ดูเพิ่มเติม

“11 บริษัทชั้นนำ” ที่ก้าวเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สในปี 2023

13 mins
โดย Ayotomiwa Oladotun
แปลแล้ว Akradet Mornthong

มตาเวิร์ส (Metaverse) เป็นคำศัพท์ยอดฮิตที่ดูลึกลับที่สุดของ Web3 ถึงแม้ว่าจะยังมีการถกเถียงกันเรื่องธรรมชาติของเมตาเวิร์ส แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า มันคือโลกเสมือนที่สามารถตอบโต้และทำงานร่วมกันได้ อันที่จริง การใช้คำว่า “Metaverse” ในรูปเอกพจน์เช่นนี้อาจจะดูไม่ถูกต้องนัก เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันมี Metaverses ที่โดดเด่นอยู่มากมาย แต่ “บริษัทชั้นนำ” ที่สร้างความโดดเด่นในโลกเมตาเวิร์สคือบริษัทใดกันแน่?

ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่า “บริษัทชั้นนำ” ใดบ้างที่มีความโดดเด่นทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์, บริการ, และการลงทุนลงแรงในการสร้างโลก Web3 แห่งอนาคตของตนเองขึ้นมา

🛡ท่องโลกอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและเก็บข้อมูลของคุณไว้ให้เป็นส่วนตัว!

เมื่อสมัครใช้งาน Atlas VPN รับส่วนลด 82% เมื่อใช้โค้ดโปรโมชั่น ATLASWELCOME ที่ลิ้งค์นี้!

เมตาเวิร์ส (Metaverse) คืออะไร?

Metaverse

เมื่อพูดถึงคำว่า “เมตาเวิร์ส” (Metaverse) เราคงจะต้องย้อนรอยไปถึงนวนิยายเรื่อง Snow Crash ของ Neal Stephenson ในปี 1992 ซึ่งให้ความหมายของคำว่า Metaverse ไว้ว่า “เหนือจักรวาล” “Meta” แปลว่า “เหนือ” และ “verse” แปลว่า “จักรวาล” ลองนึกถึงภาพการเดินทางไปยังเมืองและประเทศใหม่ๆ สัมผัสกับวัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลายโดยไม่ต้องออกจากบ้านดูสิ มันจึงถูกเรียกว่าเป็นโลกเสมือนจริงที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อขยายขอบเขตในการใช้ชีวิตของเรา

Metaverse ยังช่วยให้คุณได้มีประสบการณ์และการผจญภัยที่แตกต่างกันไปผ่านเครือข่ายพื้นที่เสมือนจริงที่กำลังเติบโต คุณสามารถตอบโต้, เรียนรู้, และสร้างรายได้ผ่านการใช้งานโลกแห่งความเป็นจริงเสริมและเสมือนจริงนี้ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ Metaverse เป็นเครือข่ายแบบครบวงจรที่มีพื้นฐานจากบล็อกเชนสำหรับทุกๆ สิ่งในโลกเสมือนจริง

“11 บริษัทชั้นนำ” ที่ก้าวเข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส

“บริษัทชั้นนำ” หลายๆ บริษัทนั้นต่างก็มีสกิน (Skin) อยู่ในเกม Web3 อยู่แล้ว และพวกเขาต่างก็กำลังพัฒนาโลกเสมือนจริงของตนเองเช่นกัน พวกเขาต่างก็ทุ่มเงินให้กับการวางคอนเซปต์และที่ปรึกษาด้าน Metaverse บางบริษัทนั้นทำได้ดีกว่าบริษัทอื่นๆ ในด้านการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้และเป็นที่ต้องการสำหรับโลกเสมือนเหล่านี้ เรามาดูกันดีกว่าว่าใครทำอะไรกันไปแล้วบ้าง

1. Meta

Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ประกาศถึงเรื่องการรีแบรนด์ Facebook บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ในปี 2021 ให้กลายเป็น Meta และมาพร้อมกับทิศทางใหม่ของบริษัท ในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง Zuckerberg ย้ำถึงการตัดสินใจที่จะก้าวไปให้ไกลกว่าการเป็นเพียงโลกโซเชียลมีเดีย และจะสร้างเครื่องมือที่จำเป็นต่อการ “ทำให้ Metaverse มีชีวิตขึ้นมา”

Meta ได้เปิดตัว Horizon Worlds ในเวลาต่อมา พื้นที่ VR สำหรับผู้เล่นหลายคนนี้ช่วยให้ผู้เล่นได้สำรวจสถานที่ใหม่ๆ โต้ตอบกับเพื่อน, ไขปริศนา, เล่นเกม, และจัดกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

ถึงแม้ว่าจะเสียงวิจารณ์ในเชิงลบมากมายในเรื่องฟังก์ชั่นการทำงานของมัน Zuckerberg ก็ยังคงกระตือรือร้นที่จะพัฒนา Metaverse ต่อไป เขาได้ลงทุนไปแล้วเป็นมูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในการสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมา

นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมเสมือนจริงแล้ว Oculus VR เป็นผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่งของ Meta ซึ่งเป็นอุปกรณ์ VR (Virtual Reality) ที่ใช้สำหรับเข้าสู่โลก Metaverse พวกเขายังได้เปิดตัวชุดหูฟัง VR รุ่นล่าสุดอย่าง Meta Quest Pro ไปเมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย

2. Google

Google ได้เข้าสู่ตลาดเกม Virtual Reality ค่อนข้างเร็ว โดยเปิดตัว Google Glass ในปี 2013 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกถอดออกจากตลาดเนื่องจากเรื่องข้อกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยได้ออกเวอร์ชั่นใหม่อีกครั้งในปี 2017 แว่นตาอัจฉริยะเหล่านี้ต่างก็มีคุณสมบัติด้าน AR ที่น่าสนใจ

แว่นตานี้ตั้งเป้าในการให้ความช่วยเหลือในระดับองค์กร: ช่วยให้ผู้สวมใส่มีสมาธิ (ด้วยการขจัดสิ่งรบกวนออกไป) ปรับปรุงความแม่นยำ และอำนวยความสะดวกในการทำงานกับเพื่อนร่วมงานแบบเรียลไทม์ ในปี 2022 บริษัทได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ในรุ่นที่ 3 โดยครั้งนี้ พวกเขาได้ผสานรวมความสามารถในการแปลภาษาในทันทีเข้ามา

นอกเหนือจากตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์แล้ว Google Cloud ก็ยังมีการร่วมมือกับ Coinbase เพื่อเปิดทางสู่โลก Web3 พวกเขายังได้สร้าง Project Starline ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพที่ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อและเข้าสังคมได้ เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นโมเดล 3 มิติของบุคคลที่พวกเขากำลังสื่อสารด้วยได้

3. Microsoft

Microsoft เองก็ได้มีก้าวเท้าเข้าสู่โลก Metaverse เช่นเดียวกัน พวกเขาได้ลงทุนหลายล้านดอลลาร์และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตขึ้นมามากมาย Microsoft วางแผนที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่มีระบบการแสดงผลแบบความเป็นจริงผสม โดยนำเสนอบริการบนคลาวด์ที่หลากหลายผ่าน Azure Intelligent Cloud

Microsoft ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Meta เพื่อสร้าง Metaverse ในชื่อ Mesh ในขณะเดียวกัน บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ยังได้เปิดตัว Team เวอร์ชั่นพรีเมียมซึ่งมีการผสานรวมคุณสมบัติ AI เอาไว้อีกด้วย

ความร่วมมือในครั้งนี้ยังทำให้ Meta Quest สามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ Microsoft 365 ได้ เพราะฉะนั้น ผู้คนจึงสามารถใช้งาน Windows Office และ Xbox Could Gaming ในรูปแบบของ VR ได้อีกด้วย

4. Nvidia

NVIDIA นั้นมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชิปของพวกเขาได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้การคำนวนที่ซับซ้อนสำหรับหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของคอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2022 Nvidia ได้เปิดตัว Omniverse ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือที่ใช้ในการสร้าง Metaverse NVIDIA Omniverse นำเสนอ AI เป็นตัวผลิตภัณฑ์และปรับแต่งความต้องการของฮาร์ดแวร์เพื่อให้รองรับ AI ได้

นอกจากนี้ พวกเขายังได้ประกาศความร่วมมือกับ Deutsche Bank ซึ่งพวกเขาจะช่วยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านบริการทางการเงินเพื่อเร่งการนำเอา AI มาใช้งานจริง

Omniverse Cloud เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ NVIDIA ในเรื่องของ Metaverse บริการคลาวด์นี้ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถผสานรวมแอปพลิเคชั่นที่มีอยู่เข้ากับ Omniverse ได้ จากนั้น พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ของซอฟต์แวร์ดังกล่าว ซึ่งรวมไปถึง AI และการเรนเดอร์กราฟิก 3D เป็นต้น

5. Amazon

อย่างที่คาดการณ์กันไว้ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ก็เข้ามาร่วมวงเช่นกัน กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติกำลังก้าวเข้าสู่โลก Web3 โดยเปิดตัวบริการต่างๆ ซึ่งรวมไปถึง Amazon Web Services (AWS) ที่เริ่มเปิดให้บริการในปี 2022 ซึ่งนำเสนอบริการ Infrastructure-as-a-Service (IaaS) และ Platform-as-a-Service (PaaS)

Cloud Quest เป็นอีกหนึ่งก้าวที่รุกเข้าสู่ Metaverse ของ Amazon AWS Cloud Quest เป็นเกม RPG แบบ Open-World ที่คุณสามารถเรียนรู้คอนเซปต์พื้นฐานของ AWS และสร้างโซลูชั่นในโลกแห่งความเป็นจริงได้

6. Tencent Holdings Ltd

Tencent Holdings บริษัทเทคโนโลยีและความบันเทิงข้ามชาติของจีนก็กำลังเข้ามาสำรวจพื้นที่ของโลก Metaverse เช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้เปิดแผนก “Extended Reality” (XR) Tencent ตั้งเป้าที่จะนำเสนอทั้งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในแบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

เมื่อต้นปี 2022 Tencent ได้ซื้อ Black Shark Gaming บริษัทผู้ผลิตเกมมิ่งสมาร์ทโฟนที่ได้รับการสนับสนุนจาก Xiaomi แพลตฟอร์มเกมจะรับผิดชอบในการสร้างผลิตภัณฑ์ VR เช่น ชุดหูฟังและแว่นตาอัจฉริยะ ในเดือนกันยายน แผนกคลาวด์ของ Tencent และ บริษัท Web3 Strange Universe Technology ในสิงคโปร์ได้ประกาศร่วมมือกันเพื่อสร้างโลกเสมือนจริงสำหรับติดต่อธุรกิจ

นอกจากความเคลื่อนไหวเหล่านี้แล้ว Tencent ยังได้เปิดตัว Super QQ Show พื้นที่โต้ตอบแบบ 3 มิติที่ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบ, ไลฟ์สตรีมคอนเสิร์ต, และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้บนแพลตฟอร์มการส่งข้อความ QQ ได้อีกด้วย

7. Unity Software

Unity Software คือซอร์ฟแวร์ที่ช่วยให้นักพัฒนาเกมสามารถพัฒนาวิดีโอเกมแบบ 3 มิติและอุปกรณ์ AR/VR ได้

ซอฟต์แวร์นี้จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์ ถึงแม้ว่าโฟกัสหลักของพวกเขาจะเป็นเรื่องเกม แต่ Unity ก็ยังมีแพลตฟอร์มเนื้อหา 3D แบบเรียลไทม์ชั้นนำอีกด้วย พวกเขาเพิ่งจะประกาศความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ในการสร้าง Metaverse ซึ่งรวมไปถึงการร่วมมือกับ Hyundai Motor

ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุน Hyundai ในการเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นการเดินทางอัจฉริยะสำหรับระบบนิเวศดิจิทัลใหม่: Metafactory โรงงานบน Metaverse จะเป็น “คู่แฝดดิจิทัล” ของโรงงานในโลกแห่งความเป็นจริงของ Hyundai โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงงานและอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหา

8. Nike

Nike บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาได้เริ่มตั้งหลักในโลก Web3 อย่างรวดเร็ว Nikeland เป็นแพลตฟอร์ม Metaverse ของบริษัทที่สร้างขึ้นบน Roblox ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าสังคมและมีประสบการณ์ต่างๆ ร่วมกันได้

จากข้อมูลของ Nike ร้านค้าที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากแห่งนี้ได้เปิดรับผู้คนกว่า 7 ล้านคนจากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีการจัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการปรากฎตัวของคนดัง เช่น LeBron James สตาร์ดังแห่ง NBA ผู้นี้จะมาเป็นโค้ชและพบปะกับผู้เล่นในโลกแบบเสมือนจริง

ในปี 2022 Nike กลายเป็นแบรนด์ที่มีรายได้สูงที่สุดในโลกจากการขาย NFT ซึ่งมีมูลค่าสุทธิกว่า 185 ล้านดอลลาร์ จากข้อมูลของ Dune Analytics Nike ยังเตรียมเปิดตัว “.SWOOSH” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Web3 ที่จะกลายเป็นบ้านหลังใหม่สำหรับผลงานสร้างสรรค์ในโลกเสมือนจริงของพวกเขา

Nike อธิบายเกี่ยวกับโปรเจกต์ “.SWOOSH” ว่าเป็น “ประสบการณ์ใหม่ของชุมชน ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้โอกาสคุณในการร่วมกันสร้างอนาคตของ Nike” คอลเล็กชั่นสมาชิกดิจิทัลชุดแรกของพวกเขาจะเปิดตัวในปี 2023

9. Apple

ถึงแม้ว่า Apple จะไม่ค่อยความเคลื่อนไหวใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse มากนัก แต่เราก็สามารถพบเห็นถึงร่องรอยดังกล่าวได้ในสิทธิบัตรที่พวกเขาทำการจดทะเบียน ซึ่งหลายๆ รายการนั้นก็เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AR/VR

Apple ได้เข้าซื้อกิจการในบางบริษัทที่มีความน่าสนใจเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึง บริษัท AR Vrvana และ Akonia Holographics ซึ่งเป็นผู้ผลิตเลนส์สำหรับแว่นตา AR แม้ว่าพวกเขาจะให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวข้องกับ Metaverse อยู่เงียบๆ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า Apple นั้นมักจะแก้ปัญหาในแบบ “Web2” ตัวอย่างเช่น ทวีตนี้:

Coinbase อ้างว่า Apple บล็อกการปล่อยแอปของพวกเขาเพื่อเรียกเก็บค่าแก๊ส 30% จาก NFT ทั้งหมดที่ถูกซื้อบนกระดานเทรด Coinbase พวกเขากล่าวว่า นโยบายนี้ของ Apple “เหมือนกับการที่พวกเขาพยายามจะเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับอีเมลทุกฉบับที่ส่งผ่านโปรโตคอลอินเทอร์เน็ตแบบเปิด”

10. Epic Games

Epic Games เป็นบริษัทชั้นนำด้านความบันเทิงแบบอินเตอร์แอคทีฟและ 3D เอ็นจิ้น พวกเขาคือผู้ให้บริการเกม Fortnite ซึ่งเป็นการรวมองค์ประกอบของความเป็น Metaverse มาไว้เรียบร้อยแล้ว เกม Fortnite นั้นมีผู้เล่นอยู่ราวๆ 83 ล้านบัญชี จากข้อมูลของ GamesRadar ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Epic Games ได้จัดกิจกรรมบนโลกเสมือนจริงนี้หลายครั้ง ซึ่งรวมไปถึง งานคอนเสิร์ตและการฉายภาพยนตร์สุดพิเศษภายใน Fortnite

ในเดือนเมษายน 2022 Epic Games ประกาศว่า พวกเขาได้ระดมทุน 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้าง Metaverse โดยได้รับเงินทุนจาก Sony และ KIRKBI ข้อตกลงเชิงกลยุทธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการปรับปรุงการเข้าถึงเทคโนโลยี Web3

11. Shopify

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซที่ขอเข้ามามีส่วนแบ่งในโลก Metaverse Shopify ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ AR Shopify AR ซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถใช้แบบจำลอง 3 มิติสำหรับผลิตภัณฑ์ของตนเองได้

Shopify ยังได้ร่วมมือกับ Novel เพื่อเสนอเครื่องมือ Web3 ให้กับผู้ใช้งานเพื่อสามารถสร้างสรรค์ผลงานบน Shopify ได้ โดยแอป Novel Shopify นั้นจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างและแจกจ่าย NFT ของตนเองได้ CEO ของ Shopify ได้เรื่องนี้อย่างไม่เป็นทางการในทวีตด้านล่างนี้

ในเดือนพฤษภาคม 2022 Shopify ร่วมมือกับ Crypto.com เพื่อให้การชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลเป็นไปอย่างราบรื่น แพลตฟอร์มรองรับสินทรัพย์ Crypto มากกว่า 20 รายการ รวมถึง Bitcoin, Ethereum, Dogecoin และ SHIB

อนาคตแบบใดที่เราคาดหวังได้จากบริษัท Metaverse

ทั้งแบรนด์และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างก็คลั่งไคล้ในคอนเซปต์ของ Metaverse ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่เกิดขึ้นจริงก็ตาม รายชื่อบริษัทในบทความนี้บางบริษัทอาจจะมีอิทธิพลต่อ Metaverses ของอนาคต ในขณะที่บริษัทอื่นๆ อาจจะตกลงไปอยู่ข้างทาง

Metaverse กำลังอยู่ในระหว่างการก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา และก็ยังมีข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่น่าตื่นเต้นในวงการนี้อยู่เสมอ ประตูเข้าสู่ Web3 นี้จะกลายเป็นสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงความสามารถในการใช้งานและการเข้าถึง Metaverse ซึ่งจะช่วยปรับปรุงและขยายขอบเขตของวิธีการที่ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบในพื้นที่เสมือนจริงเหล่านี้ได้

คำศัพท์ทางเทคนิคในบทความ

  • Web3 (Web 3.0): แนวคิดของการใช้งานเว็บไซต์ที่เอื้อให้ผู้ใช้งานถือสิทธิความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์
  • Virtual Reality (VR): เป็นเทคโนโลยีที่จำลองสถานที่ขึ้นมาเป็นโลกเสมือน โดยผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่จำลองขึ้นมาได้ผ่านอุปกรณ์
  • Augmented Reality (AR): เป็นเทคโนโลยีที่สร้างภาพวัตถุ 3D แล้วจำลองเข้าสู่โลกแห่งความจริงของเรา ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องมองดูวัตถุดังกล่าวผ่านจอแสดงผลต่างๆ เช่น หน้าจอโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
  • AI หรือ Artificial Intelligence (ปัญญาประดิษฐ์): ระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์, หุ่นยนต์, เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีการวิเคราะห์เชิงลึกคล้ายกับความคิดของมนุษย์ และจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆ ตามรูปแบบการทำงานของมันได้อย่างอัตโนมัติ
  • Extended Reality (XR): เทคโนโลยีเสมือนจริงผสมโลกจริงหลายมิติเข้าด้วยกัน โดยนำเอาเทคโนโลยี Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) และ Mixed Reality (MR) ผสานเข้าด้วยกัน

คำถามที่พบบ่อย

บริษัทใดที่กำลังสร้าง Metaverse?

บริษัทใดบ้างที่ลงทุนใน Metaverse?

ใครคือผู้เล่นหลักใน Metaverse?

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | มีนาคม 2024

Trusted

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

bic_photo_6.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน