Trusted

NAV (Net Asset Value) คืออะไร?

7 mins
อัพเดทโดย Tanutcha Roongroj

หากคุณเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ และกำลังสนใจที่จะซื้อกองทุนรวม สิ่งหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องทำความเข้าใจก็คือ NAV (Net Asset Value) ในบทความนี้ เราจะพาเพื่อนๆ ทุกคนไปดูกันว่า NAV คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? และทำไมเราจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับมัน? ถ้าพร้อมแล้ว ไปกันเลย!

NAV (Net Asset Value) คืออะไร?

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ให้นิยามของคำว่า “NAV” (Net Asset Value) หรือ “มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ” ไว้ว่า คือ มูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งหมดของกองทุน ตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน ณ เวลาขณะใดขณะหนึ่ง หักออกด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวมนั้น ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำการคำนวนมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาด (Mark to Market) ในแต่ละวัน เพื่อให้สะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ NAV ก็คือ มูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดที่กองทุนรวมมี นำไปหักลบกับหนี้สินและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนนั้นนั่นเอง โดยจะมีสูตรคำนวนดังนี้:

  • Net Asset Value = Fund Assets – Fund Liabilities

หรือ

  • มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ = (มูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด+ผลตอบแทนสะสม+เงินสด) – (ค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวม)

“กองทุนรวม” เกี่ยวข้องกับ NAV อย่างไร?

กองทุนรวม (Mutual Funds) คือ การรวบรวมเงินจากนักลงทุนจำนวนมาก นำไปลงทุนตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้นๆ ได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งจะมี “ผู้จัดการกองทุน” เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเงินของกองทุน โดยส่วนใหญ่แล้ว กองทุนรวมจะมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ รวมไปถึง สินทรัพย์อื่นๆ อีกมากมาย ผู้ลงทุนแต่ละรายจะได้รับส่วนแบ่งของการลงทุนเป็น “หน่วยลงทุน” ตามจำนวนสัดส่วนของจำนวนเงินที่ลงทุนไป และมูลค่าของหน่วยลงทุนแต่ละหน่วยจะขึ้นอยู่กับ NAV นั่นเอง

แล้ว NAV ต่อหน่วย คืออะไร?

ก็เหมือนที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ NAV ต่อหน่วย ก็คือ มูลค่าของหน่วยลงทุนของกองทุนรวมแต่ละหน่วย เมื่อนักลงทุนต้องการที่จะซื้อขายกองทุน เราจะต้องดูที่ราคา “NAV ต่อหน่วย” ซึ่งจะมีสูตรการคำนวนดังนี้:

  • NAV ต่อหน่วย = NAV / จำนวนหน่วยลงทุน

หรือ

  • มูลค่าของหน่วยลงทุน = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ / จำนวนหน่วยลงทุน
ตัวอย่างของมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จากกองทุนรวมกสิกร
ตัวอย่างมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF): Kasikornasset.com

ตัวอย่างของการลงทุนในกองทุนรวม

นาย A มีเงินลงทุนอยู่ทั้งหมด 10,000 บาท และต้องการลงทุนใน “กองทุนเปิดเค โกลบอล เฮลท์แคร์ หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ” ราคาต่อหน่วยลงทุนจะอยู่ที่ 13.2453 บาท ต่อหน่วย นั่นหมายความว่า นาย A จะสามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนี้ได้เป็นจำนวน 10,000 / 13.2453 = 754 หน่วย (ปัดเศษลง) นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ควรจะทราบไว้เลยก็คือ เมื่อทำการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม คุณอาจจะไม่ได้ราคาตรงตามที่ระบุไว้ เนื่องจากการลงทุนในกองทุนรวมนั้นจะไม่รวดเร็ว หรือซื้อขายได้แบบเรียลไทม์เหมือนการซื้อขายหุ้นในกระดานเทรด แต่จะมีรอบสำหรับการซื้อขายในแต่ละวัน อีกทั้ง “NAV ต่อหน่วย” จะมีการประกาศให้ทราบทุกๆ สิ้นวันทำการ ดังนั้น หากช่วงเวลาที่เราทำการซื้อหรือขายหน่วยลงทุน อยู่นอกเหนือจากช่วงเวลาที่ระบุ มูลค่าของ NAV ต่อหน่วย ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้

ตัวอย่างของรอบการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ของกองทุนรวมกสิกร
ตัวอย่างของรอบการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF): Kasikornasset.com

NAV ต่อหน่วย นั้นก็เปรียบได้กับ มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value Per Share) ซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงมูลค่ารวม หรือ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัท ซึ่งคำนวนด้วย “สินทรัพย์รวม” – “หนี้สินรวม” = BV (Book Value) ที่จะเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีแนวโน้มในการเติบโตสูงมักจะมีมูลค่ามากกว่าที่ NAV ระบุไว้เสมอ

“มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ” มีประโยชน์อย่างไร?

ประโยชน์ของ NAV ที่มีต่อนักลงทุน นอกเหนือจากเรื่องที่เราได้อธิบายไปข้างต้น (เช่น เป็นตัวเลข “มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ” ของกองทุนรวม หรือ ใช้คำนวนเพื่อหาราคาซื้อ/ขายสำหรับกองทุน ฯลฯ) การคำนวนหา NAV จะช่วยให้นักเทรดสามารถระบุได้ว่า ตลาดอยู่ในสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อขายหรือไม่? นอกจากนี้ มันยังสามารถนำไปคำนวนเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น:

  • ช่วยให้เราทราบถึงมูลค่าต่อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม หรือ ETF
  • ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ผลการดำเนินงานรายวันของกองทุนรวม เพื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ ได้
  • ช่วยให้เราพบโอกาสการลงทุนใหม่ๆ
  • ช่วยให้เราพิจารณาได้ว่ากองทุนมีการบริหารทรัพย์สินของกองทุนได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ ด้วยราคา NAV ต่อหน่วยที่สูงขึ้น หรือ ลดลง

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่มือใหม่ด้านการลงทุนจะต้องทำความเข้าใจก็คือ “ราคา NAV ต่อหน่วย” ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความน่าลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ชวนให้สับสนได้ เพราะกรอบทางความคิดของนักลงทุนโดยทั่วไปก็คือ “การซื้อถูกและขายแพง” อย่างไรก็ตาม ราคา NAV ต่อหน่วยนั้นไม่ได้สะท้อนถึงผลประกอบการของการลงทุน ดังนั้น ถึงแม้ว่าราคาหน่วยลงทุนจะต่ำ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะน่าลงทุน แต่เป็นไปในทางที่กลับกันเสียมากกว่า

เนื่องจากทุกกองทุนในประเทศไทยจะมีราคา NAV เริ่มต้นที่ 10 บาท ดังนั้น ถ้ากองทุนรวมใดที่มีราคา NAV ต่ำกว่า 10 บาท นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า การบริหารกองทุนดังกล่าวอาจจะมีการบริหารจัดการที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม อย่างที่ระบุไปก่อนหน้านี้ว่า “ราคา NAV ต่อหน่วย” ไม่ควรที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกลงทุน เนื่องจากมันไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงสะท้อนถึงผลประกอบการของการลงทุน ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่เราควรจะพิจารณาต่อกองทุนรวมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีที่สุด ควรจะเป็น:

  • ตรวจสอบประเภทและนโยบายของกองทุน
  • ตรวจสอบระดับความเสี่ยงตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน
  • ตรวจสอบผลตอบแทนของกองทุนย้อนหลัง
  • ตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ในการลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อ/ขายหน่วยลงทุน
  • ตรวจสอบรูปแบบในการลงทุน
  • ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้จัดการกองทุน หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน

ปัจจัยที่จะส่งผลให้ “NAV ต่อหน่วย” มีการเปลี่ยนแปลง

มีปัจจัยต่างๆ อยู่มากมายที่จะส่งผลกระทบให้ราคา NAV เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้น หรือ ลดลง ก็ตาม เช่น

  • การประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม — เนื่องจาก NAV ต่อหน่วย เกิดจากการคำนวนมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งหมดของกองทุน ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ดังนั้น หากสินทรัพย์ใดๆ ที่มีสภาพคล่องต่ำ หาราคาปิดได้ยาก หรือทรัพย์สินนั้นๆ ไม่มีราคาตลาด กองทุนก็อาจจะใช้ราคาเสนอซื้อครั้งสุดท้ายในการคำนวนแทน (แทนที่จะเป็นช่วงสิ้นวันทำการตามปกติ) ซึ่งจะส่งผลให้ ราคา NAV ต่อหน่วยของกองทุนรวมดังกล่าวได้รับผลกระทบ
  • ผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของกองทุนรวม — เมื่อการลงทุนของกองทุนรวมมีผลกำไร NAV ของกองทุนรวมก็จะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน หากเกิดการขาดทุน ราคา NAV ต่อหน่วยของกองทุนรวมก็จะลดลง
  • หนี้สินและค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม — หากกองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินที่สูง NAV ก็จะลดลง เช่น การจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management fee) ที่จะถูกหักจากกองทุนเพื่อจ่ายให้กับบริษัทจัดการกองทุน ซึ่งจะส่งผลให้ NAV ของกองทุนลดลงได้ แต่ในทางกลับกัน หากกองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินไม่มาก เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานที่ทำได้ดี ราคา NAV ต่อหน่วยของกองทุนรวมก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้
  • การจ่ายเงินปันผล — เมื่อมีการจ่ายเงินปันผล NAV ของกองทุนรวมก็จะลดลง เนื่องจากเงินปันผลดังกล่าวจะถูกจ่ายจากกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิของกองทุนรวม ซึ่งจะส่งผลให้ราคา NAV ต่อหน่วยเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
  • การขายหรือรับซื้อหน่วยลงทุน — หากมีการขายหน่วยลงทุนเพิ่ม ราคา NAV ต่อหน่วยก็จะเพิ่มสูงขึ้น และก็จะลดลงหากมีการรับซื้อหน่วยลงทุนคืน

สรุปส่งท้าย

NAV (Net Asset Value) หรือ “มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ” นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดหักลบกับหนี้สินและค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ดังนั้น เราจึงสามารถใช้มันเพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม หากต้องการที่จะลงทุนในกองทุนรวม นักลงทุนอาจจะต้องตรวจสอบนโยบาย ระดับความเสี่ยง ผลการดำเนินงานในอดีต และเงื่อนไขต่างๆ ของกองทุนรวม รวมไปถึง ความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้จัดการกองทุนดังกล่าวด้วย เพื่อที่จะช่วยให้เงินลงทุนของคุณมีความมั่นคง และได้รับผลตอบแทนที่ดี

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน