ดูเพิ่มเติม

Coins vs Tokens: สกุลเงินดิจิทัล 2 ประเภทนี้ต่างกันอย่างไร?

18 mins
โดย Ryan Glenn
แปลแล้ว Akradet Mornthong

ถึงแม้คำว่า “Coins” และ “Tokens” มักจะถูกนำไปใช้แทนกันอยู่บ่อยครั้ง แต่อันที่จริงแล้ว ทั้ง 2 อย่างนั้นเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่อยู่ในหมวดหมู่ที่แตกต่างกัน การทราบถึงความแตกต่างนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการใช้คำทั้ง 2 คำนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความน่าเชื่อถือได้ ในบทความนี้ เราจะมาดูความแตกต่างระหว่าง Coins vs Tokens และจะมากล่าวถึงแพลตฟอร์มที่สามารถนำมาใช้ในการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ได้

แนวทางที่เราใช้เลือกแพลตฟอร์มที่ดีที่สุด

Coins ในโลกของ Cryptocurrency หมายถึงอะไร?

Coins vs Tokens

ในโลกของ Cryptocurrency (สกุลเงินดิจิทัล) Coins (เหรียญ) คือ สินทรัพย์ดิจิทัลหลัก (Native Digital Assets) ที่มีต้นกำเนิดมาจากบล็อกเชน หรือให้พูดง่ายๆ ก็คือ สินทรัพย์ที่ถูกสร้างขึ้น “ภายในบล็อกเชน” เอง ไม่ใช่ “บนบล็อกเชน”

เราสามารถเปรียบเทียบได้กับประเทศต่างๆ ที่มีสกุลเงินเป็นของตนเอง เช่น ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา, ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) ที่ใช้ในสหราชอาณาจักร, และยูโร (EURO) ที่ใช้กันในสหภาพยุโรป ในทำนองเดียวกัน สกุลเงินดิจิทัลหลักบล็อกเชน Bitcoin คือ Bitcoin (BTC), สำหรับบล็อกเชน Ethereum คือ Ether (ETH), และสำหรับบล็อกเชน Solana คือ Solana (SOL)

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกธนบัตรมาเป็น 7 ชนิด (1, 2, 5, 10, 20, 50 และ 100 ดอลลาร์) และเหรียญ 5 ชนิด (1, 5, 10, 25, 50 เซนต์) ในทำนองเดียวกัน สกุลเงินดิจิทัลก็มียูนิตย่อยๆ หลายยูนิตเช่นกัน

BitcoinEthereum
1 BTC1 ETH
0.1 dBTC (decibit)0.001 finney
0.01 cBTC (centibit)0.000001 Szabo
0.000001 μBTC (bit)0.00000001 gwei (gigawei หรือ Shannon)
0.0 000001 sat (satoshi)0.000000000001 mwei (megawei หรือ Babbage)
0.00000000001 msat (millisatoshi)0.000000000000000001 wei

เหรียญคริปโต (Crypto Coins) ทำงานอย่างไร?

มีอยู่ 2 วิธียอดนิยมในการสร้างเหรียญหลักของบล็อกเชน — UTXO (Unspent Transaction Output) และ Account สกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin และ Litecoin ใช้โมเดลแบบ UTXO ในขณะที่ Ethereum และ BNB chain ใช้โมเดลแบบ Account

UTXO

UTXO จะถูกสร้างขึ้นเมื่อมีธุรกรรมเกิดขึ้น เมื่อนักขุดขุดบล็อก พวกเขาจะสร้าง Coinbase หรือทำธุรกรรมเพื่อจ่ายเงินให้กับพวกเขาเองเพื่ออัพเดตบล็อกเชน ธุรกรรมแบบ Coinbase เป็นธุรกรรมแรกในบล็อกที่นักขุดสร้างขึ้น

