ดูเพิ่มเติม

Ethereum คืออะไร?

9 mins
อัพเดทโดย Tanutcha Roongroj

หากจะให้พูดถึงคู่แข่งคนสำคัญของ Bitcoin แล้ว เราเชื่อว่าทุกคนก็คงจะนึกถึง Ethereum (ETH) ซึ่งเป็นสกุลเงินคริปโตที่มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับที่ 2 อย่างแน่นอน แต่นอกเหนือจากการเป็นสกุลเงินคริปโตแล้ว Ethereum ยังเป็นเครือข่าย Blockchain ยอดนิยมที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “The World Computer” อีกด้วย ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้ไปด้วยกันว่า Ethereum คืออะไร? มีความเป็นมาอย่างไร? และเพราะอะไร ถึงได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆของโลก

Ethereum คืออะไร?

Ethereum คือ

Ethereum (อีเธอเรียม) คือ แพลตฟอร์มบนเครือข่ายบล็อกเชนแบบกระจายศูนย์ที่มี Smart Contract เป็นโปรโตคอลที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เหล่านักพัฒนา สามารถสร้างและใช้งานแอปพลิเคชั่นแบบกระจายศูนย์ (DApps) บนเครือข่ายได้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เครือข่าย Ethereum ได้รับความนิยม ทำให้แอปหรือเหรียญคริปโตชั้นนำมากมาย เช่น USDT, USDC หรือแม้แต่เหรียญมีมสุดฮิตอย่าง SHIB ก็ยังสร้างและทำงานอยู่บนเครือข่ายนี้

เหรียญ ETH ซึ่งเป็น “สกุลเงินคริปโต” ของเครือข่าย Etheruem ก็เป็นหนึ่งในเหรียญที่ได้คนถือเยอะเช่นกัน โดยในปัจจุบัน Ethereum (ETH) ยังคงเป็นเหรียญคริปโตที่มี Market Cap เป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่ากว่า 221,033 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นรองแค่เพียง Bitcoin (BTC เท่านั้น)

เหรียญ ETH คืออะไร?

Ether หรือ ETH คือ “สกุลเงินคริปโต” ที่เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่ใช้ขับเคลื่อนการทำงานในเครือข่าย Ethereum เหรียญ ETH จะถูกใช้เป็น “ค่าแก๊ส” เพื่อชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการทำธุรกรรมบนเครือข่าย เช่น การใช้งาน Smart Contract, การซื้อ NFT, หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่จะต้องใช้พลังในการประมวลผลและดำเนินการให้แล้วเสร็จบนบล็อกเชนนั่นเอง

อธิบายง่าย ๆ คือ เหมือนเวลาเราโอนเงินไปต่างประเทศ เราจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการโอน เป็นค่าบริการที่ธนาคารต้องตรวจสอบและทำเรื่องให้เรา แบบนั้นแหละครับ

และจากความนิยมของเครือข่าย Ethereum ซึ่งเป็นบ้านของ Dapps ชื่อดังต่างๆ นับพัน ประโยชน์ในการใช้งานของเหรียญ ETH จึงยังมีอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ใช้เพื่อเป็นการค้ำประกันเพื่อกู้ยืมสินทรัพย์ในระบบ DeFi (เช่น AAVE), สร้าง NFT เพื่อขายบน Rarible, หรือ Stake เพื่อสร้างรายได้บน Rocket Pool เป็นต้น

Ethereum Layer-2 Ecosystem
ตัวอย่างของ DApp มากมายในระบบนิเวศของ Ethereum: Coin98 Analytics

นอกจากนี้แล้ว นักลงทุนบางส่วนยังชอบที่จะใช้ ETH เป็น Store of Value (สินทรัพย์ที่ใช้ซื้อเก็บไว้เพื่อรักษามูลค่าของสินทรัพย์อื่นๆ) เนื่องจากเหรียญ ETH เป็นเหรียญคริปโตที่มีความเสถียรสูง, มีประโยชน์ใช้สอยมากมาย, และมีความน่าเชื่อถือในตลาดคริปโตเป็นอย่างมาก

ประวัติความเป็นมาของ Ethereum Blockchain

Ethereum สร้างขึ้นโดย Vitalik Buterin โปรแกรมเมอร์ชาวรัสเซีย – แคนาดา หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Bitcoin Magazine ซึ่งเป็นสื่อชื่อดังที่นำเสนอเรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับ Bitcoin และ Cryptocurrency และยังเป็นอดีตนักพัฒนา Bitcoin อีกด้วย

หลังจากที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา Bitcoin ไปได้ช่วงระยะหนึ่ง Vitalik พบว่าตัวเหรียญ Bitcoin และระบบบล็อกเชนนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่อีกหลายอย่าง เขาจึงเริ่มคิดที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ของเขาขึ้นมาเอง ในปี 2013 Vitalik ได้จัดทำเอกสารไวท์เปเปอร์เพื่ออธิบายถึงคอนเซปต์ของ Ethereum ว่าเป็น “โปรโตคอลทางเลือกสำหรับการสร้างแอปพลิเคชั่นแบบกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่ใช้ภาษาโปรแกรมแบบ Turing-Complete ที่จะอนุญาตให้ทุกคนสามารถเขียน Smart Contract และ Decentralized Application ซึ่งสามารถตั้งกฏเกณฑ์, รูปแบบการทำธุรกรรม, และฟังก์ชั่นการเปลี่ยนสถานะได้ตามที่พวกเขาต้องการ”

Ethereum ได้เปิดตัวสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกที่งาน North American Bitcoin Conference ที่จัดขึ้นในเมืองไมอามี่ ในเดือนมกราคม ปี 2014 และได้เปิดขายเหรียญเพื่อระดมทุน (ICO) ในเดือนกรกฏาคม ปีเดียวกัน โดยขาย Ether ให้กับผู้ที่สนใจเพื่อแลกกับ Bitcoin ได้เป็นมูลค่ามากถึงราวๆ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

สร้างความแตกต่างด้วย Smart Contract

เมื่อพูดถึงเหตุผลที่ทำให้ Ethereum ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Smart Contract คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ Ethereum ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่เปิดตัว โดย “Smart Contract” คือ สัญญาที่ถูกโปรแกรมให้ดำเนินการตามชุดคำสั่งอย่างอัตโนมัติ โดยมีลักษณะเป็นชุดโค้ดที่บันทึกอยู่ในบล็อกเชน

ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ มันก็เป็นเหมือน “เอกสารสัญญา” ที่ระบุ “เงื่อนไข” ต่างๆ เอาไว้ แล้วยัดเอาไว้ในกล่องที่ทุกคนสามารถเข้ามาดูหรือใช้งานได้ เมื่อกระทำสิ่งต่างๆ ที่ตรงกับ “เงื่อนไข” ที่วางเอาไว้อย่างสมบูรณ์ “เอกสารสัญญา” ก็จะส่งผลต่อผู้ใช้งานคนดังกล่าวนั่นเอง

ETH คือ
รูปแบบการทำสัญญาทั่วไป vs. รูปแบบการทำสัญญาอัจฉริยะ: OriginStamp

ประโยชน์หลักของ Smart Contract ก็คือ ความสามารถในการดำเนินการธุรกรรมต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางใดๆ ทำให้มันถูกนำไปใช้งานใน DApps รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น:

  • MakerDAO: แพลตฟอร์มสำหรับการกู้ยืมเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถกู้ยืมหรือให้กู้ยืมคริปโตได้
  • Cryptokitties: เกมแนว Play-to-Earn ชื่อดัง ผู้เล่นสามารถสะสม, ผสมพันธุ์, หรือเล่นกับ Cryptokitty ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงในรูปแบบ NFT ได้
  • MetaMask: กระเป๋าเงินคริปโตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินที่ใช้งานในบล็อกเชน Ethereum เป็นหลัก
  • Uniswap: แพลตฟอร์มกระดานเทรดแบบกระจายศูนย์ (DEX) ที่ผู้ใช้งานสามารถซื้อ, ขาย, แลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ

รายชื่อเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของ DApps ชั้นนำที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชน Ethereum เท่านั้น จะเห็นได้ว่า Smart Contract สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย และช่วยให้การทำธุรกรรมต่างๆ มีความสะดวกมากยิ่งขึ้นเป็นอย่างมาก และลดการพึ่งพาตัวกลาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ Cryptocurrency ที่เป็นระบบการเงินแบบกระจายศูนย์อีกด้วย

Ethereum 2.0: การมาถึงของยุคสมัยใหม่

Ethereum 2.0 (หรือที่เรียกกันในอีกชื่อว่า ETH 2.0 หรือ Serenity) เป็นการอัพเกรดครั้งใหญ่ของเครือข่าย Ethereum ที่เกิดขึ้นในปี 2022 โดยมีเป้าหมายหลักๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพ, ความเร็ว, และความสามารถในการจัดการธุรกรรมให้มากยิ่งขึ้น รวมถึง การเปลี่ยนผ่านจากบล็อกเชนแบบ Proof-of-Work ไปเป็น Proof-of-Stake ที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากร (ไฟฟ้า) และค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่สูง — ซึ่งเป็นปัญหาดั้งเดิมของ Ethereum 1.0 — ได้อีกด้วย

แผนการอัพเกรดครั้งใหญ่ของ Ethereum 2.0 เดิมได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังต่อไปนี้

1. Phase 0 The Beacon Chain

เป็นการวางรากฐานเพื่อเปลี่ยน Ethereum ให้กลายเป็นบล็อกเชนแบบ PoS ด้วยการสร้าง Beacon Chain บล็อกเชนคู่ขนานที่มีไว้เพื่อทำการทดสอบการทำงานของฉันทามติ Proof-of-Stake ว่าทำงานได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ก่อนที่จะเปิดใช้งานจริงบน Ethereum Mainnet โดยได้ทำการเปิดใช้งานจริงไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2020

2. Phase 1 The Merge

เป็นการอัพเกรดเพื่อผสานรวม Beacon Chain และเครือข่าย Ethereum Mainnet เข้าด้วยกัน และจะเป็นการเปลี่ยนจากฉันทามติ PoW ไปเป็น PoS อย่างเต็มรูปแบบ The Merge ได้เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2022

3. Phase 2 Shard Chains

เดิมที่ Shard Chains จะเป็นการอัพเกรดตามโมเดล “Sharding” แบบดั้งเดิม เพื่อแยกบล็อกเชนออกเป็นหลายส่วน เพื่อช่วยกระจายภาระงานของเครือข่าย แต่เนื่องด้วยการมาถึงของ Danksharding — เป็นการอัพเกรดจาก EIP-4844 (Proto-Danksharding) — ที่ช่วยให้การปรับขนาดข้อมูลธุรกรรมที่มาจาก Layer-2 สามารถบันทึกใน Layer-1 ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้ทำธุรกรรมได้เร็วยิ่งขึ้น และมีค่าใช้จ่ายถูกลง นั่นจึงทำให้การอัพเกรด Shard Chains ไม่อยู่ในแผนงานอีกต่อไป

มือใหม่อยากลงทุนใน Ethereum ต้องทำอย่างไรบ้าง?

ซื้อเหรียญ Ethereum

ปัจจุบัน หลังจากที่ Ethereum ได้เปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายแบบ Proof-of-Stake เรียบร้อยแล้ว เราจะไม่สามารถทำการขุดเพื่อรับ ETH ได้อีกต่อไป ดังนั้น หากคุณสนใจที่จะลงทุนใน ETH คุณจะสามารถซื้อมันได้จากกระดานเทรดต่างๆ (ทั้งแบบ CEX และ DEX) หรือกระเป๋าเงินคริปโตที่มีบริการซื้อขายคริปโตภายในตัว

เกร็ดน่ารู้: Ethereum ยังคงมีบล็อกเชนในรูปแบบของ Proof-of-Work อยู่ โดยมีชื่อว่า Ethereum Classic ซึ่งเป็น Hard Fork ที่เกิดขึ้นมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ “DAO Attack” ในช่วงปี 2016

เมื่อคุณได้รับ ETH เหรียญแรกของคุณมาแล้ว คุณสามารถใช้เหรียญ ETH ของคุณเพื่อเข้าร่วม Staking Pool ต่างๆ เช่น Rocket Pool (ได้รับเป็น rETH), LIDO (ได้รับเป็น stETH) หรือ Binance (ได้รับเป็น BETH) ฯลฯ เพื่อรับผลตอบแทนเป็นเหรียญจากผู้ให้บริการนั้นๆ ซึ่งสามารถแลกกลับเป็น ETH ได้ในอัตราส่วน 1:1 หรือหากคุณมีทุนทรัพย์มากพอ คุณยังสามารถทำการ Staking เหรียญ ETH จำนวน 32 ETH บน Ethereum เพื่อรับเป็นเหรียญ ETH โดยตรงได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เรายังคงย้ำเสมอว่าก่อนที่จะทำการลงทุนใดๆ โปรดศึกษาข้อมูลดีๆ ไม่ว่าจะเป็น ตัวเลือกระยะเวลาในการ Staking, ผลตอบแทนที่ได้รับ, ความคุ้มค่าในการลงทุน ฯลฯ ให้เรียบร้อย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณจะไม่สูญเสียเงินก้อนใหญ่ไปแบบฟรีๆ ทางที่ดีให้เอาเงินเย็นลงทุนนะครับ

Ethereum vs. Bitcoin: เหรียญใดน่าลงทุนมากกว่ากันในระยะยาว?

ในแง่ของการลงทุน Bitcoin มีข้อได้เปรียบที่เหนือ Ethereum เป็นอย่างมาก ซึ่งก็คือ “ความเรียบง่าย” ของมัน คุณค่าของ Bitcoin นั้นชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายมากว่า เป็นสกุลเงินคริปโตที่มีไว้เพื่อเก็บรักษามูลค่า ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด, มีความปลอดภัยมากที่สุด, และมีมูลค่าสูงที่สุด

ในทางกลับกัน Ethereum นั้นเป็นมากกว่าสกุลเงินคริปโตที่ใช้เก็บรักษามูลค่า มันมีคุณค่าที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อนำไปใช้งานกับ Smart Contract และ Decentralized Application แต่นักลงทุนบางส่วนอาจจะมองว่า Ethereum นั้นยากที่จะทำความเข้าใจและประเมินมูลค่าที่แท้จริง

ถ้าคุณกำลังมองหาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่สามารถเป็นได้มากกว่าการเป็นแค่สกุลเงินแล้วล่ะก็ Ethereum อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าครับ

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤษภาคม 2024

Trusted

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน