ตลาดกระทิง (Bull Market) คือ สภาวะที่ตลาดการเงินอยู่ในช่วงแนวโน้มขาขึ้น
ตลาดหมี (Bear Market) คือ สภาวะที่ตลาดการเงินอยู่ในช่วงแนวโน้มขาลง
ในโลกแห่งการลงทุน คำว่า “กระทิง” และ “หมี” อาจจะเป็นคำที่คุณเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ โดยทั่วไปแล้ว มันมักจะถูกใช้ในการอธิบายถึงสภาวะของตลาดอย่างคร่าวๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น, คริปโต, หรือสินทรัพย์ใดๆ ก็ตาม ทั้ง “ตลาดกระทิง” (Bull Market) และ “ตลาดหมี” (Bear Market) เป็นวัฏจักรของตลาดการเงินซึ่งจะบ่งบอกถึงภาพรวมของตลาดในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร และแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในทิศทางใด ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า ตลาดกระทิง-ตลาดหมี คืออะไร? ลักษณะของมันเป็นอย่างไร? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราอยู่ในสภาวะตลาดแบบใด? และเราจะลงทุนอย่างไรในสภาวะตลาดเหล่านี้? ถ้าพร้อมแล้ว ไปกันเลย!
เข้าร่วม BeInCrypto Trading Community บน Telegram: พูดคุยกันเกี่ยวกับเทรนด์ของตลาดซื้อขาย รับชมคอร์สพื้นฐานการซื้อขายฟรี และสอบถามข้อมูลต่างๆ ที่คุณต้องการจากทีมงานนักเทรดมืออาชีพของเรา! มาเข้าร่วมกันเลย!
ตลาดกระทิง (Bull Market) คืออะไร?
ตลาดกระทิง (Bull Market) คือ สภาวะที่ตลาดการเงินอยู่ในช่วงแนวโน้มขาขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ตลาดกระทิงมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในสภาวะที่ดี ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ลักษณะบางส่วนของตลาดกระทิง:
- นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเชิงบวกต่อราคาสินทรัพย์ ทำให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้น
- ราคาสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีข่าวในเชิงลบของเศรษฐกิจโดยรวมหรือสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งก็ตาม
- ตลาดเป็นขาขึ้นในภาพรวม สินทรัพย์ส่วนใหญ่จะมีราคาที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าบริษัทหรือโปรเจกต์นั้นๆ จะทำผลงานได้ไม่ดี
- เศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในสภาวะที่ดี GDP เติบโตสูงขึ้น รวมถึง มีอัตราการว่างงานที่ลดลง
- การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ ไม่ได้อยู่ในระดับที่เป็นภัยคุกคามต่อภาพรวมของตลาด
ตลาดหมี (Bear Market) คืออะไร?
ตลาดหมี (Bear Market) คือ สภาวะที่ตลาดการเงินอยู่ในช่วงแนวโน้มขาลง มักจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นในแนวโน้มของตลาดการเงิน ทำให้เกิดการเทขายหุ้นหรือตราสารเงินต่าง ๆ เพื่อเก็บเป็นเงินสด หรือซื้อสินทรัพย์อื่นเพื่อปกป้องเงินลงทุนของตัวเอง ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ
ลักษณะบางส่วนของตลาดหมี:
- นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อราคาสินทรัพย์ ส่งผลให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ในวงกว้าง
- ราคาสินทรัพย์จะลดลง ถึงแม้ว่าจะมีข่าวในเชิงบวกของเศรษฐกิจโดยรวมหรือสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งก็ตาม
- อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้ออาจจะพุ่งสูงขึ้น
- ผลประกอบการของบริษัทหดตัว
- เศรษฐกิจในวงกว้างมีความอ่อนแอ
ที่มาของคำว่า “กระทิง” และ “หมี”
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ต้นกำเนิดของคำศัพท์เหล่านี้มาจากไหน? ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่มันก็มีคำอธิบายอยู่ 2 แบบที่พบได้บ่อยที่สุด ดังนี้:
- ลักษณะการโจมตีของสัตว์สองชนิดนี้ — บางทฤษฏีกล่าวว่า คำว่า “กระทิง” และ “หมี” นั้นมาจากลักษณะที่ใช้ในการโจมตีศัตรู เช่น กระทิงจะใช้เขาแทงเสยขึ้นไปทางด้านบน เปรียบเสมือนการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ที่วิ่งจากด้านสู่ด้านบน หรือ การที่หมีใช้อุ้งมือตะปบลงมาที่ศัตรูที่อยู่ด้านล่าง ก็เปรียบเสมือน ราคาสินทรัพย์หรือตลาดการเงินที่เข้าสู่สภาวะขาลงนั่นเอง
- มีที่มาจากคำศัพท์ในอดีต — ข้อมูลจาก Merriam Webster ระบุว่า ในศตวรรษที่ 18 นักนิรุกติศาสตร์ กล่าวถึงสุภาษิต “It is not wise to sell the bear’s skin before one has caught the bear” (ไม่ควรที่จะขายหนังหมีก่อนที่จะจับหมีมาได้) ว่าเป็นต้นกำเนิดของการใช้คำว่า “Bearskin” สื่อถึงในการ “ขาย” เมื่อเวลาผ่านไป คำศัพท์คำนี้ก็ถูกย่อให้สั้นลง จนเหลือแค่เพียง “Bear” หลังจากนั้นก็ถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในตลาดการเงิน ในขณะเดียวกัน มันก็ได้ถือกำเนิดคำศัพท์อีกหนึ่งคำที่ถูกเลือกให้เป็น Alter Ego ของหมี ซึ่งก็คือ กระทิง ที่ถูกนำไปใช้ในเชิงการซื้อเก็งกำไรโดยหวังว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้นนั่นเอง
สัญญาณของ “ตลาดกระทิง”
SEC หรือ U.S. Securities and Exchange Commision (สำนักงาน ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ) ให้คำนิยามของตลาดกระทิงว่าเป็น “ช่วงเวลาที่ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นและความเชื่อมั่นของตลาดเป็นไปในเชิงบวก โดยทั่วไปแล้ว ตลาดกระทิงจะเกิดขึ้นเมื่อดัชนีตลาดในวงกว้างมีการเพิ่มขึ้น 20% หรือมากกว่าเป็นช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน”
สัญญาณของ “ตลาดหมี”
เช่นเดียวกันกับหัวข้อที่ผ่านมา SEC ได้ให้คำนิยามของตลาดหมีว่าเป็น “ช่วงเวลาที่ราคาหุ้นกำลังลดลงและความเชื่อมั่นของตลาดเป็นไปในเชิงลบ โดยทั่วไปแล้ว ตลาดกระทิงจะเกิดขึ้นเมื่อดัชนีตลาดในวงกว้างมีการลดลง 20% หรือมากกว่าเป็นช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน”
ความแตกต่างระหว่าง “ตลาดกระทิง” และ “ตลาดหมี”
ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างตลาดกระทิงและตลาดหมี สามารถสรุปได้ว่า เป็นความแตกต่างเรื่องความเคลื่อนไหวในทิศทางของตลาดการเงิน/ราคาสินทรัพย์ ซึ่งตลาดกระทิงก็คือการที่สินทรัพย์มีราคาเพิ่มสูงขึ้น และในทางกลับกัน ตลาดหมีก็คือการที่สินทรัพย์มีราคาลดลง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสภาวะตลาดกระทิงหรือตลาดหมี จะถูกกำหนดโดยทิศทางของตลาดหรือราคาสินทรัพย์ แต่มันก็มีลักษณะบางอย่างที่นักลงทุนควรจะทราบไว้:
อุปสงค์และอุปทาน
ในช่วงตลาดกระทิง ความต้องการในการซื้อสินทรัพย์ (อุปสงค์) จะเป็นไปในเชิงบวก ในขณะที่ความต้องการในการขายสินทรัพย์ (อุปทาน) จะเป็นไปในเชิงลบ หรือก็คือ เหล่านักลงทุนต่างก็ต้องการที่จะซื้อหุ้น/สินทรัพย์ แต่ไม่ค่อยมีใครต้องการจะขาย ผลที่ตามมาก็คือราคาหุ้น/สินทรัพย์จะพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างแข่งขันกันเพื่อทำการซื้อสินทรัพย์ที่มีอยู่ในตลาด
ในทางกลับกัน ในช่วงตลาดหมี อุปทานจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อุปสงค์เริ่มลดลง ส่งผลให้ราคาหุ้น/สินทรัพย์ลดลงนั่นเอง
สถานการณ์ของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
GDP ที่พุ่งสูงขึ้นจะนำไปสู่การเกิดตลาดกระทิง ในขณะที่ GDP ที่ลดลงก็จะนำไปสู่การเกิดของตลาดหมีเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจาก โดยทั่วไปแล้ว GDP จะเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับผลประกอบการที่ดียิ่งขึ้นของบริษัท ส่งผลให้พนักงานได้รับการขึ้นเงินเดือน ช่วยให้พวกเขาจับจ่ายใช้สอยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้เศรษกิจโดยรวมเติบโตมากยิ่งขึ้น
ในทางกลับกัน GDP จะลดลงเมื่อรายได้ของบริษัทลดลง เกิดการจ้างงานลดลง และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมถดถอย ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะตลาดหมีตามมา
พฤติกรรมและความเชื่อมั่นของนักลงทุน
จิตวิทยาของนักลงทุนและประสิทธิภาพของตลาดการเงินนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด ในช่วงตลาดกระทิง ราคาสินทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้เหล่านักลงทุนเกิดความมั่นใจ ทำให้นักลงทุนต่างหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดการเงิน ด้วยความหวังที่ว่าจะได้รับผลกำไรเป็นอย่างดี
ในช่วงตลาดหมี ความเชื่อมั่นของเหล่านักลงทุนมักจะเป็นไปในเชิงลบ ส่งผลให้พวกเขาเริ่มเทขายสินทรัพย์ที่พวกเขาถือครองไว้ ทำให้ราคาของสินทรัพย์ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่อง
ตลาดกระทิงจะมีสภาพคล่องที่สูงกว่าตลาดหมี เกิดจากการที่นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินมากขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นที่มีต่อราคาสินทรัพย์นั้นเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันสำหรับช่วงตลาดหมี ความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุน จะส่งผลให้ตลาดการเงินมีสภาพคล่องที่ต่ำกว่าและมีความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่สูงกว่า
สิ่งที่คุณควรทำหากต้องการลงทุนในคริปโตในช่วงตลาดหมี
การลงทุนในคริปโตในช่วงตลาดหมีนั้นมักจะมาพร้อมความเสี่ยงที่สูงกว่า เนื่องจากเป็นช่วยที่ราคาสินทรัพย์คริปโตลดต่ำลง, นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในสินทรัพย์คริปโต และตลาดมีความผันผวนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงก็มักจะมาพร้อมกับโอกาสทำกำไรที่มากยิ่งขึ้นในอนาคต เนื่องจากคุณสามารถซื้อมันในราคาที่ต่ำกว่า แล้วเก็บไว้ขายในช่วงที่ราคามันสูงขึ้นในตลาดกระทิงรอบหน้าได้
การซื้อคริปโตแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) ก็เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่ยอดเยี่ยมสำหรับช่วง “ตลาดหมี” หากคุณทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ ของสินทรัพย์ที่คุณต้องการจะซื้อมาเป็นอย่างดีแล้วว่ามันมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีอนาคตที่สดใส ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงตลาดหมี การลงทุนแบบ DCA ก็จะช่วยให้คุณสามารถทำการลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ และลดความเสี่ยงในการขาดทุนของคุณลงได้
อีกหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับนักเทรดที่เป็นสายรุกก็คือ การขายสินทรัพย์ที่ถือครองไว้ทันทีที่ยืนยันได้ถึงแนวโน้มขาลง จากนั้นก็ค่อยกลับไปซื้อคืนในภายหลัง ตอนที่ราคาของสินทรัพย์ลดต่ำลงอันเนื่องมาจากสภาวะตลาดหมีที่เกิดขึ้นนั่นเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนในตลาดหมีเท่านั้น แต่เป็นกลยุทธ์การลงทุนโดยรวม คือการวางแผนการลงทุน, ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยอิงจากกลยุทธ์ของคุณ, กำหนดจุด Stop loss อยู่เสมอ และทำตามแผนการของคุณอย่างเคร่งครัด คือสิ่งที่จะช่วยให้คุณจัดการความเสี่ยง และปกป้องเงินลงทุนของคุณได้อยู่เสมอ
สรุปส่งท้าย
หนึ่งในเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์คือ การเฝ้าสังเกตรูปแบบของตลาดการเงินที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตลาดกระทิงหรือตลาดหมีก็ตาม มันจะช่วยให้คุณสามารถคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ หรือไม่ อย่างน้อย ๆ มันก็จะทำให้คุณมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น จากการเรียนรู้ข้อมูลจากข้อมูลในอดีตและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้พลิกแพลงไปตามสภาวะตลาดได้ อีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำก็คือหมั่นอัพเดตข่าวสารใหม่ ๆ เช่นการอ่านข่าวจากเว็บไซต์ของเรา BeInCrypto Thailand ที่พร้อมเสิร์ฟข่าวคริปโต และข่าวการลงทุนล่าสุดในวงการให้กับคุณ เช่นเดียวกับการเรียนรู้จากนักเทรดผู้เชี่ยวชาญของเราในกลุ่ม BeInCrypto Trading Community บน Telegram
ไม่ว่าคุณจะลงทุนในช่วง “ตลาดกระทิง” หรือ ”ตลาดหมี” สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องจำไว้ว่ากลยุทธ์การเทรดแต่ละกลยุทธ์ มีความเสี่ยงแอบแฝงอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอแนะนำให้คุณทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจในการลงทุนของคุณนั้น จะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป
ข้อจำกัดความรับผิด
ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์