เมื่อ “เอาท์พุต” ของธุรกรรมถูกสร้างขึ้นแล้ว มันจะกลายเป็น UTXO จนกว่าจะถูกใช้งานไป ทุก UTXO มีข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าของมัน (เช่น จำนวนเหรียญที่มันแทนค่า) หลังจากสร้างขึ้นมาแล้ว เอาท์พุตดังกล่าวจะสามารถใช้เป็น “อินพุต” ในธุรกรรมใหม่ได้เพียงครั้งเดียว

เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมด้วยเหรียญหรือธนบัตร UTXO ก็เหมือนกับเหรียญหรือธนบัตรนั่นเอง ในขณะที่มูลค่าของธนบัตรอาจจะแตกต่างกันไป มูลค่าของ UTXO ก็สามารถแตกต่างกันได้เช่นกัน เมื่อใช้จ่ายไปแล้วคุณไม่สามารถเรียกคืนธนบัตรที่คุณใช้ไปได้ เช่นเดียวกับ UTXO ที่ใช้งานได้เพียงครั้งเดียว ผู้ซื้อจะได้รับเงินทอนใดๆ ที่เหลือจากธุรกรรม UTXO ใหม่จะถูกสร้างขึ้นและส่งไปยังผู้รับเมื่อ UTXO ถูกใช้จ่าย

หาก UTXO เดิมมีมูลค่ามากกว่าจำนวนที่ส่งไป มันก็จะมีการสร้าง UTXO ครั้งที่ 2 และผู้ส่งก็จะได้รับส่วนที่เหลือผ่านทางที่อยู่ของเงินทอน (Changes Address) แต่ละ UTXO จะต้องอ้างอิง UTXO ก่อนหน้านี้เป็น “อินพุต” เสมอ ยกเว้นในกรณีพิเศษ เช่น ธุรกรรมแบบ Coinbase ที่มีการสร้างเหรียญใหม่ สิ่งนี้จะสร้าง Chain of Custody (ความต่อเนื่องของการครอบครองสินทรัพย์) จาก UTXO หนึ่งไปยังอีก UTXO หนึ่ง โดยอิงตามประวัติของการทำธุรกรรม คุณสามารถตามรอย UTXO กลับไปยังธุรกรรมที่มันถูกสร้างขึ้นเป็น “เอาท์พุต”

Account

ในขณะที่โมเดล UTXO บันทึกธุรกรรมในลักษณะที่คล้ายกับการทำธุรกรรมด้วยธนบัตรและเหรียญ โมเดล Account นั้นจะคล้ายกับระบบธนาคารแบบดั้งเดิม ในโมเดลนี้ บัญชีจะมีการถือครองยอดคงเหลือที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละธุรกรรม

โมเดล Account
โมเดลของ Account: Medium

เมื่อคุณส่งธุรกรรม บล็อกเชนจะปรับยอดคงเหลือในบัญชีโดยตรง นอกจากนี้ มันยังหักจำนวนเงินจากบัญชีผู้ส่งและเพิ่มเข้าบัญชีผู้รับ เป็นผลให้เหรียญไม่ได้ถูก “ส่ง” จริงๆ ในทางเทคนิค แต่จะมีการอัพเดตบัญชีในบัญชีแยกประเภททุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมแทน

รายละเอียดที่สำคัญอีกประการก็คือ “Account Nonce” ซึ่งเป็นดัชนีของจำนวนธุรกรรมที่ประสบความสำเร็จของบัญชีเดียว ช่วยให้มั่นใจได้ว่า ธุรกรรมจากบัญชีดังกล่าวจะได้รับการประมวลผลตามลำดับที่ส่งไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการรักษาความสอดคล้องของสถานะของบัญชี เช่น ยอดคงเหลือของ Ether เป็นต้น

คำว่า Nonce (หมายเลขที่ถูกใช้ครั้งเดียว) ถูกใช้ค่อนข้างบ่อยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับคริปโตและเทคโนโลยี “Account Nonce” มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจาก Nonce ในการขุดบล็อกเชน, Message Authentication Codes (MAC) และ ระบบอื่นๆ

เหรียญคริปโต (Crypto Coins) ใช้ทำอะไร?

“บล็อกเชน” เป็นฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่ต้องการเครือข่ายของ “โหนด” เพื่อรักษาข้อมูลที่จัดเก็บไว้ โหนดเหล่านี้คือ ‘คอมพิวเตอร์’ หรือ ‘เซิร์ฟเวอร์’ ที่ได้รับการดูแลโดยบุคคลหรือองค์กรต่างๆ อย่างไรก็ตาม การเก็บรักษาฐานข้อมูลเหล่านี้ก็มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน โหนดฐานข้อมูล (หรือ บล็อกเชน) ต่างจาก Amazon Web Service หรือ Microsoft Azure ตรงที่มันมีความเป็นนิรนามและกระจายตัวไปทั่วโลก ดังนั้น มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจ่ายเงินให้ผู้ดำเนินการโหนดเหล่านี้ด้วยสกุลเงินเฟียต

เมื่อมีการสร้างบล็อกขึ้นมา โหนดที่ขุดหรือเสนอบล็อกจะได้รับเหรียญหรือค่าตอบแทนสำหรับการบำรุงรักษาฐานข้อมูลแบบกระจายนี้

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ “เหรียญ” มีความสำคัญก็คือ เพื่อจ่ายค่าแก๊สและค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม เมื่อคุณสร้างธุรกรรมบนบล็อกเชน โหนดต้องรับธุรกรรมของคุณและใช้ทรัพยากรเพื่อดำเนินการ ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจะจ่ายให้กับนักขุดหรือผู้เสนอ (Validator) ที่ดำเนินการธุรกรรม ในทางกลับกัน ค่าแก๊สคือต้นทุนในการทำธุรกรรม และต้นทุนในการจ่ายให้กับผู้ขุดหรือ Validator เพื่อดำเนินการธุรกรรม ผู้ใช้งานจะต้องชำระทั้งค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมและค่าแก๊สด้วย “เหรียญ” ของเครือข่าย

เหรียญคริปโตยอดนิยม

เหรียญคริปโตยอดนิยม

1. Bitcoin (BTC): ถูกสร้างขึ้นมาโดย Satoshi Nakamoto (นามแฝง) Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลหลักตัวแรกที่ถือกำเนิดขึ้นมา แม้ว่า Bitcoin จะถูกออกแบบมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ก็มันถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวางในฐานะ Store of Value (สินทรัพย์ที่ใช้เพื่อเก็บรักษามูลค่า)

2. Ether (ETH): Ether เป็นสกุลเงินดิจิทัลหลักของบล็อกเชน Ethereum มันถูกใช้เป็นค่าแก๊สสำหรับ Ethereum Virtual Machine ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาสร้างแอปพลิเคชั่นที่มีความซับซ้อนในระดับหนึ่งได้

3. Solana (SOL): เป็นเหรียญหลักของเครือข่าย Solana ซึ่งถูกใช้เป็นสื่อกลางสำหรับชำระค่าแก๊สและค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม — ซึ่งถือว่าต่ำมากๆ บน Solana หน่วยเล็กที่สุดของ SOL คือ Lamport ตั้งชื่อตาม Leslie Lamport

4. Avalanche (AVAX): Avalanche เป็นโปรโตคอลเลเยอร์ 0 ที่ใช้เหรียญ AVAX เป็นสกุลเงินดิจิทัลหลัก บน Avalanche ผู้ใช้งานสามารถเปิดตัวเน็ตเวิร์กย่อยด้วยโหนดของตนเองได้

5. Cosmos (ATOM): Cosmos เป็น Hub ที่ช่วยให้ผู้ก่อตั้งสามารถสร้างบล็อกเชนโดยใช้ IBC ซึ่งช่วยให้บล็อกเชนสามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลและทรัพย์สิน เช่น ATOM ได้อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน

Tokens ในโลกของ Cryptocurrency หมายถึงอะไร?

“โทเค็น” ต่างจาก “เหรียญ” ตรงที่ผู้พัฒนาไม่ได้สร้างโทเค็นสกุลเงินดิจิทัลลงในบล็อกเชนโดยตรง แต่พวกเขาสร้างโทเค็นด้วยการใช้ Smart Contract บนบล็อกเชนแทน ตรรกะว่าสิ่งไหนที่ “เข้าหลักเกณฑ์” ในการเป็น “โทเค็น” นั้นจะขึ้นอยู่กับนักพัฒนาที่สร้างโทเค็นนั้นขึ้นมา

ในปัจจุบัน บล็อกเชนส่วนใหญ่ไม่รู้จักโทเค็นที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชนของพวกเขา แต่จะมีบล็อกเชนบางชนิดเช่น Sui และ Aptos ที่เป็นข้อยกเว้น (ที่หาได้ยาก) ด้วยเหตุนี้ ชุมชนบางแห่งจึงได้มีการพัฒนามาตรฐานโทเค็นของระบบนิเวศบล็อกเชนนั้นๆ ขึ้นมาโดยเฉพาะ มาตรฐานโทเค็นจะควบคุมวิธีการอัพเดตบัญชี ตรรกะบางอย่างที่มาตรฐานโทเค็นจัดการ ได้แก่:

  • ตรรกะในการถ่ายโอน
  • การบันทึกเหตุการณ์
  • การอัพเดตยอดคงเหลือ
  • กำหนดอุปทานและการออก
  • กลไกการเผาโทเค็นทิ้ง (ถ้ามี)

มาตรฐานโทเค็นที่นิยมมากที่สุดคือมาตรฐาน ERC-20 สำหรับระบบนิเวศ Ethereum และเครือข่ายที่เข้ากันได้กับ EVM นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐาน BEP-20 สำหรับเครือข่าย BNB, SPL (Solana Program Library) สำหรับ Solana และล่าสุดคือมาตรฐาน BRC-20 สำหรับ Bitcoin

แนวคิดของโทเค็นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโลกของสกุลเงินดิจิทัลเท่านั้น เราสามารถมองเห็นตัวอย่างของโทเค็นในโลกแห่งความจริงได้มากมาย ถ้าจะให้เปรียบเทียบ “โทเค็น” คือ “สิ่งที่แสดงถึงสิทธิ์” หรือ “สิทธิพิเศษบางอย่าง“ ในรูปแบบสิ่งของทางกายภาพ เช่น คุณอาจจะนับได้ว่า ‘โฉนดบ้าน’ หรือ ‘หนังสือรับรองการถือครองรถ’ เป็น “โทเค็น” หรือ ”หลักฐานการเป็นเจ้าของสินทรัพย์” เหล่านั้นได้

Tokenization คือ การแปลงสิทธิ์และสิทธิพิเศษให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทัล ในกรณีของโทเค็นที่สร้างขึ้นโดย Smart Contract “โทเค็น” จะเป็นตัวแทนของสิทธิ์ในการทำธุรกรรมที่มีมูลค่า

โทเค็นคริปโต (Crypto Tokens) ทำงานอย่างไร?

นอกเหนือจากตรรกะมาตรฐานแล้ว โทเค็นยังทำงานได้หลากหลายวิธี โดยทั่วไปแล้ว ผู้ก่อตั้งจะสร้างโทเค็นโดยมีวัตถุประสงค์ในใจ และจะปรับพฤติกรรมของมันให้เข้ากับแอปพลิเคชั่นแบบกระจายอำนาจ (DApp) หรือระบบนิเวศที่จะใช้งาน

หลายคนพยายามที่จะสร้างกรอบสำหรับการจำแนกตรรกะโทเค็นขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามที่ค่อนข้างจะยิ่งใหญ่ เมื่อพิจารณาว่าพวกมันมีความหลากหลายพอๆ กับความคิดสร้างสรรค์ของนักพัฒนาเลยทีเดียว

ในกรณีของโทเค็น ERC-20 ตรรกะของโทเค็นนั้นมีอยู่ใน Smart Contract โดยสมบูรณ์ ดังนั้น ในทางเทคนิคแล้ว Address บน Ethereum ไม่ได้เป็นการ “ถือ” โทเค็นจริงๆ แต่ Smart Contract ก็เปรียบเสมือนบัญชีแยกประเภทของนักบัญชี ซึ่งจะเก็บบันทึกยอดคงเหลือของแต่ละ Address ซึ่งเป็นเจ้าของโทเค็น

เมื่อมีคน “ส่ง” โทเค็นไปยัง Address อื่น Smart Contract จะอัพเดตยอดคงเหลือของ Address ทั้ง 2 ฝั่ง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการสร้างโทเค็นโดยใช้มาตรฐานที่ได้รับการทดสอบมาเป็นอย่างดีและมีแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ หากนักพัฒนาไม่ระมัดระวัง แฮ็กเกอร์อาจจะเล่นแง่กับตรรกะโทเค็นที่สร้างขึ้นมาไม่ดีได้

ประโยชน์ใช้งานของโทเค็นคริปโต (Crypto Tokens)

กรอบการแยกประเภทโทเค็น
กรอบการแยกประเภทโทเค็น: Research Gate

ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ หลายคนพยายามที่จะสร้างมาตรฐานสำหรับการจำแนกโทเค็น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจาก “โทเค็น” นั้นมีประโยชน์ใช้งานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ใช้งานของโทเค็นที่นิยมที่สุดมีดังนี้:

  • การกำกับดูแล: ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ สำหรับโปรโตคอลหรือแอปพลิเคชั่น และให้สิทธิพิเศษบางอย่างแก่ผู้ถือ เช่น การใช้งานโปรโตคอลหรือแอปพลิเคชั่น
  • ประโยชน์ใช้งาน: โทเค็นสกุลเงินดิจิทัลช่วยให้ผู้ถือเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการพิเศษได้ ตัวอย่างเช่น โทเค็นที่สามารถใช้เป็นสกุลเงินในเกม และ ช่วยให้คุณเล่นเกมบนแอปพลิเคชั่นได้
  • สื่อกลางการแลกเปลี่ยน/หน่วยบัญชี: หน่วยที่วัดมูลค่าของสินค้าและบริการ และช่วยให้ฝ่ายต่างๆ สามารถซื้อขายสินค้าและบริการได้
  • การเก็งกำไร: สินทรัพย์ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทน, ดอกเบี้ย, ค่าเช่า, หรือ รายได้ ถูกสร้างขึ้นเป็นการลงทุนที่มีศักยภาพในการได้ผลตอบแทนสูง และจะถูกขายทันทีหลังจากนั้น

โทเค็นคริปโตยอดนิยม

1. Chainlink (LINK)Chainlink เป็นที่รู้จักมากที่สุดในด้านบริการ Oracle แบบไม่จำกัดเครือข่าย นอกจากนี้ทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง Chainlink ยังได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสื่อสารข้ามเครือข่าย, การเชื่อมต่อ, การสุ่มที่สามารถตรวจสอบได้ และอื่นๆ อีกมากมาย

2. The Graph (GRT): The Graph — ซึ่งมักจะถูกเรียกว่าเป็น Google ของ Web3 — เป็นโปรโตคอลสำหรับการจัดทำดัชนีข้อมูลที่จัดเก็บไว้บนบล็อกเชน ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหา, โพสต์ และใช้ข้อมูลสาธารณะเพื่อสร้างแอปพลิเคชั่นได้

3. Render (RNDR): Render เป็นโปรเจกต์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานทำธุรกรรมในตลาดซื้อขาย GPU ได้ ผู้ขายสามารถปล่อยเช่าพลัง GPU ของตนได้ ในขณะที่ผู้ซื้อสามารถใช้พลังดังกล่าวสำหรับงานเรนเดอร์กราฟิกของพวกเขาได้

4. Uniswap (UNI): Uniswap เป็นกระดานเทรดแบบกระจายอำนาจที่ได้รับความนิยมที่สุดของ Ethereum โทเค็น UNI จะให้สิทธิ์ในการกำกับดูแลโปรโตคอลแก่ผู้ถือ

5. Gala (GALA): Gala Games เป็นแพลตฟอร์มเกมบนบล็อกเชนที่ให้ผู้เล่นเป็นเจ้าของ, พัฒนา และซื้อขายทรัพย์สินในเกมด้วยสกุลเงินดิจิทัลได้

Coins vs Tokens

นี่คือตารางเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง Coins และ Tokens ตารางนี้จะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ สถานที่ที่มันใช้ดำเนินการ และลักษณะเฉพาะของมันในระบบนิเวศของสกุลเงินคริปโต

ฟีเจอร์CoinsTokens
คำจำกัดความสกุลเงินดิจิทัลหลักของบล็อกเชนสร้างขึ้นบนบล็อกเชนที่มีอยู่โดยใช้มาตรฐานเช่น ERC-20
บล็อกเชนมีบล็อกเชนเป็นของตัวเองไม่มีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง อาศัยอยู่บนบล็อกอื่นๆ เช่น Ethereum
วัตถุประสงค์ใช้เป็นสกุลเงินดิจิทัลเป็นหลักสามารถใช้เป็นตัวแทนของสินทรัพย์ ประโยชน์ใช้งาน หรือฟังก์ชันใน DApps
การสร้างสร้างขึ้นจากการขุดหรือการขุดล่วงหน้าสร้างขึ้นผ่าน Smart Contracts
ประโยชน์ใช้งานใช้สำหรับการชำระเงิน, กักเก็บมูลค่าใช้สำหรับการลงคะแนน, การเข้าถึงบริการ, เป็นตัวแทนทรัพย์สิน (ทางกายภาพหรือดิจิทัล)
ตัวอย่างBitcoin (BTC), Ethereum (ETH), Dogecoin (DOGE)USDC, Chainlink, Shiba Inu (NFT)
การกำกับดูแลอยู่ภายใต้กฎของโปรโตคอลควบคุมโดยกฎของบล็อกเชนที่โฮสต์อยู่และ Smart Contract ที่เฉพาะเจาะจง
ความสามารถในการใช้งานแทนกันได้ใช้แทนกันได้ (แต่ละยูนิตจะมีมูลค่าเทียบเท่ายูนิตอื่นๆ ทั้งหมด)ใช้ได้ทั้ง 2 รูปแบบ: ใช้แทนกันได้ (มูลค่า) หรือ ใช้แทนกันไม่ได้ (NFT)

Coins vs Tokens vs TradFi

คุณสามารถเปรียบเทียบ Coins และ Tokens กับ “สกุลเงิน” ในระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้หลายวิธี จากมุมมองทางบัญชี บัญชีแยกประเภทที่บันทึกและออกสกุลเงินนั้นจะเป็นแบบรวมศูนย์, กระจายอำนาจด้วยเหรียญ, และมีโทเค็นเป็นตัวแทน

ในระบบการเงินแบบดั้งเดิม มีรูปแบบของเงินที่แตกต่างกันเนื่องจากความซับซ้อนของระบบเอง ตัวอย่างเช่น USD อาจจะมาในรูปแบบของเงินฝากธนาคาร, สกุลเงินเฟียต (เช่น ธนบัตรและเหรียญ), คลัง (เช่น พันธบัตร ธนบัตร ฯลฯ) และ ธนบัตรกลาง

“เมื่อคนส่วนใหญ่นึกถึงเงิน พวกเขามักนึกถึงแผ่นกระดาษสี่เหลี่ยมที่รัฐบาลพิมพ์ออกมา ซึ่งเรียกว่าสกุลเงินเฟียต แม้ว่ามันจะเป็นรูปแบบของเงินที่รู้จักกันดีที่สุด แต่มันเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสิ่งที่เรียกว่าเงินในระบบการเงินสมัยใหม่”

Joseph Wang: Central Banking 101

ความซับซ้อนนี้ทำให้บัญชีแยกประเภทมีความซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ระบบส่วนใหญ่จะรวมศูนย์อยู่ภายใต้รัฐบาลสหรัฐฯ ในทางกลับกัน เหรียญที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชนเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีแยกประเภทแบบกระจายอำนาจที่ดูแลโดยชุมชนระดับโลก

ในกรณีของ USD รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถคว่ำบาตรประเทศใดๆ ก็ได้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้สกุลเงินดอลลาร์ แต่ด้วยบล็อกเชน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอัพเดตบัญชีแยกประเภท (สร้างเหรียญเพิ่ม) ได้ แต่ไม่สามารถกีดกันผู้อื่นจากการทำเช่นนั้นหรือทำธุรกรรมได้ อย่างไรก็ตาม โทเค็นไม่จำเป็นต้องมีความสามารถนี้ เนื่องจากทุกอย่างขึ้นอยู่กับ Smart Contract นั่นเอง

Stablecoins เป็น Token หรือ Coin กันแน่?

Stablecoins เป็น Token หรือ Coin

ถึงแม้จะมีชื่อว่า Stablecoin แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว มันจะถือว่าเป็น “โทเค็น” นักพัฒนาจะสร้าง Stablecoin บนบล็อกเชนที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการพิสูจน์แล้ว นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันเป็นโทเค็น เนื่องจากบล็อกเชนที่เก่าแก่จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ Stablecoin ได้อยู่แล้ว

หากผู้ให้บริการ Stablecoin ต้องสร้างบล็อกเชนของตนเองเพื่อออกเหรียญ พวกเขาก็จะต้องหาวิธีดึงดูดนักพัฒนามาสร้างแอปพลิเคชั่นบนบล็อกเชนของตนหรือสร้างแอปพลิเคชั่นเอง ซึ่งทั้ง 2 ตัวเลือกนี้มีต้นทุนที่สูงมาก นอกจากนี้ หากผู้ให้บริการเหล่านี้สร้างบล็อกเชนของตนเองและเชื่อมต่อ Stablecoin เข้ากับระบบนิเวศอื่นๆ มันก็อาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงได้

  • ผู้ใช้งานจะทำให้ Stablecoin ของตนเองตกอยู่ในความเสี่ยง ด้วยการส่งมอบให้ Custodian (ผู้ดูแลของระบบเชื่อมต่อ) ถือเหรียญของผู้ใช้งานและสร้างโทเค็นใหม่บนเครือข่ายปลายทาง
  • Custodian อาจจะ rug pull สภาพคล่องของ Bridges (สะพานที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย) ได้ ทำให้ Wrapped Tokens สูญเสียมูลค่าไป
  • Bridges จะต้องสร้างไคลเอนต์เพื่อแก้ไขบัญชีหรือสถานะของเครือข่ายต้นทางและปลายทาง
  • แฮกเกอร์สามารถแฮก Bridges หรือ Bridge Operators ได้

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของ Coins vs Tokens

การเปรียบเทียบระหว่าง “เหรียญ” และ “โทเค็น” แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างทรัพย์สินทั้ง 2 ประเภท คุณจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อที่จะสามารถทำการซื้อขายที่ปลอดภัยได้ การตรวจสอบข้อมูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณสามารถเดินทางในภาคส่วนสกุลเงินดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

คำถามที่พบบ่อย

อะไรคือความแตกต่างระหว่าง เหรียญ และ โทเค็น?

Ethereum เป็น โทเค็น หรือ เหรียญ?

ทำไมถึงมีการใช้ โทเค็น แทน เหรียญ?

โทเค็นคริปโต 5 ประเภทมีอะไรบ้าง?

ตัวอย่างของโทเค็นเป็นอย่างไร?

สกุลเงินดิจิทัลใดที่เป็น โทเค็น?

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤษภาคม 2024

Trusted

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน