เมื่อ “สกุลเงินคริปโต” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น กระดานเทรดหรือตลาดซื้อขายสินทรัพย์ (Exchanges) ของสกุลเงินคริปโตก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน และหนึ่งในชื่อที่คุณอาจจะได้ยินบ่อยที่สุดในวงการคริปโตก็คือ Binance แต่ Binance คืออะไร? วันนี้ เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ 1 ในกระดานเทรดคริปโตที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลกกัน มันมีความเป็นมาอย่างไร และอะไรที่ทำให้มันโดดเด่นเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย!
Binance คืออะไร
Binance คือ กระดานเทรดคริปโตชั้นนำที่ผู้ใช้งานสามารถทำการซื้อ ขาย และแลกเปลี่ยนสินทรัพย์คริปโตในสกุลต่างๆ ได้ เช่น Bitcoin, Ethereum และ Altcoins อื่นๆ อีกมากกว่า 350 รายการ Binance Exchange เป็นหนึ่งในกระดานเทรดคริปโตที่ใหญ่ที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ง่าย มีค่าธรรมเนียมที่ถูก และมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Spot หรือ Futures Trading, Binance Staking, หรือ Binance Launchpad เป็นต้น
นอกจากนี้ Binance ยังมี Binance Coin (BNB) เหรียญคริปโตประจำเครือข่าย ซึ่งผู้ใช้งานสามารถใช้เพื่อชำระค่าธรรมเนียมเครือข่ายหรือค่าบริการอื่นๆ ได้
เกร็ดน่ารู้: ถึงแม้จะถูกเรียกว่า Binance “Coin” แต่จริงๆ แล้ว เดิมที BNB เป็นโทเค็นที่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชน Ethereum (ERC-21) ก่อนที่ Binance จะพัฒนาเครือข่ายของตนเองที่มีชื่อว่า Binance Smart Chain (BEP2) ขึ้นมา
ประวัติความเป็นมาของ Binance
Binance ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดย Changpeng Zhao (CZ) ซึ่งเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเสียง หลังจากที่จบมหาวิทยาลัย เขาก็ได้ไปทำงานเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบการเทรดที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ก่อนที่จะย้ายมาทำงานให้กับ Bloomberg Tradebook ในกรุงนิวยอร์กเป็นเวลานานหลายปี
ในปี 2013 CZ ได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า Bitcoin และได้เริ่มหลงใหลในสกุลเงินดิจิทัล และได้กลายมาเป็น 1 ในผู้ก่อตั้ง Blockchain.info และ OKCoin อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 CZ ได้ลาออกมาเพื่อก่อตั้งกระดานเทรดสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองที่มีชื่อว่า Binance ในประเทศจีน แต่เนื่องจากในปีเดียวกันนั้นเอง ทางการจีนได้มีการปราบปรามการซื้อขายคริปโตในประเทศ ทำให้ CZ ต้องย้ายออกไปตั้งออฟฟิศในประเทศญี่ปุ่น
จากนั้น Binance ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายมาเป็นหนึ่งในกระดานเทรดคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลก เร็วถึงขนาดที่ว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2017 พวกเขาต้องระงับการลงทะเบียนบัญชีใหม่ เนื่องจากมีผู้ใช้งานพยายามที่จะสมัครบัญชี Binance มากจนเกินไป
เกร็ดน่ารู้: ในปี 2019 กระดานเทรด Binance ทั่วโลกถูกแบนในประเทศสหรัฐฯ เนื่องจากข้อกังวลในด้านกฏระเบียบ ทำให้พวกเขาได้เปิดกระดานเทรดในชื่อใหม่ว่า Binance.US ซึ่งเป็นกระดานเทรดที่ปฏิบัติตามกฏระเบียบของประเทศสหรัฐฯ
ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ
Binance เป็นแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายที่มีสภาพคล่องสูง, มี UI ที่ใช้งานได้ง่าย, และมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ พวกเขายังมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ซึ่งพร้อมให้บริการแก่นักเทรดและนักลงทุนในทุกๆ ระดับอีกด้วย
- Spot Trading — การซื้อขายแบบสปอตที่จะช่วยให้ผู้ซื้อขายสามารถทำการเทรดสินทรัพย์คริปโตได้ในทันที รองรับสกุลเงินคริปโตที่หลากหลาย
- Margin Trading — ฟีเจอร์ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเทรดด้วยการใช้เลเวอเรจได้ ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มผลกำไรที่ทำได้ แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
- Futures Trading — Binance อนุญาตให้ผู้ใช้งานทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายฟิวเจอร์ส (สัญญาซื้อขายระหว่างคู่สัญญาที่จะมีการส่งมอบสินทรัพย์และชำระเงินในอนาคตตามราคาที่ตกลงไว้ ณ ปัจจุบัน) ของสกุลเงินคริปโตด้วยเลเวอเรจได้
- Binance P2P — ตลาดซื้อขายคริปโตแบบ P2P ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานซื้อและขายสกุลเงินคริปโตโดยตรงกับร้านค้าท้องถิ่นได้ ด้วยสกุลเงินเฟียตที่รองรับมากกว่า 100 สกุล และวิธีการชำระเงินกว่า 800 วิธี
- Trading Bots — บอทเทรดคริปโตที่มีให้บริการหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น Spot Grid, Futures Grid หรือ Rebalancing Bot เป็นต้น
- Copy Trading — บริการที่จะช่วยให้คุณสามารถคัดลอกแนวทางการเทรดของนักเทรดชั้นนำบนแพลตฟอร์มได้
- Binance Earn — ช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยจากสกุลเงินคริปโตต่างๆ ที่พวกเขาถือครอง โดยมีตัวเลือกของสกุลเงินคริปโตและอัตราผลตอบแทนที่หลากหลาย
- Binance Academy — แหล่งการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบล็อกเชนและสกุลเงินคริปโตต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้คุณได้รับคริปโตฟรีๆ
- Binance Launchpad — แพลตฟอร์มที่จะช่วยให้คุณเข้าร่วมรอบ ICO หรือรอบขายของโทเค็นใหม่ๆ ได้
- Binance Wallet — กระเป๋าเงินคริปโตสำหรับ BNB Beacon Chain, BNB Smart Chain และ Ethereum
- Binance Loans — บริการที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถกู้ยืมสินทรัพย์คริปโตเพื่อใช้ในการเทรดได้
Binance Coin (BNB) เหรียญคริปโตของแพลตฟอร์ม
Binance Coin (BNB) เป็นเหรียญคริปโตของเครือข่าย BNB Chain ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในระบบนิเวศของ Binance มันถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในฐานะโทเค็น ERC-20 บนบล็อกเชน Ethereum ก่อนที่จะถูกย้ายมายังบล็อกเชนของตัวเองที่เรียกว่า BNB Chain ในปัจจุบัน
Binance Coin (BNB) มีประโยชน์ใช้งานหลักๆ ดังนี้:
- ใช้เพื่อรับส่วนลดค่าธรรมเนียมการซื้อขาย — ผู้ใช้งานกระดานเทรด Binance สามารถใช้ BNB เพื่อชำระค่าธรรมเนียมการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม และรับส่วนลดสูงสุดถึง 25%
- ใช้ในการเข้าร่วม Binance Launchpad — ผู้ถือ BNB สามารถเข้าร่วมรอบการขายโทเค็นบน Binance Launchpad ได้ โดยสามารถใช้ BNB เพื่อซื้อโทเค็นเหล่านั้นและรับส่วนลดได้
- ใช้ในการ Staking — ผู้ใช้งานจะได้รับส่วนหนึ่งของค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่เกิดขึ้นบนกระดานเทรดด้วยการ Staking BNB เอาไว้บนแพลตฟอร์ม
- ใช้ในการชำระเงินกับบริการต่างๆ — นอกเหนือจากการใช้เป็นตัวกลางสำหรับชำระเงินบนแพลตฟอร์มแล้ว BNB ยังสามารถใช้เพื่อชำระค่าบริการต่างๆ กับแพลตฟอร์มที่รองรับ หรือ เป็นพาร์ทเนอร์กับ Binance ที่มีอยู่มากมายได้
- ใช้ในการเผาทิ้ง — BNB ที่ระบบ Auto-Burn ที่จะช่วยลดอุปทานโดยรวมให้เหลือ 100,000,000 BNB ทุกๆ 3 เดือน ซึ่งช่วยให้อุปทานของเหรียญไม่ล้นจนเกินไป ส่งผลให้ราคาไม่ตกต่ำลงได้
บทส่งท้าย
โดยรวมแล้ว Binance ยังคงเป็น 1 ในกระดานเทรดคริปโตที่ใหญ่ที่สุดและมีสภาพคล่องสูง นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้เลือกใช้งานมากมาย อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องจับตามองอนาคตของ Binance และ เหรียญ BNB ให้ดี เนื่องจาก Changpeng Zhao (CZ) ผู้ซึ่งเป็นเสมือนไอคอนของ Binance ได้ประกาศก้าวลงจากตำแหน่ง CEO จากข้อพิพาทที่มีกับทางการสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราอาจจะคาดไม่ถึงได้
ข้อจำกัดความรับผิด
ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์