ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ออกมาเผย Timeline สำหรับการพัฒนาและทดสอบ เงินบาทดิจิตอล หรือ CBDC โดยร่วมมือกับภาคเอกชน 3 รายที่ร่วมทดสอบได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชน์ ธนาคารกรุงศรี และ บริษัททูซีทูพี
CBDC คือ สกุลเงินดิจิตอลที่ถูกออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ภาคส่วนสำคัญในประเทศไทย
- “Whole Sale” สำหรับการทำธุรกรรมภายในระหว่างสถาบันทางการเงิน
- “Retail” สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจที่ประชาชนทั่วไปใช้จับจ่ายใช้สอย
Timeline การทดสอบพัฒนา “เงินบาทดิจิตอล” (Digital Baht)
เมื่อวันที่ 28 เมษายน ในรายการ “แบงก์ชาติชวนคุย” ผ่าน Facebook ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีการเปิดเผยไทม์ไลน์การทดสอบบาทดิจิตอลกับรายย่อยโดยสามารถไล่รายละเอียดได้ดังนี้
ธันวาคม 65 – พฤษภาคม 66
แบงก์ชาติเริ่มทดลองการใช้งานกับพนักงานของแบงก์ชาติและร้านค้าทั่วไปบริเวณแบงก์ชาติ
พฤษภาคม – สิงหาคม 66
ขยายการใช้งานไปยังพนักงานและร้านค้าบริเวณผู้ใช้บริการของบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชน์ ธนาคารกรุงศรี และ บริษัททูซีทูพี เพื่อทดสอบการชำระค่าสินค้าและบริการในพื้นที่ทดสอบ โดยจะมีกลุ่มผู้ทดสอบร่วมทั้งสิ้นราว 10,000 คน
วิธีการใช้งานผู้ร่วมทดสอบจะใช้ “แอปพลิเคชั่น CBDC Wallet” ที่นำไปผูกกับ “บัญชีธนาคารของธนาคารที่เข้าร่วมทดสอบ” ผู้ใช้งานต้องนำเงินฝากในบัญชีไปแลกเป็นเงินดิจิตอลไปเก็บไว้ในแอปก่อนนำไปใช้จ่าย แน่นอนว่าเงินดิจิตอลสามารถแลกกลับมาเป็นเงินในบัญชีได้ผ่านทางแอป อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาสนับสนุนนโยบายกระเป๋าเงินดิจิตอลดังกล่าวมาก่อนหน้านี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติยังกำชับว่า “ยังไม่มีแผนจะนำมาใช้งานจริงสำหรับ Retail หรือภาคประชาชน” ขั้นตอนปัจจุบันยังเป็นการพัฒนาและการทดสอบ
แผนงาน เงินบาทดิจิตอล ปี พ.ศ. 2567 – 2568
แบงก์ชาติเผยว่าอาจมีการ “ใช้งานจริงในภาคส่วน Wholesale” หรือระหว่างสถาบันทางการเงิน เพราะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน และลดขั้นตอนธุรกรรมทางบัญชีต่างๆ ไปได้มาก
นาย กษิดิศ ตันสงวน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การทดสอบภาคส่วน Wholesale สำเร็จไปได้ด้วยดีผ่านโครงการ “mBridge” ที่มี 4 ประเทศได้แก่ ธนาคารกลางไทย จีน ฮ่องกง และ UAE
ในโครงการดังกล่าว ทั้ง 4 ประเทศเข้าร่วมพัฒนาต้นแบบระบบสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศในลักษณะหลายสกุลเงิน (multi-currency) และพบว่าได้ผลรับที่ดีช่วยลดต้นทุนและชำระธุรกรรมได้รวดเร็วขึ้น ทางธนาคารจึงมองว่าจะผลักดันการใช้งานในภาคส่วนนี้ให้เกิดขึ้นจริงก่อน
ข้อจำกัดความรับผิด
หมายเหตุบรรณาธิการ: เนื้อหาต่อไปนี้ไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองหรือความคิเห็นของ BeInCrypto มันจัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้นและไม่ควรถูกตีความว่าเป็นคำแนะนำทางการเงิน กรุณาทำการวิจัยของคุณเองก่อนที่จะทำการตัดสินใจลงทุนใดๆ