Trusted

IPFS คืออะไร? มันทำงานอย่างไร?

12 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

IPFS คือ ระบบไฟล์แบบกระจายศูนย์ โดยการฝากไฟล์แบบ Peer-to-Peer จุดประสงค์เพื่อเริ่มการปฏิวัติอินเทอร์เน็ตครั้งใหม่

แล้ว… IPFS คืออะไร? แล้วอะไรที่เป็นกระแสวนเวียนอยู่รอบตัวพวกมันกัน? เรามาเริ่มกันที่อธิบายในเวอร์ชั่น TL;DR กันเลยดีกว่า (TL;DR หรือ Too Long ; Don’t Read หรือ ยาวไปอย่าไปอ่านมัน)

IPFS (ย่อมาจาก InterPlanetary File System) เป็นโปรโตคอลไฮเปอร์มีเดียแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P) ที่เปิดตัวขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อเริ่มการปฏิวัติอินเทอร์เน็ตครั้งใหม่ มันเป็นระบบแบบกระจายที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ไฟล์ แอพพลิเคชัน และเว็บไซต์ได้ วัตถุประสงค์ที่กว้างมากขึ้นของ IPFS คือการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกที่รับประกันในเรื่องการเชื่อมต่อที่เป็นส่วนตัว ปลอดภัย และต่อต้านการควบคุม

ปัญหาเกี่ยวกับการรวมศูนย์ของเว็บ

IPFS หรือ InterPlanetary File System เป็นระบบไฟล์แบบกระจายศูนย์ แบบ P2P

เพื่อให้เข้าใจถึงวิสัยทัศน์ของ IPFS ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจเกี่ยวกับทุกสิ่งที่ไม่ถูกต้องในโครงสร้างแบบรวมศูนย์ของอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน

หากคุณมาลองคิดดู อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนั้นมีการรวมศูนย์ที่มากกว่าเมื่อ 15–20 ปีก่อนเป็นอย่างมาก มีเพียงบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่แห่งที่ควบคุมปริมาณการเข้าใช้งานและข้อมูลต่างๆ ในระดับโลกอย่างไม่สมส่วน

อันที่จริง สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและอาชีพของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก ผลกระทบจากการผูกขาดที่โจ่งแจ้งนั้นค่อนข้างที่จะร้ายแรง ตัวอย่างเช่น เรามักจะพบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Google หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Twitter, Instagram และ Facebook มีการละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูล หรือหมกมุ่นอยู่กับการดำเนินธุรกิจที่ผิดจรรยาบรรณเพื่อเรียกรับค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้งาน

นอกจากนี้ เซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ที่โฮสต์(จัดเก็บ)ข้อมูลจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นและมีการแชร์อยู่ในทุกๆ วัน (รวมถึง รูปภาพ วิดีโอ เอกสาร และไฟล์อื่นๆ ของคุณ) ถูกควบคุมโดยบริษัทเพียงจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึง Amazon, Google, IBM และ Microsoft จะเกิดอะไรขึ้นหากเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทเหล่านี้อย่างน้อยแห่งเกิดปัญหาขึ้นและหยุดการทำงานไป? หรือจะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเขาสูญเสียการควบคุมข้อมูลผู้ใช้งานจากการโจมตีช่องโหว่ทางความปลอดภัยครั้งใหญ่?

รัฐบาลก็ยังสามารถควบคุมข้อมูล หรือแม้แต่ปิดแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตใดๆ ได้อย่างง่ายดาย หากพวกเขาเห็นว่ามันจำเป็น อย่างที่เราเคยได้เห็นการเข้าควบคุมของรัฐบาลต่อแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตต่างๆ หลายต่อหลายครั้งในหลายๆ ส่วนของโลก

ที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เหล่านี้คือโครงสร้างแบบรวมศูนย์ของอินเทอร์เน็ตนั่นเอง และนั่นเป็นสาเหตุที่ IPFS ถือกำเนิดขึ้นมาและมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในทันที

IPFS คืออะไร?

InterPlanetary Filing System (IPFS) เป็นโปรโตคอลไฮเปอร์มีเดีย P2Pp ที่สร้างโดย Protocol Labs มันเป็นบริการกระจายอำนาจที่ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบกระจายอย่างกว้างขวางเพื่อโฮสต์เนื้อหา

เนื้อหาที่สามารถโฮสต์ได้มีอยู่หลายประเภทและหมวดหมู่ ซึ่งรวมไปถึง ฐานข้อมูล เว็บไซต์ ไฟล์มีเดีย เอกสาร และแอพ คุณสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่จัดเก็บไว้ในเครือข่าย IPFS ได้โดยป้อน “ลิงก์” ลงไป ที่จริงแล้ว กระบวนการในการเข้าถึงเนื้อหานั้นเกือบจะเหมือนกับวิธีที่คุณเข้าถึงหน้าเว็บโดยป้อน URL ของหน้าเว็บนั้นๆ

คล้ายกับวิธีการที่เครือข่ายบล็อกเชนใช้โหนดเพื่อดึงพลังการประมวลผลที่จำเป็นในการตรวจสอบข้อมูล IPFS จะใช้งานโหนดหลายแสนโหนดที่เสนอแบนด์วิดธ์การจัดเก็บข้อมูลสำหรับเครือข่ายเพื่อจัดเก็บข้อมูลต่างๆ

สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ โหนดคือระบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่รวมตัวกันเป็นเครือข่าย IPFS ดังนั้น IPFS จึงสามารถทำทุกอย่างที่แพลตฟอร์ม Web2 แบบรวมศูนย์สามารถทำได้ แต่ไม่ต้องการการจัดเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์

ทำไมถึงต้องใช้ IPFS?

IPFS จะถูกใช้เก็บไฟล์สำหรับบล็อกเชน เลยเป็นที่นิยม

Protocol Labs บริษัทที่อยู่เบื้องหลัง IPFS ให้คำมั่นสัญญาว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถส่งมอบประสิทธิภาพที่เหนือกว่าในด้านดังต่อไปนี้:

ความเร็ว

ในปัจจุบัน Hypertext Transfer Protocol (HTTP) เป็นรูปแบบมาตรฐานของโปรโตคอลการแลกเปลี่ยนข้อมูลในโครงสร้างพื้นฐานระหว่าง Client – Server โปรโตคอล HTTP จะทำหน้าที่นำคุณไปยังตำแหน่งเดียว — ซึ่งมักจะเป็นเซิร์ฟเวอร์เดี่ยว — เท่านั้น ในทางกลับกัน โมเดล P2P ของ IPFS จะช่วยให้คุณสามารถดึงเนื้อหาที่แตกต่างกันจากหลายโหนด (หรือระบบคอมพิวเตอร์) ได้พร้อมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดแบนด์วิดท์เป็นอย่างมาก จึงเหมือนเป็นการรับประกันการเชื่อมต่อที่เร็วยิ่งขึ้น

การกระจายอำนาจ

ในปัจจุบันนี้ บริษัทต่างๆ เช่น Amazon Web Services หรือ Google Cloud นั้นเป็นเจ้าของข้อมูลใดๆ ที่เราสมัครใจเลือกที่จะจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นเอาไว้ใน Webserver ของพวกเขา พวกเขาสามารถบล็อกคุณออกจากแพลตฟอร์มได้ตามที่ต้องการและสามารถจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาของคุณเองได้

พวกเขายังคงต้องทำตามคำสั่งจากรัฐบาลและปิดกั้นคุณได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น อิหร่านและจีน ในทางตรงกันข้าม โมเดล P2P ในเครือข่าย IPFS จะช่วยคุณให้มั่นใจได้ถึงการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ถึงความพร้อมใช้งานของข้อมูลโดยไม่ต้องคำนึงถึงความพยายามใดๆ ในการถูกควบคุมโดยหน่วยงานใดๆ ก็ตาม

ความปลอดภัยของ InterPlanetary Filing System

IFPS มีการใช้งาน 2 มาตรการเพื่อให้แน่ใจว่าเหล่าผู้ไม่ประสงค์ดีจะไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลหรือไฟล์ใดๆ ในเครือข่ายได้

  • ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดที่อัพโหลดไปยังโหนดบนเครือข่ายได้
  • แฮชจะถูกกำหนดให้กับแต่ละไฟล์ แฮชก็เป็นเหมือนลายนิ้วมือเฉพาะสำหรับไฟล์นั้นเท่านั้น คุณสามารถเปรียบเทียบแฮชที่คุณค้นหากับรหัสแฮชที่คุณได้รับเพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้รับไฟล์ที่ถูกต้อง

โมเดลการกระจายอำนาจพื้นฐานนี้ยังหมายความว่า แฮ็กเกอร์จะไม่มีจุดโฟกัสในการโจมตีของพวกเขา

ประสิทธิภาพของ IPFS

การเน้นย้ำเรื่องการกระจายอำนาจในโปรโตคอล IPFS รับประกันถึงผลประโยชน์ที่เราเคยมีอยู่ก่อนหน้านี้ในแพลตฟอร์ม P2P รุ่นก่อนๆ เช่น BitTorrent โหนดแต่ละโหนดในเครือข่ายจะเก็บสำเนาของไฟล์ไว้ จากนั้น พวกเขาจะส่งข้อมูลเหล่านี้ตามคำขอสำหรับแฮชที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นรหัสระบุตำแหน่งเฉพาะสำหรับไฟล์นั้นๆ กระบวนการนี้คล้ายกับการ “Seed” ของไฟล์ทอร์เรนต์ (รายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง)

คุณต้องทราบด้วยว่า เมื่ออัพโหลดไฟล์บน IPFS เป็นครั้งแรก เครือข่ายจะสร้างสำเนาไฟล์เพียงหนึ่งชุดพร้อมกับแฮชหนึ่งชุด ซึ่งจะรับประกันได้ว่า ปริมาณข้อมูลที่ต้องมีการประมวลผลนั้นจะค่อนข้างน้อยกว่ามาก ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่จัดเก็บน้อยลง นอกจากนี้ ประสิทธิภาพที่เหนือกว่านี้หมายความว่า IPFS สามารถทำได้ด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่คุณภาพ (ค่อนข้าง) ต่ำ ซึ่งทำให้เครือข่ายสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้างมากขึ้น

IPFS ทำงานอย่างไร?

InterPlanetary Filing System จะเข้ามาอัพเดตวิธีการทำงานของระบบเว็บแบบเก่า

เมื่อคุณอัพโหลดไฟล์ไปยัง IPFS เครือข่ายจะแยกไฟล์ออกเป็นชิ้นเล็กๆ และกระจายไปยังคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง (โหนด) ทุกชิ้นส่วนของไฟล์นั้นสามารถถูกจดจำได้ด้วยแฮชเดี่ยว แฮชจะช่วยให้เครือข่ายระบุโหนดที่มีส่วนต่างๆ ของไฟล์ที่สอดคล้องกับแฮชนั้นๆ ได้

ตอนนี้ หากคุณต้องการเข้าถึงและเรียกไฟล์นั้นๆ สิ่งที่คุณต้องทำคือป้อนแฮชบนเว็บเบราว์เซอร์สามารถใช้งานได้ เช่น Brave Browser หรือ Opera กระบวนการนี้คล้ายกับที่คุณเข้าถึงหน้าเว็บปกติโดยป้อนที่อยู่ (URL) ในเว็บเบราว์เซอร์

เมื่อระบุแล้ว IPFS จะขอให้โหนดทั้งหมดส่งชิ้นส่วนของไฟล์ที่มีอยู่ส่งผ่านมาทางการเชื่อมต่อ P2P

โปรดทราบว่า เช่นเดียวกับเครือข่ายบล็อกเชนทั่วไปของคุณ IPFS นั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่าเนื้อหาของไฟล์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะหากคุณยุ่งเกี่ยวกับหรือแก้ไขไฟล์และเนื้อหาของไฟล์ แฮชของไฟล์ก็จะเปลี่ยนโดยอัตโนมัติเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายมีระบบการกำหนดเวอร์ชันเพื่อกำจัดผลข้างเคียงจากปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้นี้ ซึ่งช่วยให้คุณสามารถเพิ่มไฟล์เวอร์ชันใหม่และเชื่อมต่อกับเวอร์ชันก่อนหน้าได้ คุณลักษณะนี้จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าประวัติทั้งหมดของไฟล์นั้นยังคงไม่เสียหายและสามารถเข้าถึงได้

IPFS เก็บข้อมูลอย่างไร? และ IPFS Object คืออะไร?

IPFS แบ่งไฟล์ขนาดใหญ่ออกเป็นส่วนๆ ขนาด 256 KB เรียกว่า IPFS Objects แต่ละ IPFS Object ของไฟล์จะมีลิงก์ไปยัง IPFS Objects อื่นๆ ทั้งหมดที่สอดคล้องกับไฟล์นั้นๆ

รหัสแฮชที่เชื่อมโยงกับไฟล์จะมีความยาว 24 อักขระ และจะเรียกว่า Content ID (CID) เมื่อคุณดึงข้อมูลไฟล์ เครือข่ายจะตรวจสอบแฮชเพื่อยืนยันความสมบูรณ์ของไฟล์ หากการตรวจสอบแฮชล้มเหลว แสดงว่ามีคนแก้ไขไฟล์

สมมติว่าคุณได้อัพโหลดไฟล์ไปยังเครือข่าย IPFS จากโหนดของคุณ หลังจากนั้นไม่นาน ผู้ใช้งานรายอื่นที่ชื่อ Alice ร้องขอและดาวน์โหลดมันลงในคอมพิวเตอร์ (โหนด) หลังจากเวลาผ่านไป ผู้ใช้งานอีกรายที่ชื่อ Bob ขอไฟล์เดียวกัน ตอนนี้ Bob สามารถดึงไฟล์จากโหนดของคุณ หรือจากของ Alice หรือจากคุณทั้งคู่ได้ จำนวนการดาวน์โหลดที่สูงขึ้น โหนดก็จะพร้อมใช้งานมากขึ้นในการช่วยคำร้องขอในการดาวน์โหลดในครั้งต่อๆ ไป

เครือข่ายจะลบแคชของ IPFS Objects จากโหนดเป็นระยะๆ คุณสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้มันเกิดขึ้นได้โดยการปักหมุดไฟล์เพื่อเก็บไว้ในโหนดของคุณอย่างถาวร

คุณยังสามารถสมัครใช้งานแพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ที่เข้ากันได้กับ IPFS และทำให้ข้อมูลของคุณพร้อมใช้งานในเครือข่าย IPFS ได้ ด้วยวิธีนี้ คุณสามารถเก็บข้อมูลของคุณไว้ได้อย่างถาวร แพลตฟอร์มการจัดเก็บข้อมูลหลายแพลตฟอร์มก็มีการนำเสนอบริการนี้

วิธีใช้งาน IPFS

ช่วยให้เราเข้าโลกอินเตอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเซิฟเวอร์

เบราว์เซอร์บางตัวรวมถึง Brave Browser และ Opera รองรับการท่องเว็บด้วย IPFS ด้วย Brave และ Opera คุณสามารถวางลิงก์ IPFS (CID) ลงในแถบที่อยู่เพื่อไปยังไซต์หรือไฟล์ที่คุณต้องการได้โดยตรง ในขณะเดียวกัน เบราว์เซอร์อื่นๆ อาจจะต้องมีส่วนเสริมเพื่อที่จะสามารถใช้งานในรูปแบบเดียวกันได้

มันเป็นที่น่าสังเกตว่า Brave Browser ให้คุณเข้าถึงเนื้อหา IPFS ผ่านโหนดในพื้นที่ของคุณเองหรือเกตเวย์สาธารณะ ตัวเลือกแรกนั้นเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบเนื้อหาภายในเครื่อง

หากคุณใช้งานเบราว์เซอร์อื่นๆ เช่น Google Chrome หรือ Mozilla Firefox คุณสามารถเข้าถึงเนื้อหา IPFS ผ่านเกตเวย์สาธารณะได้ เช่น Cloudflare-IPFS, IPFS.io หรือเกตเวย์ทางเลือกอื่นๆ ที่แสดงอยู่ที่นี่

วิธีเรียกใช้งานโหนด IPFS

หากคุณต้องการเรียกใช้โหนด IPFS ของคุณเอง วิธีที่ง่ายที่สุดคือการสร้าง IPFS Desktop ของตัวคุณเอง นั่นคือชุดซอฟต์แวร์อย่างเป็นทางการที่พัฒนาโดย Protocol Labs และพร้อมใช้งานบนแพลตฟอร์มระบบปฏิบัติการหลักๆ ทั้งหมด ซึ่งรวมถึง Windows, Mac และ Ubuntu

IPFS Desktop ค่อนข้างตรงไปตรงมาในการใช้งาน และมาพร้อมกับบทช่วยสอนมากมายสำหรับผู้ใช้งานใหม่อีกด้วย ด้วยชุดซอฟต์แวร์ คุณสามารถอัพโหลดไฟล์ใดๆ ไปยังเครือข่าย IPFS ได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ มันยังมี Add-on ของเบราว์เซอร์ (IPFS Companion) ที่ให้คุณติดต่อกับ IPFS Desktop และโหนดของคุณได้โดยตรงจากเบราว์เซอร์ของคุณ Add-on นี้สามารถใช้งานได้กับ Chrome, Edge, Firefox, Brave และ Opera

การใช้งาน IPFS และข้อจำกัด

การใช้งาน IPFS นั้นรวมไปถึง:

  • มันเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงไฟล์ (เว็บไซต์, วิดีโอ, รูปภาพ, งานวิจัย, บทความ, ฯลฯ) จากทุกที่โดยไม่ต้องพึ่งพา 3rd Party ที่เป็นแบบรวมศูนย์ การมุ่งเน้นที่การกระจายอำนาจนี้ทำให้เครือข่ายเร็วขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และปลอดภัยยิ่งขึ้น
  • ผู้ใช้งานมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับผลกระทบจากการควบคุมเนื้อหา เนื่องจากคุณจะสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยตรงจากแหล่งที่มาได้ (ผ่านการเชื่อมต่อ P2P) คุณจึงสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกควบคุมหรือถูกบล็อกไว้ในเครื่องได้
  • IFPS จะให้บริการการเชื่อมต่อที่รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้นในสถานที่ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างแย่

ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์ต่างๆ มากมาย แต่มันก็มีบางประเด็นที่ IPFS จำเป็นจะต้องปรับปรุงในไม่ช้าก็เร็ว

ตัวอย่างเช่น ไม่มีตัวเลือกในการค้นหาเนื้อหา ขณะที่เขียนบทความนี้ IPFS ไม่มีเครื่องมือค้นหาที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ซึ่งช่วยให้คุณใช้เพื่อค้นหาเนื้อหาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในปัจจุบัน IPFS เป็นเหมือนอินเทอร์เน็ตที่ไม่มี Google (หรือ Bing หรือ DuckDuckGo หรือเครื่องมือค้นหาใดๆ สำหรับเนื้อหาเฉพาะทางต่างๆ)

ในทำนองเดียวกัน การกระจายอำนาจก็สามารถเป็นดาบสองคมได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณมองว่าการไม่มีกฎระเบียบนั้นเป็นปัญหาสำคัญ ถ้าจะให้พุดอย่างเป็นธรรม มันก็เป็นปัญหาอย่างแท้จริง เมื่อพิจารณาว่า จนถึงขณะนี้ IPFS ยังไม่มีกลไกใดๆ ในการควบคุมเนื้อหาที่อาจจะเป็นอันตราย โดยที่เนื้อหาที่เป็นอันตรายอาจจะหมายถึงอะไรก็ได้ เช่น เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง ข่าวปลอม ภาพอนาจารเด็ก การละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ หากแพลตฟอร์มเป็นดั่ง “บ้านป่าเมืองเถื่อน” คุณก็คงจะเห็นด้วยว่า องค์ประกอบที่มีความเสี่ยงบางอย่างมันอาจจะซุ่มซ่อนตัวอยู่ที่นั่นอย่างแน่นอน

เราจึงพูดได้ว่า หาก Protocol Labs พบวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้เร็วพอ IPFS อาจจะกลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนทัศน์ Web3 ที่ถือกำเนิดขึ้นใหม่และเป็นผู้บุกเบิกยุคใหม่สำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

คำถามที่พบบ่อย

IPFS คืออะไร?

IPFS สามารถถูกแฮ็กได้หรือไม่?

IPFS เป็นฐานข้อมูลหรือไม่?

พื้นที่เก็บข้อมูล IPFS ฟรีหรือไม่?

วัตถุประสงค์ของ IPFS คืออะไร?

IPFS เป็นบล็อกเชนหรือไม่?

🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน