหารคุณค่าของ NFTs” ถ้าหากอุปทานขาดแคลนจะทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นและอาจเพิ่มมูลค่าของมันได้ ยกตัวอย่างเช่น การเผาอุปทานส่วนเกินที่ไม่มีคนมิ้นท์ในช่วงเปิดตัวโปรเจค และ การเผา NFTs เพื่อแลก NFTs ตัวใหม่ ซึ่งพบเห็นได้บ่อยๆ ใน 2 รูปแบบ

  • รูปแบบแรก คือ เมื่อโปรเจคต้องการเปลี่ยนโครงสร้างของคอลเลคชั่น เช่น การย้ายเชน หรือการอัพโหลดคอลเลคชั่นใหม่ การเผา NFTs เป็นการแสดงสิทธิ์แลกรับ NFTs ชิ้นเดิม บนโครงสร้างใหม่ รูปแบบนี้คือกลยุทธิ์ในการเผาเพื่อย้ายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การย้าย NFTs จำนวนกว่า 48 โปรเจค ประกอบไปด้วยจำนวน NFTs กว่า 90 คอลเลคชั่น จาก Terra มาที่ Polygon เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม หลังการล่มสลายของ Terra
  • รูปแบบที่สอง คือ การ burn เพื่อแลกรับ NFTs ชิ้นใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น โปรเจคชื่อดัง อย่าง Bored Ape Yacht Club (BAYC) ที่ airdrop Serum ที่สามารถเผาเพื่อแลก Mutant Ape ได้ โดยการแจกจ่าย Serum จะมี 3 ระดับ คือ M1 M2 และ M3 ที่จำนวน 7,500 ชิ้น 2,492 ชิ้น และ 8 ชิ้น ตามลำดับ โดย M3 เคยถูกขายไปในมูลค่ากว่า 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่เน้น การผสมหรือเผา NFTs 2 ชิ้นเพื่อแลก NFTs ชิ้นใหม่ที่แรร์กว่า รูปแบบนี้จะทำให้จำนวนหรืออุปทานของคอลเลคชั่นเดิมจะลดลง โดยเฉพาะกับโปรเจคอย่าง Cryptokitties ที่ NFTs ระดับปกติสามารถมิ้นท์ได้อย่างไม่จำกัด
  • รูปแบบอื่นๆ เช่น การ เผาเพื่อมิ้นท์ เหรียญ เช่น โปรเจค Burn.art ที่เหรียญ ASH จะได้รับจากการเผา NFTs ของโปรเจค โปรเจคดังกล่าวริเริ่มโดยศิลปินนาม Pak ซึ่งเทคนิคนี้ทำให้มูลค่าของชิ้นงาน NFTs พุ่งสูงขึ้น ในขณะเดียวกันการประมูล NFTs ชิ้นใหม่ ก็จะต้องใช้ ASH ในการประมูล และไม่มี pre-sale ของเหรียญใดๆ รวมถึง Liquidity Pool ที่ทางชุมชนเป็นผู้สร้างเอง และสามารถซื้อขายได้ผ่าน Uniswap และ Gemini ถือว่าการ burn NFTs กลายเป็นหัวใจหลักของการสร้างระบบทางเศรษฐศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ระดับย่อมนี้เลยที่เดียว 
Many Burned Cubes 3825 Edition of 1

วิธีการ Burn NFTs กรณีนักสะสมต้องการทำความสะอาดกระเป๋าตนเอง

หากนักสะสมต้องการเผา NFTs ของตนเอง ให้ลงชื่อเข้าใช้ตลาดที่คุณมิ้นท์ NFT ของคุณ และเลือกชิ้นงานที่คุณต้องการทำลาย จากนั้นเลือกตัวเลือกการตั้งค่าแล้วเลือก “Burn Token” ในบางกรณี ผู้ใช้งานอาจจะต้องไปที่คอนแทรคและเขียน คอนแทรคใหม่ และมองหาฟังก์ชันการเผา จากนั้น ป้อน tokenId ของตนเองและเลือกเขียนคอนแทรคขึ้น โดยทั่วไปขั้นตอนจะเป็นดังนี้

  1. ผู้ถือ NFTs ส่งคำสั่งเผา และจำนวน NFTs ที่เขาต้องการจะกำจัด
  2. คอนแทรคจะเช็คกระเป๋าของผู้ส่งคำสั่งว่ามีเหรียญคริปโตพอในการจ่ายค่าทำธุรกรรมหรือไม่ หากเผาบน Ethereum อาจเสียค่าแก๊สระหว่าง 5- 100 ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นในเวลานั้น
  3. Sign คอนแทรค หากค่าทำธุรกรรมเพียงพอ NFTs จะหายไปตลอดการ แต่หากไม่เพียงพอการทำธุรกรรมจะถูกยกเลิก

การส่งคำสั่งเผาผ่านคอนแทรคนี้จะถูกบันทึกลงบนบล็อกเชน และการส่ง NFTs เข้ากระเป๋าสำหรับการ Burn นี้นั้นเหมือนกันกับการเผาเหรียญคริปโต นั่นคือเป็นกระเป๋าที่อยู่นอกบล็อกเชนและไม่สามารถ เปิดหรือส่งคำสั่งทำธุรกรรมใดๆ ได้

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤศจิกายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤศจิกายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤศจิกายน 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

หมายเหตุบรรณาธิการ: เนื้อหาต่อไปนี้ไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองหรือความคิเห็นของ BeInCrypto มันจัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้นและไม่ควรถูกตีความว่าเป็นคำแนะนำทางการเงิน กรุณาทำการวิจัยของคุณเองก่อนที่จะทำการตัดสินใจลงทุนใดๆ

IMG_4466-1.png
Nonthachai Sukkankosol
นนทชัย สักการโกศล จบการศึกษาปริญญาโท ด้านการวิจัยผลงานศิลปะร่วมสมัย จาก SOAS University of London แต่ผันตัวมาเป็นผู้แนะนำการลงทุนที่บริษัทหลักทรัพย์ Finansia Syrus Securities PLC. เขาถือใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารทุน ตราสารหนี้และกองทุนรวม และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงใบรับรองด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิค CMT ระดับ 2 จาก CMT Association ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเริ่มลงทุนคริปโตเคอเรนซี่มาตั้งแต่ปี 2016
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน