Trusted

สรุปเงื่อนไข ดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท ใครมีสิทธิ์ได้ ได้วันไหน เช็คเลย

5 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนึ่งในเรื่องที่เป็นกระแสที่ผู้คนพูดถึงกันเป็นอย่างมากคือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยจัดทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีเงื่อนไขใดๆ บ้างที่จะได้รับเงินจากโครงการนี้ วันนี้ เราจะมาดูรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องนี้กัน

โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทย (ผู้ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน) ได้หาเสียงเอาไว้ก่อนช่วงการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในระยะสั้น ควบคู่ไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ ภายในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของโครงการ

เดิมทีแล้ว รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นระบบหลักในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุด ดูเหมือนว่าทางรัฐบาลจะหันไปใช้งานและพัฒนาแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลยอดนิยมของคนไทยเป็นหลักแทน

คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท

คุณสมบัติเบื้องต้นและรายละเอียดต่างๆ ของผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินจากโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จากงานแถลงข่าวความคืบหน้านโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้:

  • เป็นคนไทยที่มีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป
  • มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน
  • มีเงินฝากในทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
  • ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประชาชนไทยกว่า 50 ล้านคน
  • พื้นที่การใช้จ่ายครอบคลุมในระดับอำเภอ (ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน)
  • ระยะเวลาในการใช้สิทธิ์รวม 6 เดือน

เงื่อนไขอื่นๆ ในการใช้งาน

แล้ว เงินดิจิทัล เหล่านี้ สามารถนำไปใช้จ่าย หรือ ซื้ออะไรได้หรือไม่ได้บ้าง?

  • ใช้ในการซื้อสินค้า, อาหาร, เครื่องดื่ม, สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น
  • ไม่สามารถใช้จ่ายค่าบริการต่างๆ ได้
  • ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้
  • ไม่สามารถใช้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ผลิตภัณฑ์ยาสูบ, กัญชา, กระท่อม, พืชกระท่อม, และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อมได้
  • ไม่สามารถใช้ซื้อบัตรกำนัล, บัตรเงินสด, ทองคำ, เพชร, พลอย, อัญมณีได้
  • ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้
  • ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าเล่าเรียนหรือค่าเทอมได้
  • ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, หรือ ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้
  • นำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้

ประเภทของร้านค้าที่สามารถใช้ เงินดิจิทัล 10,000 บาทซื้อได้

  • ใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้าน (ตามเงื่อนไขข้างต้น) ไม่ได้จำกัดเฉพาะร้านที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
  • ร้านค้าไม่จำเป็นต้องจด VAT
  • ใช้กับร้านค้าได้ทุกประเภท (ร้านรถเข็น ร้านโชห่วย หรือ ร้านค้าที่อยู่บนแอป “เป๋าตัง”) แต่จะต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิเสียก่อน
  • ร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้จะต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

ที่มาของ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ที่จะนำมาใช้ในโครงการ

ในงานแถลงข่าวดังกล่าว นายก เศรษฐา ทวีสิน ยังได้ชี้แจงถึงที่มาของงบประมาณสำหรับโครงการเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาท รวม 600,000 ล้านบาท โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่:

  • 500,000 ล้านบาท — ออก พ.ร.บ. เงินกู้วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยเป็นไปตามมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อนที่จะนำเข้าสู่สภาในช่วงเดือนมกราคม 2567
  • 100,000 ล้านบาท — จากงบประมาณในปี 2567, 2568, 2569 ซึ่งจะนำมาใช้ในการดำเนินการโครงการ และผลักดันต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ๆ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมดิจิทัล, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการแจก “เงินดิจิทัล”

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น วัตถุประสงค์หลักของโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น ซึ่งการแจกเงินดิจิทัลในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่าย และยังเป็นการกระตุ้นให้ค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศเติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา GDP ของประเทศไทยเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 1.9% เท่านั้น

“ย้ำอีกครั้งนะครับ นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ ผมขอให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิ์ร่วมกัน ใช้จ่ายอย่างมีความภาคภูมิใจ โดยทุกคนล้วนเป็นผู้ร่วมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศเรา”

นาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย — Thai PBS News

สรุป

ถึงแม้ว่ารายละเอียดต่างๆ ของโครงการนี้จะมีออกมาให้ศึกษากันแล้วพอสมควร แต่มันก็ยังมีอุปสรรคต่างๆ อยู่บางส่วนก่อนที่โครงการจะดำเนินต่อไปได้ เช่น การนำ พ.ร.บ กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ไปตีความโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ การนำเข้าสู่สภาเพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ. เป็นต้น อย่างไรก็ดี การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่สิ่งที่รัฐบาลอาจจะต้องตอบคำถามให้ได้ก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ ผลประโยชน์จะตกไปอยู่ที่ประชาชนจริงหรือไม่? หรือ รัฐบาลมีการวางแผนที่จะชดใช้เงินกู้จำนวน 500,000 ล้านบาทนี้อย่างไร?

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | กันยายน 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน