Trusted

สรุปคดี Ashton Asoke เกิดอะไรขึ้น? ทำไมโดนเพิกถอนใบอนุญาตก่อนสร้าง

5 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

สรุปย่อ

  • ศาลปกครองสูงสุด สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโด Ashton Asoke
  • คำพิพากษาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อลูกบ้านทั้งหมดเป็นอย่างมาก
  • บริษัท อนันดา เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ และเยียวยา
  • Promo

วันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่สั่นสะเทือนวงการอสังหาฯ เมื่อศาลปกครองสูงสุด สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรูย่านอโศก “Ashton Asoke” หลังจากที่มีการฟ้องร้องกันยาวนานมากว่า 7 ปี

โครงการ “แอชตัน อโศก” เป็นคอนโดมิเนียมหรูสไตล์โมเดิร์น สูง 50 ชั้น ที่ตั้งอยู่บนบริเวณถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21) ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2557 โครงการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยขายไปได้รวมกว่า 668 ยูนิต เป็นมูลค่าราว 6,481 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นักร้อง(เรียน)ชื่อดัง นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้เปิดประเด็นถึงเรื่องความน่าสงสัยของถนนส่วนหน้าโครงการ ว่าอาจจะไม่ได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งนำมาสู่การเป็นคดีฟ้องร้องที่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

“แอชตัน อโศก” ตกเป็นคดีฟ้องร้องกับศาลปกครอง

ถึงแม้ว่าโครงการ “แอชตัน อโศก” จะไม่ได้ถูกฟ้องร้องโดยตรง แต่ได้ตกเป็น “ผู้ร้องสอด” ในทั้ง 2 คดีดังต่อไปนี้

  • คดีที่ 1

สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ยื่นฟ้องต่อ ผู้ว่าฯ กทม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1), ผอ.สำนักการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2), ผอ.เขตวัฒนา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) มีการออกใบอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (ผู้ร้องสอด) ดำเนินการสร้างอาคารโครงการ แอชตัน อโศก โดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

สำหรับในคดีนี้ มีการพิพากษาออกมาแล้วในช่วงปลายปี 2565 โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ให้รื้อถอนอาคารโครงการ แอชตัน อโศก ในส่วนที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากโครงการมีเจ้าของห้องชุดจำนวนมาก (668 ยูนิต) การรื้อถอนจะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงมีคำสั่งให้ ผู้ถูกฟ้องร้องทั้ง 3 คน รวมถึง ผู้ร้องสอด ร่วมกันหารือเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 180 วัน

  • คดีที่ 2

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งนำโดย นายศรีสุวรรณ จรรยา และพวก (ชาวชุมชนสุขุมวิท 19) รวม 16 คน ยื่นฟ้องต่อ ผอ.เขตวัฒนา, ผอ.สำนักการโยธา, ผู้ว่าฯ กทม., ผู้ว่าการฯ รฟม. และ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร จัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน รวม 5 คน ฐานละเลยต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยร่วมกันออกคำสั่งอนุมัติ หรือ อนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ชื่อโครงการ แอชตัน อโศก ในซอยสุขุมวิท 21 โดยขัดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิชุมชน และละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนบุคคล โดยปล่อยให้มีการปิดกั้น หรือ ใช้ประโยชน์ถนนสาธารณะนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกใบอนุญาตดังกล่าว

“อนันดา” ร้องหน่วยงานรัฐเยียวยาลูกบ้าน

บริษัท อนันดา ระบุว่า ปัจจุบัน โครงการ แอชตัน อโศก มีผู้เข้าพักอาศัยอยู่แล้ว 580 ครอบครัว เป็นคนไทย 438 ราย และต่างชาติ 142 ราย จาก 20 ชาติ และเป็นผู้ที่อาศัยอยู่มานานกว่า 4 ปี ถึง 488 ครอบครัว คำพิพากษาดังกล่าวของศาลปกครองสูงสุด จะส่งผลกระทบต่อลูกบ้านทั้งหมดเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ บริษัทยืนยันว่า ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขออนุญาตทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากหน่วยงานรัฐไม่ต่ำกว่า 7 หน่วยงาน เป็นใบอนุญาตถึง 9 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น

  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
  • สำนักงานเขตวัฒนา
  • สำนักงานที่ดินพระโขนง
  • สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.)
  • กรมโยธาธิการและผังเมือง
  • สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร

ดังนั้น บริษัท อนันดา จึงเห็นว่า เนื่องจากผลของคำพิพากษาดังกล่าว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ต่อทั้งเจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัท เพราะว่าหากหน่วยงานราชการไม่ให้ความเห็นชอบ และอนุมัติตั้งแต่แรกแล้ว โครงการนี้ก็จะไม่สามารถสร้างได้ และจะไม่เกิดความเสียหายมากขนาดนี้

“ทางออก” ของ “Ashton Asoke”

นายประเสริฐ แด่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันว่า ลูกบ้านในโครงการยังสามารถอาศัยอยู่ในโครงการต่อได้ เนื่องจากศาลมีคำสั่งแค่เพียงการถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ยังไม่มีการเพิกถอนใบอนุญาตการใช้อาคาร และเชื่อว่า กว่าจะถึงเวลาดังกล่าว คงต้องใช้เวลาอีกนาน และยังได้กล่าวด้วยว่า เรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนพอสมควร

“ต้องยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับโครงการ แอชตัน อโศก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าทั้งคนไทย และคนต่างชาติที่จะเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในไทย โดยเฉพาะผู้ร่วมลงทุนของเรา บริษัท มิตซุยฟูโดซัง ซึ่งมีข้อสงสัยอยู่พอสมควร เราไม่ต้องการให้กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อวงการอสังหาฯ ในไทย จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาทางออก เยียวยา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อลูกบ้านและบริษัท”

หุ้น ANAN ของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ก็ยังได้รับผลกระทบคำพิพากษาดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ราคาของหุ้นได้ลดลงมา และปิดตลาดอยู่ที่ 0.84 บาท ร่วงลงกว่า 26.32% จากราคาในวันก่อนหน้า

ราคาหุ้นของ ANAN หลังเจอเพิกถอนใบอนุญาต
ราคาหุ้น ANAN: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ข่าวดี ไม่ต้องทุบทิ้ง!

อัพเดตข้อมูลเพิ่มเติม (31 กรกฎาคม 2566): ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลสำนักการโยธา ได้เปิดเผยต่อสำนักข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ได้มีการสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลในกรณีนี้โดยเฉพาะ และยังระบุว่า การเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างไม่ได้หมายความว่า อาคารจะต้องถูกรื้อถอนแต่อย่างใด

โดยหลังจากนี้ จะมีการส่งหนังสือถึง บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เจ้าของโครงการ “แอชตัน อโศก” เพื่อออกคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยจะต้องทำการเพิ่มทางเข้า-ออกของโครงการ โดยให้มีความกว้างของถนน 12 เมตร และอยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้าง 18 เมตร ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมืองกำหนด

หากเจ้าของโครงการทำการปรับปรุงแก้ไขทางเข้า-ออกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ที่สำนักงานเขตวัฒนาได้อีกครั้ง

“คดีแอชตัน อโศก ขอเวลาให้ทีมกฎหมายของกรุงเทพมหานครพิจารณารายละเอียด ตามคำพิพากษาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง เนื่องจากมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชน” รศ.วิศณุ กล่าว

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | มกราคม 2025
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | มกราคม 2025
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | มกราคม 2025

ข้อจำกัดความรับผิด

หมายเหตุบรรณาธิการ: เนื้อหาต่อไปนี้ไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองหรือความคิเห็นของ BeInCrypto มันจัดทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้นและไม่ควรถูกตีความว่าเป็นคำแนะนำทางการเงิน กรุณาทำการวิจัยของคุณเองก่อนที่จะทำการตัดสินใจลงทุนใดๆ

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน