“เหรียญคริปโต คือ การสร้างสตอรี่ ให้คนเชื่อเพื่อการเข้ามาเก็งกำไร เมื่อคนเลิกเชื่อเมื่อไร มันก็จะเป็นอวสานของคริปโต” คือ ความเห็นที่น่าสนใจที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวากร เซียนนักลงทุนแบบ Value Investor (VI) พันธุ์แท้ของเมืองไทย ได้ให้ไว้ในรายการ Right Now Ep.71 ตอน อวสานเหรียญคริปโต บทเรียนเก็งกำไร “บ้าคลั่ง” ในช่อง ถามอีก กับอิก TAM-EIG ในวันนี้ เราจะมาดูกันว่า ดร.นิเวศน์ ผู้ซึ่งได้รับฉายา Warrent Buffet แห่งเมืองไทย มีมุมมองอย่างไรต่อวงการ “คริปโต” ในปัจจุบัน
เข้าร่วม BeInCrypto Trading Community บน Telegram: พูดคุยกันเกี่ยวกับเทรนด์ของตลาดซื้อขาย รับชมคอร์สพื้นฐานการซื้อขายฟรี และสอบถามข้อมูลต่างๆ ที่คุณต้องการจากทีมงานนักเทรดมืออาชีพของเรา! มาเข้าร่วมกันเลย!
มุมมองของ ดร.นิเวศน์ เกี่ยวกับ “คริปโต”
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวากร ได้แสดงความคิดเห็นผ่านบทความ “อวสานของเหรียญคริปโต?” ผ่านทางเว็บไซต์ ThaiVI หรือ สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2023 ที่ผ่านมาว่า กระแสความคลั่งไคล้และการเติบโตของคริปโตทุกวันนี้ เป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
กระแสของเหรียญคริปโตนั้น ดูเหมือนว่าจะมาตามการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ที่ทำให้คนทั้งโลกต้องถูก “กักอยู่ในบ้าน” ต้องทำงานและใช้ชีวิตผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ซึ่งก็ทำให้มีเวลาเหลือไปลงทุนเงินที่อาจจะได้รับจากรัฐบาล หรือเงินเก็บที่แทบจะไม่มีดอกเบี้ย และคนก็เริ่มเห็นว่าเหรียญคริปโตนั้นปรับตัวขึ้นเร็วมากเนื่องจากมันมีจำนวนจำกัด และเมื่อราคาขึ้นไป ก็ส่งผลให้คนใหม่เข้าไปลงทุน และดันราคาขึ้นไปอีก ถึงจุดหนึ่งเหรียญที่เป็นที่นิยมเช่นบิทคอยน์ก็ถูก “Corner” ราคาขึ้นจากประมาณ 9,000-10,000 ดอลลาร์ กลายเป็น 3-40,000 เหรียญ ในเวลาเพียง 2-3 เดือน และหลังจากนั้นที่ อีลอน มัสก์ เข้ามาร่วม “เล่น” ราคาก็ขึ้นไปถึง 60,000 เหรียญ ในเวลาเพียง 5-6 เดือน หลังจากนั้น “สตอรี่” หรือเรื่องราวที่มา Support หรือสนับสนุนราคาบิทคอยน์หรือเหรียญคริปโตก็ตามมา รวมถึงการประกาศการสร้าง “เมตาเวอร์ส” ของมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เหรียญ NFT เกิดขึ้น แพล็ทฟอร์มการซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัลเกิดขึ้นทั่วไปในหลาย ๆ ประเทศ ทุกอย่างกลายเป็นทรัพย์สินและธุรกิจที่มีค่ามหาศาล สตาร์ทอัพจำนวนมากกลายเป็น “ยูนิคอร์น” คือมีมูลค่าตลาดของกิจการเกิน 1,000 ล้านเหรียญหรือประมาณ กว่า 30,000 ล้านบาท “ฮีโร่” ที่มักจะอายุน้อยและมีความมั่งคั่งเป็นหมื่นหรือบางคนเป็นแสนล้านบาทเกิดขึ้น พวกเขาเป็น “ไอดอล” ที่ไม่มีวันตกแน่นอน อนาคตยังไปอีกยาวไกล
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร — อวสานของเหรียญคริปโต?
หลังจากที่โรคโควิด-19 เริ่มจะผ่อนคลายลง รวมถึง การมาถึงของ สงครามรัสเซีย-ยูเครน คือ สิ่งที่ส่งผลให้ฟองสบู่ของการเก็งกำไรแตกออก และส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสินทรัพย์คริปโตที่ไม่มีพื้นฐานมารองรับมูลค่าของมัน
เวลาผ่านไป 2 ปี พร้อม ๆ กับโควิด-19 ที่เริ่มจางหายไป และตามมาด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เม็ดเงินทั่วโลกกำลังจะลดลง ซึ่งนั่นทำให้การเก็งกำไรที่ “บ้าคลั่ง” ลดลงตามไปมาก ราคาของสินทรัพย์ที่เคยสูงลิ่วเพราะการเก็งกำไรตกลงมาอย่างหนัก หุ้นโดยเฉพาะในกลุ่มดิจิทัล ตกลงมาแรงกว่า 30% กลายเป็นวิกฤติตลาดหุ้น และแน่นอนว่าเหรียญคริปโตก็หนีไม่พ้น การตกลงมาของเหรียญเหล่านั้นสูงยิ่งกว่าหุ้นมาก เหตุผลหรือ “สตอรี่” ก็คือ ทรัพย์สินดิจิทัลเหล่านั้น “ไม่มีพื้นฐาน” รองรับ มันมีค่าเพราะมีคนต้องการซื้อมัน ถ้าไม่มีคนต้องการ ค่าของมันคือ “ศูนย์” เพราะมันไม่มีการจ่ายปันผล
ราคาบิทคอยน์ที่เป็น “เสาหลัก” ของเหรียญคริปโต ตกลงไปจากจุดสูงสุดกว่า 60,000 เหรียญ เมื่อ 8 เดือนก่อน เหลือเพียงประมาณ 19,200 เหรียญ หรือตกลงไป 70% ราคาเหรียญ Ethereum ซึ่งเป็นเหรียญที่นำมาใช้ได้มากมายและเป็นฐานของเหรียญอื่น ตกลงมาจาก 4,650 เหลือ 1,045 ดอลลาร์ หรือตกลงมา 78% ในเวลาเดียวกัน เหรียญ Terra และ Luna ซึ่งถูกออกแบบให้มีราคาเท่า ๆ กับเงินดอลลาร์ตลอดเวลาที่เรียกว่า Stable Coin นั้น ราคาเหรียญตกลงมาแทบจะเป็นศูนย์เหรียญ เหรียญ “สุนัข” ด็อจคอยน์ที่อีลอนมัสก์เชียร์ ก็ตกลงมาประมาณ 90% เหลือ 0.064 เหรียญ และนี่คือเหรียญที่ไม่ได้ใช้ทำอะไรนอกจากเก็บสะสมไว้เล่น ๆ และเอาไว้เก็งกำไร
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร — อวสานของเหรียญคริปโต?
ดร.นิเวศน์ ยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า กระแสของคริปโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น อาจจะเป็นเพียงการเก็งกำไรอย่างสุดโต่งเท่านั้น
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า กระแสและการปรับตัวขึ้นของคริปโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นเรื่องของการเก็งกำไรที่สุดโต่งในสังคม และเวลานี้กำลังเป็นช่วง “อวสาน” ที่ราคาอาจจะตกลงต่อ หรือไม่กลับมาอีกนาน พร้อม ๆ กับความสนใจในเรื่องเหล่านี้ที่จะจางหายไป แน่นอนว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนก็ยังอยู่และมีประโยชน์ แต่คนจะใช้ในการแก้ปัญหาบางอย่างที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเงินหรือเรื่องของศิลปะที่ของเดิมก็ดีพออยู่แล้ว เป็นต้น
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร — อวสานของเหรียญคริปโต?
“เหรียญทุกชนิดคือชิพคาสิโน”
นอกจากนี้ ในบทความ “เหรียญทุกชนิดคือชิพคาสิโน” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2022 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวากร ยังได้เคยแสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเรื่องของ เหรียญคริปโต เอาไว้ว่า มันเป็นเพียงการ “สร้างสตอรี่” เพื่อทำให้ผู้คนเกิดความสนใจ และ ต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในเหรียญเหล่านี้ เป็นการเปรียบเปรยว่า มันก็เป็นเหมือน ชิพของคาสิโน (คริปโต) ที่ผู้คนต้องซื้อเพื่อที่จะสามารถเข้ามาเล่นในคาสิโน (ตลาดซื้อขายคริปโต) ได้
คำถามก็คือ ถ้า บิทคอยน์ ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแทนทั้งเงินและทอง แล้วมันเป็นอะไรกันแน่ ทำไมจึงมีมูลค่ามหาศาล คำตอบของผม “ในขณะนี้” ก็คือ มันคือเครื่องมือของการเก็งกำไร พูดให้เท่ ๆ ก็คือ “เหรียญ” อย่าง บิทคอยน์ หรือ เหรียญอื่น ๆ รวมถึงเหรียญที่เอาไปใช้ประโยชน์เฉพาะเช่น ไปซื้อหรือรับบริการจากผู้ให้บริการรายอื่นนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็คือเป็นเหรียญที่คน “เอามาเล่นเก็งกำไร” หรือ “เล่นการพนัน” ซึ่งถ้าจะพูดให้เห็นภาพแบบง่าย ๆ ก็คือ เหรียญเหล่านั้นก็คล้าย ๆ กับ “ชิพคาสิโน” ที่คนเข้าไปเล่นการพนันจะต้องซื้อจากคาสิโนเพื่อที่จะเข้าไปเล่น แน่นอนว่าคนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ก็จะขาดทุน บางคนก็อาจจะกำไร แต่คนที่น่าจะกำไรมหาศาลโดยแทบไม่ต้องเสี่ยงก็คือ เจ้าของคาสิโน ซึ่งในความคิดของผมก็คือ “คนที่ผลิตเหรียญดิจิทัล” ให้คนเข้ามาซื้อเพื่อที่จะเล่น เหตุเพราะต้นทุนการผลิตต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของเหรียญที่ตนเองจะได้
คนที่ผลิตเหรียญหรือ “เปิดคาสิโน” นั้น ไม่ทุกรายที่จะทำเงิน ถ้าคนไม่เข้ามาเล่น มา “ซื้อชิพ” ก็ไม่มีรายได้และอาจจะขาดทุนได้ วิธีที่จะทำเงินนั้นจึงอยู่ที่การ “สร้างสตอรี่” ว่าคาสิโนนั้นจะมีคนสนใจเข้าไปเล่นมาก เพราะคนอยากเล่น อยากมีสิทธิพิเศษที่หาได้ยากเช่น เข้าไปเล่นเกม มีสิทธิเข้าชมคอนเสิร์ตพิเศษสุด เข้าไปท่องเที่ยวซื้อของใน “เมตาเวิร์ส” เป็นต้น นี่คือคนที่สนใจอยากทำกิจกรรมจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นคนจำนวนน้อยมาก ไม่พอที่จะทำให้คนเข้าคาสิโนมากและเจ้าของทำกำไรได้ สิ่งที่จะดึงดูดคนทั่วไปจริง ๆ ก็คือ คนที่จะเข้าไปซื้อขายสิทธิหรือเหรียญเหล่านั้นเพื่อ “เก็งกำไร” ยิ่งถ้าคิดว่าจะมีคนสนใจอยากได้เหรียญมาก พวกนักเก็งกำไรก็จะเข้าไปดักซื้อก่อนเพื่อที่จะขายต่อในราคาที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เหรียญหรือชิพที่จะประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็จะต้องสร้างภาพว่าเหรียญจะเป็นที่ต้องการ และราคาเหรียญก็จะต้องปรับตัววิ่งขึ้นโดดเด่น วันเดียวกำไร 10-20% หรือบางทีเป็น 100% เลยก็จะยิ่งดี
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร — เหรียญทุกชนิดคือชิพคาสิโน
ศักยภาพอยู่ที่เทคโนโลยี “บล็อกเชน” ไม่ใช่ “คริปโต”
ดร.นิเวศน์ ยังได้ให้ความคิดเห็นไว้ในรายการ Right Now EP.71 ว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน ที่เป็นพื้นฐานของ เหรียญคริปโต คือสิ่งที่มีศักยภาพเป็นอย่างมาก และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความ เหรียญคริปโตใดๆ ที่สร้างขึ้นมาโดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีคุณค่าเทียบเท่ากัน เนื่องจากในมุมมองของ ดร.นิเวศน์ สิ่งที่สำคัญที่สุดของสกุลเงิน ก็คือความน่าเชื่อถือ ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องยากที่ เหรียญคริปโต จะกลายมาเป็นสื่อกลางในการใช้ชำระเงินในกระแสหลักได้ แต่เหรียญคริปโต ยังอาจจะนำไปใช้ประโยชน์เฉพาะทางบางอย่างได้เป็นอย่างดี เช่น การใช้จ่ายที่ไม่ต้องการให้สามารถระบุที่มาที่ไปของเงินได้ เป็นต้น
ประวัติของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวากร โดยสังเขป
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 3 คน ของครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย ดร.นิเวศน์ ชื่นชอบในการคำนวน และ วิชาคณิตศาสตร์ เป็นอย่างมาก โดยเรียนจบชั้น ม.ต้น (ม.3) จากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม และ ม. ปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และได้สอบเข้า มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล
อย่างไรก็ตาม ดร.นิเวศน์ มองว่า ถ้าเป็นวิศวกร ถึงจะเป็นสาขาอาชีพที่ได้เงินเดือนสูง แต่การทำงานก็จำกัดอยู่แค่เพียงในโรงงาน โอกาสที่จะร่ำรวยมีรายได้สูงๆ นั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก หลังจากที่เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตแล้ว ในระหว่างที่ทำงานอยู่ในโรงงานน้ำตาล จึงได้ตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท MBA ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (NIDA) หลังจบ MBA ดร.นิเวศน์ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าวิศวกร แต่ก็ยังมองว่าตนเองยังไม่ได้ไปไหน อยากจะก้าวหน้าขึ้นไปมากกว่านี้ จึงตัดสินใจที่จะไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกด้านการเงิน ที่มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ สหรัฐอเมริกา
หลังจากเรียนจบ และ ได้กลับมาทำงานที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ IFCT ในปี พ.ศ. 2529 ได้เป็นเวลา 7 ปี ดร.นิเวศน์ ก็ได้ย้ายไปทำงานเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านวานิชธนกิจ ที่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่ตลาดหุ้นรุ่งเรื่องขึ้นมาในปี พ.ศ. 2534 และ ได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น
ในช่วงปี พ.ศ. 2538 – 2539 ดร.นิเวศน์ เริ่มที่จะหันมาศึกษาแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) อย่างจริงจัง ประจวบเหมาะกับการเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในช่วงปี 40 ดร.นิเวศน์ ได้ใช้แนวทางการลงทุนแบบ VI เข้าซื้อหุ้นไทยต่างๆ ในตลาดที่มีราคาถูกเป็นอย่างมาก ทำให้เงินลงทุน “10 ล้านบาท” ได้งอกเงยและทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้นจนมีมูลค่ามากกว่า “1,000 ล้านบาท”
ปัจจุบัน ดร.นิเวศน์ ได้รับการยอมรับว่าเป็น ผู้ที่เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย ทั้งการเขียนหนังสือ “ตีแตก” ซึ่งเป็นหนังสือการลงทุนยอดนิยมของเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึง การเขียนบทความ หรือการบรรยายต่าง ๆ เพื่อให้นักลงทุนเลิกเก็งกำไรแล้วหันมาลงทุนแบบเน้นคุณค่าและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ประกอบในบทความมา ณ ที่นี้
- ภาพประกอบเนื้อหาจากเว็บไซต์ข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ในหัวข้อ คุยเปิดอก “ดร.นิเวศน์” สูตรลงทุนแบบ “มองกระจกหลัง”
- ภาพประกอบเนื้อหาจากเฟสบุ๊ค สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
- คลิปรายการ Right Now Ep.71 ตอน อวสานเหรียญคริปโต บทเรียนเก็งกำไร “บ้าคลั่ง” จากช่อง ถามอีก กับอิก TAM-EIG
- คลิปรายการ เจาะใจ Ep.45 ตอน เจาะชีวิต ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จากลูกคนจีนยากจนสู่เซียนหุ้นระดับหมื่นล้าน จากช่อง JSL Global Media
- เนื้อหาจากบทความ อวสานของเหรียญคริปโต? และ เหรียญทุกชนิดคือชิพคาสิโน จาก เว็บไซต์ ThaiVI
ข้อจำกัดความรับผิด
ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์