NFTs ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้งาน Digital Art ที่เคยถูกมองว่าเป็นศิลปะชายขอบของวงกลายเป็นตลาดที่มีเม็ดเงินจำนวนมากมายไหลเข้ามา บางชิ้นขายได้หลายสิบล้านดอลลาร์ แต่มูลค่าของมันเกิดขึ้นจากคุณค่าทางศิลปะจริงหรือ?
การพัฒนาทางเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเท่านั้น พวกเขายังสร้างการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมทัศนศิลป์
การถือกำเนิดของ NFTs กำลังกระตุ้นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาดิจิทัล โดยสร้างทางเลือกใหม่ๆ สำหรับศิลปิน หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ในเกือบทุกขั้นตอนของกระบวนการตั้งแต่การผลิตชิ้นงานจนถึงการนำเสนอ อย่างไรก็ตามแม้ว่ามันจะเปิดโอกาสใหม่ๆ แต่มันก็ยังมาพร้อมกับปัญหาเดิมๆ บนโลกศิลปะ
การมาถึงของ NFTs และบทบาทของมัน
NFT หรือ Non-fungible token เป็นไฟล์ดิจิทัลที่ไม่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถพิสูจน์ความแท้และความเป็นเจ้าของได้อย่างชัดเจนโดยเทคโนโลยีกระจายอำนาจของเครือข่ายบล็อกเชน ชิ้นงานเหล่านี้ถูกขายผ่านสกุลเงินดิจิตอลเป็นส่วนใหญ่
ไฟล์ดิจิทัลใดๆ ก็สามารถสร้างเป็น NFT ได้ ซึ่งหมายความว่าวิดีโอ เพลง เอกสาร บอท AI ทวีต และอื่นๆ สามารถนำไปมิ้นท์บนบล็อคเชนและจัดจำหน่ายบนโลกออนไลน์ จนถึงตอนนี้ ทัศนศิลป์กำลังได้รับความนิยมในฐานะกรณีการใช้งาน NFT ที่พบบ่อยที่สุด อย่างไรก็ตาม
การมาถึงของเทคโนโลยี NFT นั้นอาจไม่ได้มีความหมายเหมือนกันกับเทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่เป็นเครื่องมือสำหรับการขายและเผยแพร่งานศิลปะที่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยวิธีการดั้งเดิมหรือดิจิทัลจำนวนเท่าใดก็ได้ เว้นแต่จะเป็นศิลปินบางกลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่จะสร้างชิ้นงานหรือโปรเจคที่หยอกล้อไปกับเทคโนโลยีเองที่เป็นไปในลักษณะ Conceptual Art
ในทางทฤษฎีแล้ว NFTs สามารถเสนอแนวทางที่เป็น “ประชาธิปไตยมาก” ขึ้นในโลกศิลปะสำหรับทั้งศิลปินและนักสะสม พวกเขาสามารถเข้าถึงกันและกันได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนี้แม้ว่าชิ้นงานส่วนใหญ่จะถูกเสนอขาย Marketplace ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง แต่ค่าธรรมเนียมนั้นถูกกว่าการซื้อขายในแกลเลอรี่หลายเท่าตัว
ปัญหาในโลก NFTs ที่ไม่ต่างไปจาก Digital Art อื่นๆ
แน่นอนว่า NFTs เปิดโอกาสเส้นทางใหม่ๆ มากมายให้ผู้คนสร้างชิ้นงาน Digital Art ของตนเอง และเข้าถึงกลุ่มนักสะสมได้อย่างง่ายดายอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่หากมองในแง่ของการสร้างชิ้นงานศิลปะแล้ว สาระของชิ้นงานย่อมต้องถูกวิเคราะห์เพื่อหาคุณค่าของมัน ไม่ว่าจะเพื่อสะท้อนสังคม การทดลอง หรือ statement ใดๆ ชิ้นงานศิลปะที่นำเสนอในรูปแบบ NFTs ก็ยังปรากฏปัญหาเดิมๆ บนโลกของศิลปะและมักเกิดขึ้นจากตัวศิลปินเอง
Racism การเหยียดเชื้อชาติ
โลกของ crypto มีความคล้ายคลึงกับโลกอินเทอร์เน็ต Web2 ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการปิดบัง Identity หรือตัวตนของผู้ใช้งาน แน่นอนว่ามันสามารถใช้ในทางที่มีประโยชน์และในทางที่แย่ได้
มีผู้ใช้งานบางกลุ่มใช้ประโยชน์จากการไม่เปิดเผยชื่อชื่อผู้ใช้ ทำให้มีผู้สร้างหรือกลุ่มผู้สร้างรายหนึ่งได้สร้างโปรเจค NFT ชื่อ “Floydies” ซึ่งเป็นคอลเลคชั่น ที่พรรณนาถึง George Floyd ด้วยรูปแบบพิกเซลแบบคร่าวๆ ด้วยรูปแบบ stereotype ต่างๆ ที่สร้างขึ้นจากแนวคิดการเหยียดเชื้อชาติ
