Trusted

RSI (Relative Strength Index) คืออะไร?

8 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

ในหลายๆ ครั้งที่เราอ่านบทวิเคราะห์ทางเทคนิคของสินทรัพย์ใดๆ ก็ตาม มันก็จะเต็มไปด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ มากมายที่ใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์หรือยืนยันสัญญาณที่อาจจะเกิดขึ้น และหนึ่งในเครื่องมือวิเคราะห์สัญญาณที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ RSI Indicator นั่นเอง แล้ว RSI หรือ Relative Strength Index คืออะไร? ทำไมมันจึงได้รับความนิยม? แล้วมันทำอะไรได้บ้าง? วันนี้ เราจะไปเรียนรู้เกี่ยวกับอินดิเคเตอร์ยอดนิยมตัวนี้กัน!

เข้าร่วม BeInCrypto Trading Community บน Telegram: อ่านข่าวสารที่ร้อนแรงที่สุดในแวดวงคริปโต อ่านบทความวิเคราะห์ทางเทคนิคเกี่ยวกับเหรียญต่างๆ และสอบถามข้อมูลต่างๆ ที่คุณต้องการจากนักเทรดมืออาชีพ!

เข้าร่วมตอนนี้เลย!

RSI (Relative Strength Index) คืออะไร?

RSI หรือ Relative Strength Index คืออะไร? มันคืออินดิเคเตอร์ (Indicator) หรือเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ใช้ในการวัดระดับความเคลื่อนไหวของราคาของสินทรัพย์/ตลาดซื้อขาย ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในปี 1978 โดย J. Welles Wilder Jr. ในหนังสือที่มีชื่อว่า “New Concepts in Technical Trading Systems”

RSI Indicator เป็น Momentum Oscillator (กราฟเส้นที่ใช้วัดโมเมนตัมของราคาสินทรัพย์) ประเภทหนึ่งที่ใช้ในการระบุว่าราคาของสินทรัพย์/ตลาดซื้อขาย ณ ช่วงเวลานั้นๆ อยู่ในโซน Overbought (ซื้อมากเกินไป) หรือ Oversold (ขายมากเกินไป) โดยจะมีระดับตั้งแต่ 0-100

Overbought และ Oversold Zone คืออะไร?

ก่อนอื่น เพื่อช่วยให้เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Overbought และ Oversold Zone ได้ดียิ่งขึ้น เรามาดูภาพตัวอย่างนี้กันดีกว่า

ตัวอย่างการใช้ RSI Indicator บนกราฟราคา BTC/USD: TradingView

Overbought Zone หรือ โซนที่มีแรงซื้อมากเกินไป

Overbought Zone คือ โซนที่มีแรงซื้อจากมากเกินไป โดยจะเห็นได้จากเส้น RSI ที่ขึ้นไปอยู่สูงกว่าระดับ 70 ขึ้นไป ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่ามีการเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทำให้สินทรัพย์ดังกล่าวอาจจะมีราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการปรับฐานของราคา หรือ เกิดการกลับตัวของเทรนด์เป็นขาลงได้

Oversold Zone หรือ โซนที่มีแรงขายมากเกินไป

เมื่อเส้น RSI เคลื่อนลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 30 มันก็จะเข้าสู่ Oversold Zone หรือ โซนที่มีแรงขายมากเกินไป ซึ่งเป็นขั้วตรงกันข้ามของ Overbought Zone และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามีการเทขายสินทรัพย์ดังกล่าวมากจนเกินไป ซึ่งทำให้สินทรัพย์ดังกล่าวอาจจะมีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น มันอาจจะเกิดการปรับฐานราคา หรือ เกิดการกลับตัวของเทรนด์เป็นขาขึ้นได้

แต่อย่างไรก็ดี ในการจับตามองสัญญาณเหล่านี้เพื่อจับจังหวะในการเข้าลงทุน คุณควรจะใช้มันร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ตัวอื่นๆ เช่น SMA, EMA หรือ Bollinger Bands เป็นต้น เพื่อให้สามารถทำการวิเคราะห์หรือคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในอนาคตได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ตัวอย่างของการใช้ RSI ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ: TradingView

สัญญาณจาก RSI ยังใช้บอกอะไรได้อีกบ้าง?

นอกเหนือไปจากการใช้สัญญาณ RSI เพื่อหาจังหวะในการเข้าซื้อหรือขายสินทรัพย์แล้ว มันสามารถบอกอะไรให้กับเราได้อีกบ้าง? นี่คือวิธีที่คุณสามารถใช้งาน RSI เพื่อจับตาดูสัญญาณของความเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นๆ ได้:

ใช้เพื่อคาดการณ์จุดสูงสุดและจุดต่ำสุดของราคา

มันมีความเป็นไปได้อย่างมากที่ราคาของสินทรัพย์จะไปถึงจุดสูงสุดเมื่อ RSI ได้เคลื่อนตัวไปอยู่สูงกว่าระดับ 70 และจะเป็นจุดต่ำสุดเมื่อ RSI เคลื่อนไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 30 (ณ ช่วงเวลานั้นๆ) มันจึงถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการคาดการณ์ราคาของสินทรัพย์ได้ในระดับหนึ่ง

ใช้เป็นสัญญาณของการกลับตัวของราคา

สัญญาณของการกลับตัวของราคาหรือที่เรียกกันว่า Divergence (ไดเวอร์เจนซ์) เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดความขัดแย้งกันระหว่างทิศทางความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์และเส้น RSI โดยจะแบ่งออกเป็น 2 สัญญาณหลักๆ คือ

  • Bullish Divergence — ซึ่งจะเป็นสัญญาณของราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งขัดแย้งกับ RSI ที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าราคาของสินทรัพย์อาจจะมีการกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้นได้
ตัวอย่างของสัญญาณ Bullish Divergence: TradingView
  • Bearish Divergence — เป็นสัญญาณของราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะที่ RSI ที่ปรับตัวลดลง และส่งสัญญาณว่าราคาของสินทรัพย์อาจจะมีการปรับตัวเป็นขาลงได้
RSI
ตัวอย่างของสัญญาณ Bearish Divergence: TradingView

ใช้เป็นระดับแนวต้าน/แนวรับของราคา

ระดับของ RSI สามารถใช้เป็นระดับของแนวต้านหรือแนวรับของราคาสินทรัพย์คร่าวๆ ได้ เพราะตราบใดที่ RSI ยังเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 30-70 มันก็จะเป็นความเคลื่อนไหวตามปกติ แต่หากเมื่อใดที่ RSI ขึ้นไปสูงกว่า 70 แล้ว มันก็มีโอกาสที่จะเกิดการลดลงของราคาได้ หรือ ในกรณีเดียวกันที่หาก RSI ลดลงไปต่ำกว่า 30 มันก็มีโอกาสที่จะราคาจะกลับมาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นได้ ดังนั้น เราจึงสามารถใช้ RSI เพื่อมองหาระดับแนวต้าน/แนวรับของราคาอย่างคร่าวๆ ได้นั่นเอง

วิธีการใช้งานและอ่านสัญญาณจาก RSI Indicator

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า โดยทั่วไปแล้ว RSI Indicator จะเป็นเครื่องมือที่เหล่านักวิเคราะห์ใช้ในการตรวจสอบราคาสินทรัพย์ว่าอยู่ใน Overbought หรือ Oversold Zone หรือไม่เพื่อหาจุดเข้าซื้อและจุดเทขายเพื่อทำกำไรจากการเทรดสินทรัพย์นั้นๆ

RSI
ระดับ Overbought และ Oversold ของ RSI: TradingView

เมื่อเส้น RSI ขึ้นถึงระดับ 70 หรือสูงกว่า (Overbought Zone หรือแถบสีเขียวด้านบนในรูปตัวอย่าง) มันก็จะเป็นสัญญาณว่าคุณควรจะเตรียมตัวในการขายสินทรัพย์นั้นๆ ออกไป หรือหากเส้น RSI อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 30 (Oversold Zone หรือแถบสีแดงด้านล่างในรูปตัวอย่าง) มันก็จะเป็นสัญญาณที่ดีในการเตรียมพร้อมเพื่อทำการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อจุดประสงค์ในการทำกำไร

ในการเลือกใช้งานเครื่องมือวิเคราะห์ตัวนี้ แพลตฟอร์มการซื้อขายส่วนใหญ่นั้นมักจะมี RSI Indicator ให้เลือกใช้งานอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น บน TradingView คุณสามารถเข้าไปที่หน้าอินเตอร์เฟสของราคาสินทรัพย์ใดๆ จากนั้น คลิกเข้าไปที่หัวข้อ อินดิเคเตอร์ (Indicator) ที่ด้านบน จากนั้น คุณสามารถค้นหาด้วยคำว่า RSI หรือ Relative Strength Index เพื่อเรียกใช้งานเครื่องมือดังกล่าวบนกราฟราคาสินทรัพย์ของคุณได้เลยทันที

อินดิเคเตอร์ตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจ

หากคุณสนใจในเรื่องการเทรดสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์, ฟอเร็กซ์, หรือ คริปโต มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่คุณจะต้องทำความรู้จักกับ Indicator ต่างๆ เนื่องจากมันจะมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้คุณสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณ หรือ แนวโน้มต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาด

และต่อไปนี้คือ Indicator ต่างๆ ที่น่าสนใจและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก:

  • Simple Moving Average (SMA) — เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ทั่วไป เป็น ตัวชี้วัดพื้นฐานที่เหล่านักเทรดมักจะใช้ดูข้อมูลทิศทางของเทรนด์ในปัจจุบัน
  • Exponential Moving Average (EMA) — เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบถ่วงน้ำหนักข้อมูล เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ โดยจะแตกต่างจาก SMA ตรงที่ให้น้ำหนักกับจุดข้อมูลล่าสุดมากกว่า ทำให้มันตอบสนองต่อข้อมูลใหม่ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
  • Moving Average Convergence Divergence (MACD) — ตัวชี้วัดที่ใช้เปรียบเทียบความเคลื่อนไหวของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ EMA 2 ตัว โดยจะประกอบด้วยเส้น MACD และ Signal ซึ่งเมื่อเส้น MACD ข้ามลงไปอยู่ใต้เส้น Signal เป็นการบ่งบอกว่า ราคากำลังจะลดลง และในทางกลับกัน หากเส้น MACD อยู่เหนือเส้น Signal หมายความว่า ราคากำลังจะเพิ่มสูงขึ้น
  • Bollinger Bands — ตัวชี้วัดที่จะเป็นกรอบความเคลื่อนไหวของราคาที่กว้างขึ้นหรือแคบลง ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความผันผวนที่มากขึ้นหรือน้อยลงนั่นเอง
  • Fibonacci Retracement Level เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดูระดับที่ซ่อนอยู่ของแนวรับและแนวต้านของราคาสินทรัพย์ที่มีโอกาสจะกลับตัว โดยจะแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ตามการคำนวนด้วยสัดส่วนทองคำ หรือ Golden Ratio

บทส่งท้าย

RSI คือเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักเทรดสามารถรับรู้ถึงความแข็งแกร่งของตลาดซื้อขาย ซึ่งทำให้มันเป็นเครื่องมืออันทรงคุณค่าที่สามารถนำไปใช้ในตลาดใดๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น, ฟอเร็กซ์ หรือ คริปโต ก็ได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม คุณจะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีเครื่องมือใดๆ ที่จะให้ความแม่นยำ 100% การใช้งานมันร่วมไปกับอินดิเคเตอร์หรือข้อมูลอื่นๆ เพื่อประกอบการวิเคราะห์จะช่วยให้คุณสามารถคาดการณ์หรือยืนยันได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อราคาสินทรัพย์หรือตลาดซื้อขายได้ดีมากยิ่งขึ้น กระนั้น RSI ก็ถือเป็นอินดิเคเตอร์ที่นักเทรดทุกคน ไม่ว่าจะหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ ควรที่จะเก็บมันไว้ในลิสต์ของเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในการเทรดที่น่าใช้งานอย่างแน่นอน

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน