Slippage คือ การซื้อหรือขายสินทรัพย์ในราคาที่แตกต่างไปจากที่ได้ตั้งใจไว้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ส่งผลให้ได้รับราคาที่แตกต่างกัน
Cryptocurrency นั้นอาจจะเป็นหนึ่งในโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุดของศตวรรษ แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน Cryptocurrency นั้นเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ราคาเต็มไปด้วยความผันผวน กองทัพของแฮกเกอร์และนักต้มตุ๋นกำลังจดๆ จ้องๆ มองหาช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่จะทำให้พวกเขาขโมยเงินออกไปได้
และฤดูหนาวคริปโตในปี 2022 ก็ได้แสดงให้เห็นว่าจุดอ่อนเชิงโครงสร้างที่สำคัญยังคงอยู่ในระบบนิเวศทางการเงินของ Crypto เอง Crypto Slippage ก็เป็นอีกหนึ่งความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ที่คุณต้องระวัง หากนักเทรด/นักลงทุนไม่ระมัดระวัง พวกเขาอาจจะต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียครั้งใหญ่จาก Crypto Slippage ได้เมื่อเวลาผ่านไป แล้ว Slippage คืออะไร? และเราจะหลีกเลี่ยงมันได้อย่างไร?
Slippage ใน Crypto คืออะไร?
Slippage (ความคลาดเคลื่อน) นั้นเกิดขึ้นเมื่อนักเทรดจบลงด้วยการซื้อหรือขายสินทรัพย์ในราคาที่แตกต่างไปจากที่ได้ตั้งใจไว้ ตลาดนั้นมีความเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เงื่อนไขอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างเวลาที่คำสั่งถูกส่งเข้าสู่ตลาดและเมื่อคำสั่งได้มีการดำเนินการจริง ส่งผลให้นักเทรดได้รับราคาที่แตกต่างกัน
Slippage สามารถเป็นได้ทั้งแง่บวกหรือแง่ลบ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แม้ว่านักเทรดอาจจะได้รับราคาน้อยกว่าที่คาดเอาไว้ พวกเขาก็อาจจะได้ราคาที่ดีกว่าเช่นกัน
Slippage จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประเภทของคำสั่งซื้อขายในตลาด หากนักเทรดส่ง Limit Order พวกเขาตกลงที่จะซื้อหรือขายในจำนวนที่กำหนดในราคาที่กำหนดซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของสภาพคล่อง
ข้อดีของ Limit Order คือรับประกันว่าจะไม่มีการ Slippage ข้อเสียคือมันอาจจะใช้เวลานานกว่าเดิมที่จะได้รับการเติมเต็ม Limit Order หรืออาจจะไม่ได้รับเลย Slippage จะเกิดขึ้นเมื่อนักเทรดพยายามที่จะซื้อและขายสินทรัพย์ด้วยราคาตลาดที่เป็นอยู่ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ โดยการส่ง Market Order
ความผันผวนและสภาพคล่องที่ต่ำ 2 ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เกิด Slippage
Slippage สามารถเกิดขึ้นได้ในการซื้อขายของสินทรัพย์ทุกประเภท แต่เกิดขึ้นมากเป็นพิเศษใน Crypto เนื่องจากมันเป็นกลุ่มสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงและมักจะมีสภาพคล่องที่ต่ำมาก อันที่จริง ความผันผวนและการขาดสภาพคล่องเป็น 2 สาเหตุหลักของการ Slippage มาดูกันดีกว่าว่าทำไม
ความผันผวน
นักเทรดอาจจะส่ง Order โดยคาดหวังในราคาที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ในตลาดที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ราคาอาจจะมีการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญระหว่างช่วงเวลาที่นักเทรดส่งคำสั่งซื้อขายและช่วงเวลาที่คำสั่งซื้อขายได้ถูกดำเนินการ
สภาพคล่องที่เบาบาง
ลองนึกภาพว่านักเทรดต้องการซื้อหรือขาย Cryptocurrency ในราคาหนึ่ง มันอาจจะมีสภาพคล่องไม่เพียงพอในด้านตรงข้ามกับการซื้อขายในราคานี้เพื่อดำเนินการตามคำสั่งให้เสร็จสิ้น เพื่อให้คำสั่งเสร็จสมบูรณ์ การซื้อขายจะต้องดำเนินการในราคาซึ่งมันมีสภาพคล่อง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาแตกต่างอย่างมากจากที่นักเทรดได้คาดเอาไว้
Slippage มันทำงานอย่างไร? นี่คือตัวอย่าง
หลังจากที่ได้เห็นข้อเสนอ Bitcoin ที่ 20,000 ดอลลาร์ในกระดานเทรด นักเทรดก็ต้องการที่จะซื้อ 1 Bitcoin พวกเขาทำการส่งคำสั่งซื้อเพื่อซื้อ 1 Bitcoin ที่ราคาตลาด หลังจากเกิดดีเลย์เล็กน้อย นักเทรดตระหนักได้ว่าพวกเขาต้องจ่ายเงิน 20,050 ดอลลาร์สำหรับ 1 Bitcoin ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย นี่คือตัวอย่างของ Negative Slippage (การคลาดเคลื่อนในเชิงลบ)
Slippage นั้นอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากมีสภาพคล่องในกระดานเทรดไม่เพียงพอสำหรับพวกเขาที่จะซื้อ Bitcoin ทั้งหมดเป็นเงิน 20,000 ดอลลาร์ บางทีคำสั่งซื้อของนักเทรดอาจจะรับเอาคำสั่งขายทั้งหมดที่ 20,000 ดอลลาร์ จากนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องไปที่คำสั่งขายที่ราคาที่สูงขึ้นเพื่อหาสภาพคล่อง
บางทีระหว่างช่วงเวลาที่ส่งคำสั่งซื้อและดำเนินการ สภาวะตลาดอาจจะมีการเปลี่ยนไป กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ซื้อ Bitcoin รายอื่นอาจจะสามารถดึงสภาพคล่องที่ราคา 20,000 ดอลลาร์ได้ก่อน หรือไม่ก็ผู้ขายที่ราคา 20,000 ดอลลาร์ได้ลดข้อเสนอของพวกเขาลงอย่างกระทันหัน หากนักเทรดได้รับ 1 Bitcoin ในราคาต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์ นั่นอาจจะเป็นการ Positive Slippage (การคลาดเคลื่อนในเชิงบวก) ข้อเสนอที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างกะทันหันในราคาที่ต่ำกว่าเล็กน้อยสามารถอธิบายการเกิด Positive Slippage ได้
ลองนึกถึงสถานการณ์ที่กลับกัน นักเทรดเห็นราคาของ Bitcoin ที่ 20,000 ดอลลาร์ และต้องการขาย 1 Bitcoin ในราคาตลาด หากพวกเขาได้รับมากกว่า 20,000 ดอลลาร์ มันก็จะเป็นการแสดง Positive Slippage และในทางกลับกัน
จะคำนวน Slippage ได้อย่างไร?
Slippage สามารถแสดงได้เป็นจำนวนเงินเล็กน้อย (เช่น สกุลเงิน) หรือเป็นเปอร์เซ็นต์ ในตัวอย่างข้างต้น ที่นักเทรดคาดว่าจะซื้อ 1 Bitcoin ในราคา 20,000 ดอลลาร์ แต่จบลงด้วยการจ่ายเงิน 20,050 ดอลลาร์ Slippage คือ -$50 ในแง่ของเปอร์เซ็นต์ นักเทรดจบลงด้วยการจ่ายเงิน (-$50/$20,000)*100 = -0.25%
Slippage Tolerance คืออะไร?
แพลตฟอร์มการซื้อขายจำนวนมาก — รวมถึงกระดานเทรด Cryptocurrency แบบกระจายอำนาจและแบบรวมศูนย์ — จะอนุญาตให้นักเทรดตั้งค่าว่า ความคลาดเคลื่อน (Slippage) มากน้อยเพียงใดที่พวกเขาจะสามารถยอมรับ (Tolerance) ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขาอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมตลาดป้องกันไม่ให้คำสั่งซื้อขายใดๆ มีการดำเนินการหาก Slippage สูงกว่าเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด
คำจำกัดความของ Slippage Tolerance คือความแตกต่างของราคาระหว่างราคาที่นักเทรดคาดหวังเมื่อส่งคำสั่งซื้อและราคาที่พวกเขายินดีที่จะยอมรับเมื่อดำเนินการซื้อขาย โดยทั่วไปแล้ว แพลตฟอร์มการซื้อขายจะแสดงค่า Slippage Tolerance เป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด
Slippage บน DEX
กระดานเทรดแบบกระจายอำนาจ (DEX) มีข้อได้เปรียบที่สำคัญเหนือคู่แข่ง [แบบรวมศูนย์] ของพวกเขา การซื้อขายบน DEX นั้นไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ KYC (Know Your Customer) ซึ่งแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ ที่เป็นแบบรวมศูนย์
แต่ข้อเสียใหญ่ประการหนึ่งเมื่อเทียบกับกระดานเทรด Cryptocurrency แบบดั้งเดิมคือ DEX มักจะต้องเผชิญกับ Slippage ที่เลวร้ายกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
สัญญาอัจฉริยะนั้นเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการซื้อขายบน DEX ซึ่งหมายความว่า — ไม่เหมือนกับกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ — การซื้อขายบน DEX จะไม่ถูกดำเนินการในทันที แต่จะมีดีเลย์เนื่องจากการซื้อขายจะต้องได้รับการประมวลผลบนบล็อกเชน เช่นเดียวกับธุรกรรมบล็อกเชนใดๆ
ดีเลย์ที่ยาวนานขึ้นระหว่างการยืนยันธุรกรรมและการดำเนินการธุรกรรม หมายความว่าจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิด Slippage ขึ้น
การคำนวณ Slippage บน DEX จะเหมือนกับบนแพลตฟอร์มการซื้อขายอื่นๆ ทุกประการ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณต้องการซื้อ ETH มูลค่า 500 USDC Uniswap จะแสดงราคาที่คาดหวังไว้เป็น ETH Uniswap จะอนุญาตให้คุณตั้งค่า Slippage Tolerance ได้และจะแสดงผลลัพท์ของ ETH ที่คาดหวังไว้เป็นจำนวนขั้นต่ำหาก Slippage ถึงค่าสูงสุด
วิธีการหลีกเลี่ยง Slippage บน DEXs
ต่อไปนี้คือวิธีการบางอย่างที่ช่วยให้นักเทรดหลีกเลี่ยง Slippage บน DEX ได้
จ่ายค่าแก๊สเพิ่มขึ้น
ในการทำธุรกรรมบนเครือข่ายบล็อกเชนเช่น ethereum ผู้ใช้งานจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ตรวจสอบเครือข่าย สิ่งนี้เรียกว่า “ค่าแก๊ส” ซึ่งมันจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ตรวจสอบเครือข่ายเพื่อ 1) ล็อก Crypto ของพวกเขาไว้เพื่อรักษาความปลอดภัยเครือข่าย (เช่นในกรณีของบล็อกเชนแบบ Proof-of-Stake) หรือ 2) ให้พลังการประมวลผลเพื่อรักษาความปลอดภัยเครือข่าย (เช่น ในกรณีของบล็อกเชนแบบ Proof-of-Work) เมื่อผู้ใช้งานส่งธุรกรรมไปยังบล็อกเชน มันจะเข้าร่วมคิวของธุรกรรมอื่นๆ ที่รอการตรวจสอบอยู่
เพื่อลดปัญหาของการ Slippage บนกระดานเทรดแบบกระจายอำนาจ นักเทรดสามารถทำตามขั้นตอนเพื่อเร่งความเร็วในการดำเนินการธุรกรรมของตนให้เร็วขึ้นได้ เพื่อที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาสามารถเลือกที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่สูงขึ้นได้ (ค่าแก๊ส) เพื่อให้ธุรกรรมของพวกเขาถูกเลื่อนคิวต่อไปข้างหน้า นักเทรดสามารถใช้งานเว็บไซต์เช่น Etherscan เพื่อดูว่าต้องจ่ายค่าแก๊สเท่าใดจึงจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการทำธุรกรรมก่อน
ทำการซื้อขายบน DEX แบบ Layer 2
ปัจจุบัน DEX ส่วนใหญ่ทำงานบนเครือข่ายบล็อกเชน Layer 1 ตัวอย่างเช่น การซื้อขายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบน Uniswap นั้นขับเคลื่อนโดยเครือข่าย Ethereum โดยตรง เมื่อเครือข่าย Ethereum แออัด มันก็จะทำให้การซื้อขายเหล่านี้ช้าลงและทำให้ความเสี่ยงของการ Slippage ย่ำแย่ยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เครือข่าย Layer 1 เช่น Ethereum ยังมีบล็อกเชน “โซลูชั่นการปรับขนาด” หนึ่งในตัวอย่างที่รู้จักกันดีที่สุดคือ Polygon ซึ่งเป็น sidechain ซึ่งทำงานขนานกับ Ethereum ธุรกรรมจะได้รับการประมวลผลอย่างรวดเร็วบนเครือข่ายดังกล่าว เนื่องจากการประมวลผลไม่ได้เกิดขึ้นบนเครือข่ายหลัก Polygon นั้นเป็นตัวอย่างของโปรโตคอล “Layer 2”
ดังนั้น นักเทรดสามารถเลือกที่จะใช้ DEX แบบ Layer 2 ได้ ซึ่งหมายถึงการทำธุรกรรมที่เร็วขึ้น ความเสี่ยงในการ Slippage ที่น้อยลง และค่าแก๊สที่ต่ำลง นักเทรดสามารถใช้กระดานเทรดเช่น Quickswap ซึ่งสร้างขึ้นโดย Polygon
อีกทั้ง — ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความนี้ — นักเทรดสามารถปรับค่า Slippage Tolerance บน DEX ส่วนใหญ่ได้ Slippage Tolerance ที่ต่ำอาจจะป้องกันการซื้อขายจากการเติมเต็ม แต่มันก็จะป้องกันการสูญเสียครั้งใหญ่ที่ไม่คาดคิดอันเป็นผลมาจากการ Slippage ได้
วิธีการลด Slippage บน CEXs
เช่นเดียวกับ DEX นักเทรดยังสามารถลดการ Slippage บนแพลตฟอร์มการซื้อขายแบบดั้งเดิมเช่น CEX ได้
ใช้ Limit Order
เมื่อทำการซื้อขายในกระดานเทรด Cryptocurrency แบบรวมศูนย์/แบบดั้งเดิม นักเทรดสามารถใช้ขั้นตอนอื่นๆ ผสมผสานกันเพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียอันเป็นผลมาจากการ Slippage ได้ ประการแรก นักเทรดสามารถใช้ Limit Order แทนที่จะซื้อที่ราคาตลาดได้ ตามที่อธิบายไว้ก่อนหน้าในบทความ Limit Order มีความเสี่ยงที่จะไม่ถูกเติมเต็ม แต่ในขณะเดียวกัน มันก็จะไม่เกิด Slippage
ทำการซื้อขายในช่วงที่มีความผันผวนต่ำ
นักลงทุนสามารถเลือกซื้อขายได้ในบางช่วงเวลาของวัน ซึ่งไม่เกิดความผันผวนมากนัก ตัวอย่างเช่น หลีกเลี่ยงการซื้อขายในช่วงเวลาที่ข้ามจากยุโรปไปยังสหรัฐฯ หรือในช่วงเวลาที่ตลาดสหรัฐฯ เปิด ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการซื้อขายในช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในตลาด (เช่น การเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญหรือเหตุการณ์ของธนาคารกลาง)
ซอยย่อยการซื้อขายขนาดใหญ่
หากนักเทรดต้องการซื้อหรือขาย Cryptocurrency ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะขนาดที่ขับเคลื่อนตลาดได้ เคล็ดลับอีกประการหนึ่งก็คือการแบ่งธุรกรรมออกเป็นธุรกรรมย่อยๆ การแบ่งการซื้อขายขนาดใหญ่ออกเป็นขนาดย่อยๆ นักเทรดสามารถลดผลกระทบต่อตลาดและการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากการ Slippage ได้
นักลงทุน Crypto ควรจะกังวลเกี่ยวกับ Slippage มากแค่ไหน?
การเข้าใจว่า Slippage ใน Crypto คืออะไรและวิธีการที่จะลดความเสี่ยงเหล่านั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์สำหรับผู้เข้าร่วมตลาดทั้งหมด แต่บางคนต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่าคนอื่น
สำหรับนักลงทุนคริปโตรายย่อยที่ทำธุรกรรมบนพื้นฐานที่ไม่สม่ำเสมอและต้องการถือครอง Crypto ไว้เป็นเวลานาน มันอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญหาก Slippage ของพวกเขาคือ -0.5% แทนที่จะเป็น -0.25% จำนวนเล็กน้อยนี้ (น่า) จะหายไปเมื่อเทียบกับผลตอบแทนระยะยาวของการลงทุน
สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ การขาดทุน -0.25% ถึง -0.5% อาจจะเป็นจำนวนเงินค่อนข้างมาก ดังนั้น มันอาจจะคุ้มค่าในการพยายามที่จะลด Slippage ให้เหลือน้อยที่สุด
ในขณะเดียวกัน นักเทรด Cryptocurrency ที่ทำธุรกรรมบ่อยครั้ง (นักเทรดรายวันและนักเก็งกำไร) ก็ควรจะทำทุกขั้นตอนที่ทำได้เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจาก Slippage การสูญเสีย -0.25% หลายๆ ครั้งต่อวันสามารถทำให้ผลกำไรของคุณลดลงได้อย่างรวดเร็ว
คำถามที่พบบ่อย
Slippage มีความสำคัญใน Crypto หรือไม่?
คุณจะหยุดการ Slippage ใน Crypto ได้อย่างไร?
Slippage Tolerance ของฉันควรจะเป็นเท่าไหร่?
Slippage มีผลต่อราคาหรือไม่?
Crypto Slippage คืออะไร?
คุณวัด Slippage Tolerance ได้อย่างไร?
ข้อจำกัดความรับผิด
ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์