หลังจากที่ ‘กรมสรรพากร’ มีประกาศใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับ เกณฑ์การเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศ (คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 161/2566) ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศและนำเงินเข้ามาในประเทศในปีใดๆ ก็ตาม จะต้องยื่นเสียภาษีต่อกรมสรรพากรในปีนั้นๆ แล้วมันแตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมอย่างไร? วันนี้ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ภาษีรายได้จากต่างประเทศ ปี 2567” ที่คุณควรรู้กันดีกว่า!
หลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีของประเทศไทย
หลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีเงินได้จะมีเกณฑ์หลักๆ อยู่ 2 ประการ (อ้างอิงจากกรมสรรพากร) ดังนี้
- หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) — เงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากหน้าที่การงาน หรือ กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ ผู้ที่มีรายได้จากการทำงาน หรือ ผลกำไรจากกิจการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทยนั่นเอง
- หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) — ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยรวมกันถึง 180 วันในปีภาษีใดๆ และมีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ เนื่องจากหน้าที่การงาน หรือ กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และ ผู้มีเงินได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยภายในปีภาษีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้ดังกล่าว หรือก็คือ ผู้ที่ “อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน” และ “มีรายได้จากต่างประเทศ” และ “ได้นำเงินเข้ามาในประเทศ (ด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม) ภายในปีภาษีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้” นั่นเอง
และหนึ่งในช่องโหว่ที่สำคัญของหลักเกณฑ์เดิมที่ทำให้ผู้ที่มีเงินได้จากต่างประเทศสามารถเลี่ยงการเสียภาษีได้ก็คือประโยคที่ว่า “ผู้มีเงินได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยภายในปีภาษีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้ดังกล่าว” ซึ่งหมายความว่า หากบุคคลใดมีรายได้จากต่างประเทศ แต่นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศ “ที่ไม่ใช่รอบปีภาษีเดียวกัน” บุคคลนั้นจะไม่ต้องนำยอดเงินได้ดังกล่าวมาคำนวนรวมในรอบภาษีนั้นๆ ทำให้สามารถ “เสียภาษี” ได้ในอัตราที่น้อยลง หรือ อาจจะไม่ต้องเสียเลย!
ตัวอย่าง:
- นาย A ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน มีเงินรายได้จากการลงทุนที่ต่างประเทศในปี 2565 เป็นจำนวนทั้งหมด 500,000 บาท
- ในปีภาษี 2565 นาย A ไม่มีรายได้ที่ได้รับจากในประเทศ และไม่ได้นำเข้าเงินได้จากการลงทุนเข้ามาในประเทศ นั่นทำให้ นาย A ไม่ต้องเสียภาษีในรอบปีภาษี 2565
- จากนั้น นาย A ก็นำเข้าเงินที่ได้จากการลงทุนในปี 2565 เข้ามาในประเทศไทยในปี 2566 และจากหลักเกณฑ์เดิม การนำเข้าเงินได้ข้ามปี ก็จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า นาย A สามารถเลี่ยงการเสียภาษีให้กับประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก
หลักเกณฑ์ “ภาษีรายได้จากต่างประเทศ” ใหม่ มีผลปี 2567
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าช่องโหว่จากหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีแบบเดิมนั้น ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่พึงจะได้ ดังนั้น กรมสรรพากรจึงได้มีการประกาศหลักเกณฑ์ “การจัดเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ” ใหม่ (คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 161/2566) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ประกาศนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เรื่องการจัดเก็บภาษี ผู้มีเงินได้จากต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันใหม่ จากเดิมที่ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีต่อเมื่อ “นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้นั้นๆ” เป็น “ไม่ว่าเงินได้จะเกิดขึ้นในปีใดก็ตาม หากนำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดๆ ก็ตาม” จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวนรวมกับปีภาษีนั้นๆ
ตอนนี้ เราจะลองมาอ้างอิงโดยใช้ตัวอย่างเดิมที่เราเคยได้กล่าวถึงไปในหัวข้อที่แล้วกัน
ตัวอย่าง:
- นาย A ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน มีเงินรายได้จากการลงทุนที่ต่างประเทศในปี 2565 เป็นจำนวนทั้งหมด 500,000 บาท
- ในปีภาษี 2565 นาย A ไม่มีรายได้ที่ได้รับจากในประเทศ และไม่ได้นำเข้าเงินได้จากการลงทุนเข้ามาในประเทศในปี 2566
- จากนั้น นาย A ก็นำเข้าเงินที่ได้จากการลงทุนใน “ปี 2565” เข้ามาในประเทศไทยใน “ปี 2567” ถ้าอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ใหม่ของกรมสรรพากร นาย A จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวนรวมกับรายได้ในปีภาษี 2567 และจ่ายภาษีตามอัตราที่กำหนด
- นั่นหมายความว่า ต่อให้ในปี 2567 นาย A จะไม่มีรายได้ที่เกิดขึ้นจากในประเทศเลยก็ตาม แต่นาย A ก็ยังต้องเอารายได้จากการลงทุนที่ต่างประเทศจำนวน 500,000 บาท มาคำนวนเพื่อเสียภาษีในปีภาษี 2567 นั่นเอง
เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการจัดเก็บภาษีรายได้จากต่างประเทศปี 2567
อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดจากกรมสรรพากร มีการสรุปออกมาแล้วว่า ในช่วงแรกนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการนำเงินได้ที่เกิดจากต่างประเทศก่อนปี 2567 เข้ามาในประเทศในปี 2567 ก็จะมีการผ่อนปรนให้โดยการใช้หลักเกณฑ์เดิมในการจัดเก็บภาษีไปก่อน และจะเริ่มจัดเก็บภาษีตามหลักเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่ารายได้จากต่างประเทศของคุณจะมาจากแหล่งรายได้ใดก็ตาม (เช่น การเทรดฟอเร็กซ์ หรือการเทรดคริปโต ฯลฯ) การเสียภาษีก็เป็นหน้าที่อันควรของประชาชนชาวไทย เนื่องจากเงินภาษีที่เราส่งให้รัฐไปนั้นจะถูกนำกลับไปพัฒนาประเทศในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น การจ่ายภาษีให้ถูกต้องตามกฏหมายจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆ คนอย่างแน่นอน!
ข้อจำกัดความรับผิด
ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์