แม้ว่า OpenSea ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดกลางของ NFT ได้นำรูปภาพออกจากแพลตฟอร์ม แต่แพลตฟอร์มอื่นๆ กลับต้อนรับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว แน่นอนว่าพวกเขาอ้างเรื่อง anti-censorship แต่ในแง่หนึ่งพวกเขาก็ทำเงินจากการนำเสนอขายสิ่งเหล่านี้เช่นกัน มันจึงเป็นตลกร้ายอย่างหนึ่ง
เนื้อหาเหล่านี้ถูกนำเสนอและปลูกฝั่งจนเป็นเรื่องธรรมชาติบนโลก Web3 เพราะสื่อเหล่านี้ไร้พรมแดนและถูกสื่อสารโดยตรงกับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เขียน ประเด็นเหล่านี้สะท้อนปัญหาเดิมๆ เรื่อง “ชิ้นงานศิลปะที่ไร้คุณภาพจากผู้สร้างที่ไร้คุณภาพ” เสียมากกว่า เรื่องควรมีหรือไม่ควรมี censorship มากำกับ
Sexism : Crypto-bro
- โลกศิลปะดั้งเดิม
ทั้งโลกศิลปะดั้งเดิมและพื้นที่ NFT ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างสุดขั้ว National Museum of Women in the Arts รวมข้อมูลเกี่ยวกับ “ความแตกต่าง” ในมิติต่างๆ ระหว่างเพศชายและหญิงในอุตสาหกรรมนี้
ตัวเลขสถิติเหล่านี้น่าวิตกเป็นพิเศษและควรได้รับความใส่ใจ เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่ในโปรแกรมวิจิตรศิลป์ของมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา เป็นผู้หญิง แต่รายได้จากการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ของผู้หญิงกลับมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชายอยู่เกือบ 30% ในโลกอุตสาหกรรมศิลปะแบบดังเดิม รวมถึงมูลค่าของชิ้นงานศิลปะที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
ชิ้นงานจากศิลปินชายที่มีมูลค่าสูงที่สุดอย่าง Salvator Mundi ของ Leonardo Da Vinci ถูกขายไปในมูลค่า 450.3 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ผลงานที่มูลค่าสูงที่สุดของศิลปินหญิงอย่าง Jimson Weed/White lower (1932) ของ Georgia O’Keeffe ที่มีมูลค่าเพียง 44.4 ล้านดอลลาร์
สำหรับผู้เขียนเอง มองประเด็นดังกล่าวนี้ว่า เกิดจากผลพวงทางประวัติศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากโลกศิลปะเป็นโลกของชายเป็นใหญ่มาโดยตลอดจนถึง ศตวรรษที่ 20 นั่นรวมถึงศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ด้วย ที่มีข้อกำหนดแบ่งแยกเพศชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง
ทำให้ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากศิลปินชายในอดีตและทำให้มันมีมูลค่าที่สูง ในขณะที่ศิลปินหญิงเพิ่งเริ่มมีบทบาทและได้รับความยอมรับมากขึ้นในช่วงหลังสงครามเย็นและการกำเนิดของ Contemporary Art ชิ้นงานจึงมีความแตกต่างทางด้านราคาสูง เพราะมูลค่าเชิงประวัติศาสตร์
- โลกศิลปะ NFTs
สิ่งที่น่าสนใจคือ โลก NFT ที่เป็นพื้นที่ใหม่เสียมากกว่า เพราะบทบาทของตัวกลางหรือ Marketplace ค่อนข้างมีน้อยกว่าสถาบันทางศิลปะแบบดั้งเดิม แม้ว่าในทางทฤษฎีแล้ว การไม่เปิดเผยตัวตนของธุรกรรมดิจิทัลเหล่านี้สามารถสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศที่มากขึ้น แต่ “ศิลปินหญิงคิดเป็นเพียง 5% ของยอดขายงานศิลปะ NFT ทั้งหมด”
ในช่วง 21 เดือนที่ผ่านมา การไม่เปิดเผยตัวตนยังสร้างโอกาสในการหลอกลวงที่เป็นอันตรายมากขึ้นอีกด้วย ในช่วงฤดูร้อนปี 2020 กลุ่มผู้สร้าง NFT ถูกวางตัวเป็น “กลุ่มศิลปะ Crypto ที่นำโดยผู้หญิงกลุ่มแรก” ระดมทุนได้ 1.5 ล้านดอลลาร์ก่อนที่จะเปิดเผยว่าเป็นผู้ชายที่อยู่เบื้องหลังองค์กรจริงๆ และผู้หญิงไม่กี่คนที่ได้รับเชิญให้พูดในการประชุมหรือการประชุมของ NFT
นอกจากนี้ บุคคลที่มีส่วนร่วมและขับเคลื่อนโลก NFT ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า “ผู้ชายหนึ่งในห้าในสหรัฐอเมริกาหรือ 20% ระบุว่าพวกเขาเป็นเจ้าของ NFT อย่างน้อยหนึ่งรายการ เทียบกับเพียง 7% ที่เป็นผู้หญิง” สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวาทกรรม “Crypto-bro” ที่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง แน่นอนว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ก็คือ “เงิน”
NFTs มีคุณค่าในการเป็น Digital Art หรือเป็นเพียง Visual Culture เพื่อทำการค้า
รูปแบบของ NFTs ที่ครอบงำส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุด คือ “ชิ้นงานภาพกราฟิก” ที่มี “ธีม” และแพทเทรินในรูปแบบเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Generative NFTs ไม่ใช่ความหลากหลาย เชิงเนื้อหาเเละรูปแบบอย่างที่เคยพบเห็นในอุตสาหกรรม Digital Art
NFT เหล่านี้ถูกขายเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล และมีมูลค่าสูงกว่าชิ้นงานศิลปะมีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์บางชิ้นเสียอีกชิ้นงาน NFTs ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเริ่มสถาปนารูปแบบของมันเองในแง่ “ความสวยงามและรูปแบบ (Aesthetics and Form)” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ศิลปิน NFT หลายคนเลือกที่จะอ้างอิงและนำเสนอไอคอนและจินตภาพของวัฒนธรรมป๊อปที่หลากหลาย มากกว่าการสร้างงานศิลปะ Contemporary Art ที่เน้นเรื่องแนวคิดการทดลอง หรือสาระที่เป็นคุณค่าและจบภายในชิ้นงาน ชิ้นงาน NFTs ถูกสร้างเพื่อเป็นตัวแทนสิทธิ์ที่คุณค่าถูกผูกอยู่กับสิ่งอื่นๆ มากกว่า เช่น การได้รับ Airdrop หรือการได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
“Quality over quality” หรือปริมาณมากกว่าคุณภาพดูเหมือนจะเป็นปรัชญาหลักสำหรับผู้สร้าง NFTs ส่วนใหญ่ในตลาดนี้ บางคนเป็นนักฉวยโอกาสที่เข้าใจเรื่องคอมพิวเตอร์มากกว่าการเป็นศิลปินด้วยซ้ำ มันเป็นการแข่งขันกันเพื่อหาเงิน
ในวิดีโอ YouTube ของ Solar Sands เรื่อง “ทำไม NFT ถึงน่าเกลียดจัง” ได้นำเสนอวิธีที่ผู้สร้าง NFT สร้างเทมเพลตสำหรับคอลเลกชัน NFT ต่างๆ จากนั้นใช้อัลกอริทึมเพื่อสุ่มสลับคุณลักษณะหรือเพิ่มอุปกรณ์เสริมบางอย่างเพื่อสร้างรูปภาพที่ไม่ซ้ำกันจำนวนมาก ผลลัพธ์ที่ได้คือสิ่งที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์อย่างเห็นได้ชัด
ส่วนต่างๆ ถูกนำมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันโดยไม่สนใจความเชื่อมโยงหรือความสมบูรณ์ของผลงานใดๆ เพราะมันคือการสุ่ม มันจึงเป็นเหตุผลที่ NFT จึงมีหน้าตาที่น่าเกลียด และไม่ได้มีแก่นสารใดๆ ในตัวมันเอง มันจึงจำเป็นต้องสร้างมูลค่าโดยการนำเสนอ Utility หรือประโยชน์ใช้สอยเข้ามาเกี่ยวข้อง
ข้อจำกัดความรับผิด
หมายเหตุบรรณาธิการ: เนื้อหาต่อไปนี้ไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองหรือความคิเห็นของ BeInCrypto มันจัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้นและไม่ควรถูกตีความว่าเป็นคำแนะนำทางการเงิน กรุณาทำการวิจัยของคุณเองก่อนที่จะทำการตัดสินใจลงทุนใดๆ