Trusted

เทรด Forex ต้อง “เสียภาษี” หรือไม่?

9 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

หนึ่งในคำถามที่นักเทรดหลายๆ คนต่างสงสัยก็คือ เทรด Forex ต้อง “เสียภาษี” หรือไม่? แล้วถ้าต้องเสีย อัตราภาษีที่ต้องจ่ายคือเท่าใด? แล้วทำไม เราถึงต้องเสียภาษีด้วย? ในบทความนี้ เราจะมาหาคำตอบในเรื่องนี้กัน! แต่ก่อนที่เราจะอธิบายในเรื่องดังกล่าว เราอาจจะต้องอธิบายให้เพื่อนๆ ทุกคนเข้าใจก่อนว่า Forex คืออะไร? ดังนั้น ถ้าพร้อมแล้ว ไปกันเลย!

Forex คืออะไร?

Forex (ฟอเร็กซ์) หรือ Foreign Exchange Market

Forex (ฟอเร็กซ์) หรือ Foreign Exchange Market หมายถึง ตลาดซื้อขายตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหล่านักลงทุนไม่ว่ารายใหญ่หรือรายย่อย เข้ามาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินของประเทศต่างๆ กัน เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินนั้นๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจภายในประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ดังนั้น ผลกำไรที่ได้จากการเทรดฟอเร็กซ์ ก็เปรียบเสมือน รายได้ที่ได้รับมาจากการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเข้าข่ายเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย, เงินปันผล, เงินส่วนแบ่งกำไร, เงินลดทุน, เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ นั่นหมายความว่า เราจะต้องเสียภาษีนั่นเอง

ทำไมถึงต้อง “เสียภาษี”

การเสียภาษี ถือเป็นหน้าที่ของทั้ง “บุคคลธรรมดา” และ ”นิติบุคคล” ที่มีเงินได้ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อส่งมอบให้รัฐ เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณูปโภค สาธารณสุข การคมนาคม สวัสดิการรัฐ ฯลฯ นอกจากนี้ มันยังเป็นการช่วยปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ ด้วยการเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้ และกระจายรายได้ดังกล่าวออกไปในรูปแบบของ สวัสดิการรัฐ หรือ บริการสาธารณะต่างๆ เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในรูปแบบหนึ่ง

หลักเกณฑ์ในการเสียภาษี

หลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้จะมีเกณฑ์หลักๆ อยู่ 2 ประการ (ข้อมูลอ้างอิงจากกรมสรรพากร) ได้แก่

1. หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule)

เงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากหน้าที่การงาน หรือ กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

หรือก็คือ บุคคลที่มีรายได้จากการทำงาน หรือ ผลกำไรจากกิจการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย

2. หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule)

ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยรวมกันถึง 180 วัน ในรอบปีภาษี และมีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ เนื่องจากหน้าที่การงาน หรือ กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ เนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และผู้มีเงินได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยภายในปีภาษีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้นั้น

หรือก็คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน และมีรายได้จากต่างประเทศ และได้นำเงินเข้ามาในประเทศ (ด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม) ภายในรอบปีภาษี

จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ผลกำไรที่ได้มาจากการเทรด Forex จะเข้าข่ายหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีในหลักเกณฑ์ที่ 2 โดยจะเข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ซึ่งก็คือ ดอกเบี้ย, เงินปันผล, เงินส่วนแบ่งกำไร, เงินลดทุน, เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ฯลฯ

ดังนั้น ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีสถาบันทางการเงินใดๆ ในประเทศไทยให้การรับรองในการลงทุนในตลาด Forex แต่เงินรายได้ที่ได้มาจากการเทรด Forex ก็ยังคงเข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี

อัตราการจัดเก็บภาษีสำหรับ Forex

กำไรที่เกิดขึ้นจากการเทรด Forex นั้น จะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ที่จะต้องนำไปคำนวนรวมกับเงินได้อื่นๆ ของเราในรอบปีภาษีนั้นๆ โดยมี “อัตราภาษีแบบก้าวหน้า” ดังต่อไปนี้

อัตราการจัดเก็บภาษี

ตัวอย่างการเสียภาษี

ตัวอย่างที่ 1

  • ในปี 2565 นาย A มีกำไรจากการเทรด Forex เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท
  • ในปี 2565 นาย A มีรายได้จากช่องทางอื่นๆ รวมกัน เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท
  • นาย A อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน และ ได้โอนกำไรจากการเทรดทั้งหมดมาไว้ที่บัญชีธนาคารในไทย

ในกรณีนี้ นาย A จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี เนื่องจากเข้าเกณฑ์ในการ “ได้รับการยกเว้นภาษี” เนื่องจากรายได้รวมไม่เกิน 150,000 บาท

ตัวอย่างที่ 2

  • ในปี 2565 นาย A มีกำไรจากการเทรด Forex เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท
  • ในปี 2565 นาย A มีรายได้จากช่องทางอื่นๆ รวมกัน เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท
  • นาย A อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน และ ได้โอนกำไรจากการเทรดทั้งหมดมาไว้ที่บัญชีธนาคารในไทย

ในกรณีนี้ นาย A จะมีรายได้รวมทั้งหมด 300,000 บาท หมายความว่า นาย A จะต้องเสียภาษี 7,500 บาท โดยคำนวนจาก
[(เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี] + (ภาษีสะสมสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) = (ภาษีที่ต้องเสีย)

  • [(300,000 – 150,000) x 5%] + = 7,500 บาท

วิธีการลดหย่อนภาษี Forex

ผู้มีเงินได้จะมีสิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่างๆ (รวมถึง รายได้ที่มาจากการเทรด Forex) โดยมีหลักเกณฑ์ในการลดหย่อนดังต่อไปนี้ (ข้อมูลอ้างอิงจากกรมสรรพากร)

1. ผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท

2. คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท

3. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท

4. บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท

  • บุตรชอบด้วยกฏหมาย หักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวน
  • บุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
  • หักรวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
  • บุตรต้องเป็นผู้เยาว์ อายุไม่เกิน 25 ปี และต้องไม่มีเงินได้ในรอบภาษีที่หักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท)

5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท (บิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท / สามารถหักลดหย่อนสำหรับบิดามารดาของคู่สมรสได้อีกคนละ 30,000 บาท)

6. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักลดหย่อนได้ คนละ 60,000 บาท

7. ค่าเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ (กรมธรรม์จะต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (หากคู่สมรสไม่มีเงินได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท)

8. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสจะต้องไม่มีเงินได้ในรอบภาษีที่หักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท)

9. เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท (ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับสิทธิ์ยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่เสียภาษี)

10. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หักลดหย่อนได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ และเมื่อรวมกับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

11. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (กรมธรรม์จะต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) หักลดหย่อนได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

12. เงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

13. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

14. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

15. เงินสมทบประกันสังคม หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

16. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องไม่เกิน 100,000 บาท (สำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป)

17. เงินบริจาค

  • สนับสนุนการศึกษา/กีฬา/พัฒนาสังคม หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคทั่วไป หักลดหย่อนได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
  • เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

18. ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ครั้งละไม่เกิน 60,000 บาท

19. เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการจดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

20.ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในรายการ “ช้อปดีมีคืน” หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

บทส่งท้าย

สุดท้ายแล้ว การเสียภาษีคือหน้าที่อันพึงกระทำของประชาชนคนไทยสำหรับผู้ที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ที่จะต้อง “เสียภาษี” ไม่ว่ารายได้จะมาจาก “การเทรด Forex” หรือไม่ก็ตาม เนื่องจากเงินภาษีเหล่านั้นจะถูกนำกลับมาใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ การหลีกเลี่ยงในการเสียภาษีจะก่อให้เกิดบทลงโทษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบี้ยปรับต่างๆ ที่อาจจะต้องจ่ายเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังอาจจะมีโทษทางอาญาอีกด้วย ดังนั้น การจ่ายภาษีให้ถูกต้องตามกฏหมายคือทางเลือกที่ดีที่สุดอย่างแน่นอน!

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน