Blockchain Layer 1 คืออะไร?

15 mins
โดย Ananda Banerjee
แปลแล้ว Akradet Mornthong

ภายในระบบนิเวศแบบกระจายอำนาจ สิ่งต่างๆ จะไม่ได้เหมือนกันไปเสียทั้งหมด Blockchain ต่างๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น Layer 1, Layer 2, Layer 3 หรือแม้แต่ Layer 0 เองก็ตาม ถึงแม้ว่าแต่ละเลเยอร์จะมีความสำคัญที่แตกต่างกันไป แต่ Blockchain Layer 1 ก็ถือเป็นรากฐานสำคัญของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีนี้ Blockchain Layer 1 ช่วยให้บริษัท, นักพัฒนา, และผู้สร้างสามารถสร้างแอปและทรัพยากรต่างๆ ได้ พร้อมทั้งให้สิทธิ์ในการเข้าถึงความสามารถที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการปรับขนาด, ความปลอดภัย, และการกระจายอำนาจ

ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่า Blockchain Layer 1 คืออะไร? มันทำงานอย่างไร? ฟีเจอร์หลักของบล็อกเชนเลเยอร์ 1 ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคืออะไร รวมไปถึง นวัตกรรมต่างๆ และ แอปพลิเคชั่นพื้นฐานของเครือข่ายเหล่านี้

แนวทางที่เราใช้เลือก Affiliate Programs ที่ดีที่สุด

ทำความเข้าใจเรื่อง Blockchain Layer 1

ลองจินตนาการว่า คุณต้องการสร้างสิ่งก่อสร้างสำหรับบล็อกเชนโดยเฉพาะ หรือถ้าจะให้พูดก็เปรียบเสมือนแอปนั่นเอง บล็อกเชนเลเยอร์ 1 จะทำหน้าที่เป็นรากฐานของสิ่งปลูกสร้าง (แอป) คุณอาจจะพูดได้ว่า บล็อกเชนเลเยอร์ 1 เป็นสถาปัตยกรรมหลักที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ได้ดีที่สุด

ในฐานะเลเยอร์บล็อกเชนหลัก เครือข่ายเลเยอร์ 1 จะทำการจัดเก็บบัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์เอาไว้ เครือข่ายเหล่านี้ยังสามารถประมวลผลธุรกรรมและความสมบูรณ์ของเครือข่ายได้โดยผ่านการสื่อสารแบบ Peer-to-Peer

การทำงานของบล็อกเชนเลเยอร์ 1
การทำงานของบล็อกเชนเลเยอร์ 1: Nervos

Bitcoin และ Ethereum คือเครือข่ายเลเยอร์ 1 ที่เป็นที่รู้จักกันดี เครือข่ายเหล่านี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โทเค็นดั้งเดิมของเครือข่ายยังสามารถใช้เรียกแทนตัวเครือข่ายเลเยอร์ 1 ได้ เช่น BTC สำหรับ Bitcoin, ETH สำหรับ Ethereum และอื่นๆ อีกมากมาย

เปรียบเทียบเครือข่ายเลเยอร์ 1 กับอาคาร

เราลองมาเปรียบเทียบมันกับอาคารกันดีกว่า ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว Layer 1 นั้นเป็นดั่งชั้นฐานของอาคาร ซึ่งจะเปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานของอาคาร วัตถุประสงค์หลักบางส่วนของโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ได้แก่ การโฮสต์และการจัดการ Smart Contracts, การตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรม และการบำรุงรักษาบัญชีแยกประเภท เป็นต้น งานเหล่านี้ล้วนเป็นงานพื้นฐานของเครือข่ายเลเยอร์ 1

ต่อไป ให้คิดว่าบล็อกเชนเลเยอร์ 2 เป็นชั้นต่อเติมของอาคาร คุณจะเกิดไอเดียและพัฒนาพื้นเหล่านี้เพื่อทำให้อาคาร (หรือในกรณีนี้ก็คือเทคโนโลยีบล็อกเชน) ให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น คุณสามารถนึกถึงตัวอย่างต่างๆ เช่น Lightning Network ของ Bitcoin หรือ ระบบนิเวศของ Polygon ที่สร้างขึ้นบน Ethereum

Blockchains Layer 0 เช่น Polkadot ทำหน้าที่เป็นรากฐานสำหรับเลเยอร์ 1 พวกมันเต็มไปด้วยเทคโนโลยีและโปรโตคอลที่ช่วยให้เครือข่ายเลเยอร์ 1 ทำงานได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น

หากจะให้เห็นภาพถึงการเชื่อมต่อของเครือข่ายทั้ง 3 เครือข่าย ให้ลองนึกภาพของ Ethereum ซึ่งเป็น Layer 1, Rollups ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Layer 2 และ เครือข่าย Parachain ของ Polkadot ซึ่งเป็น Layer 0

รู้หรือไม่ว่า? Polkadot Parachain แต่ละเชนยังสามารถทำงานเป็นบล็อกเชนเลเยอร์ 1 ได้อีกด้วย ซึ่งจะเต็มไปด้วยประโยชน์การใช้งานใหม่ๆ มากมาย

คุณลักษณะและส่วนประกอบที่สำคัญของ Blockchain Layer 1

ทุกองค์ประกอบหรือทุกเลเยอร์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดลำดับความสำคัญด้านความปลอดภัยและความสามารถในการปรับขนาด ด้วยเหตุนี้ บทบาทหลักของเครือข่ายเลเยอร์ 1 คือการจัดการกับปัญหาหลัก 3 ประการของบล็อกเชน ซึ่งหมายความว่า บล็อกเชนเลเยอร์ 1 จะต้องค้นหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการกระจายอำนาจ, ความสามารถในการปรับขนาด, และความปลอดภัย

นอกจากนี้ เครือข่ายเลเยอร์ 1 ยังถูกเรียกกว่า Parent Chain ซึ่งจะมอบความปลอดภัยให้แก่ DApps ที่โฮสต์ นอกจากนี้ พวกมันยังมีกลไกฉันทามติที่แข็งแกร่ง เช่น Proof-of-Work (PoW) สำหรับ BTC, Proof-of-Stake (PoS) สำหรับ ETH และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อพูดถึงการทำงานของเครือข่ายเลเยอร์ 1 กลไกฉันทามติมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก กลไกฉันทามติของเครือข่ายจะเป็นตัวกำหนดองค์ประกอบความปลอดภัยของบล็อกเชนเลเยอร์ 1 นั้นๆ เช่น Bitcoin ซึ่งมีกลไกฉันทามติ Proof-of-Work (PoW) มีโหนดเป็นตัวปกป้องความปลอดภัย โหนดเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและส่งต่อธุรกรรมและบล็อกเพื่ออัพเดตบัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์

นอกจากนี้ ระบบนิเวศ PoW ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเลเยอร์ 1 ยังประกอบด้วยนักขุดที่ต่างก็ทำงานหนักเพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยของเครือข่ายอีกด้วย

บล็อกเชนเลเยอร์ 1 ยอดนิยม
บล็อกเชนเลเยอร์ 1 ยอดนิยม: CoinMarketCap

ในทำนองเดียวกัน เครือข่ายเลเยอร์ 1 เช่น Ethereum — หรือแม้แต่ Solana เองก็เช่นกัน — มีเครือข่าย Validators (ผู้ตรวจสอบ) เพื่อรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย ในเครือข่าย PoS ความสามารถในการรักษาความปลอดภัยจะมาจากการล็อกเหรียญของเครือข่ายไว้ในเครือข่าย (เพื่อสิทธิ์ในการเป็น Validators)

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าสนใจของการดำเนินการในเลเยอร์ 1 คือ แนวคิดของการกระจายอำนาจ ซึ่งจะประกอบไปด้วยการมีอยู่ของนักขุด (Miners), โหนด (Nodes) และ ผู้ตรวจสอบความถูกต้อง (Validators) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการกระจายอำนาจอย่างยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง ปัญหาด้านความสามารถในการปรับขนาดอาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของเลเยอร์ 1 หรือเครือข่ายหลัก ทำให้การประมวลผลธุรกรรมช้าลงได้

การปรับปรุงความสามารถในการปรับขนาดและความเร็วการทำธุรกรรมในเครือข่ายเลเยอร์ 1

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ การขาดแคลนความสามารถในการปรับขนาด และความเร็วการทำธุรกรรมที่เชื่องช้า ยังคงเป็นปัญหาสำหรับเครือข่ายเลเยอร์ 1 — โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเครือข่ายที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากกว่า — เนื่องจากเครือข่าย Nodes และ Validators ที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้ เมื่อการใช้งานเครือข่ายพุ่งไปถึงจุดสูงสุด ความเร็วในการทำธุรกรรมของเครือข่ายเลเยอร์ 1 ก็จะยิ่งช้าลงไปอีก

ปัจจุบัน Bitcoin สามารถรองรับธุรกรรมได้ 4-7 ธุรกรรมต่อวินาที (TPS) ในขณะที่การทำงานเต็มประสิทธิภาพของ Ethereum จะอยู่ที่ระหว่าง 15-30 ธุรกรรมต่อวินาที (TPS) และนั่นคือจุดที่นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Sharding หรือ Layer 2 Solutions เข้ามามีส่วนช่วยในการประมวลผลธุรกรรมและปรับปรุงความสามารถในการปรับขนาดของเครือข่ายเลเยอร์ 1

Sharding เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับเครือข่ายเลเยอร์ 1 (เช่น Ethereum) ในระยะยาว โดยจะเป็นการแบ่งเครือข่ายออกเป็นส่วนเล็กๆ ซึ่งจะเรียกว่า Shards แต่ละ Shards ก็จะสามารถจัดการกับธุรกรรมและ Smart Contracts ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ช่วยให้เครือข่ายเช่น Ethereum มีความรวดเร็วมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากการ Sharding แล้ว ก็ยังมี Layer 2 Solutions เช่น Polygon และ Arbitrum และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถช่วยลดภาระให้กับ Ethereum ได้ Sidechains ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เครือข่ายเลเยอร์ 1 ปรับขนาดได้อีกด้วย

ตัวอย่างของเครือข่าย Layer-1 มีอะไรบ้าง?

ตอนนี้ เราเข้าใจกันแล้วว่า บล็อกเชนเลเยอร์ 1 ทำงานอย่างไร ต่อไป เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่า เราได้พูดไปแล้วว่า Bitcoin และ Ethereum เป็นเครือข่ายเลเยอร์ 1 ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เครือข่ายเลเยอร์ 1 ชั้นนำอื่นๆ ก็ยังรวมไปถึง Cardano, Solana และ Binance Smart Chain เช่นกัน

Cardano ใช้ฉันทามติ PoS ในขณะที่ Solana เป็นลูกผสมของ PoH และ PoS ในทางกลับกัน BSC นั้นเป็น Ethereum-Compatible ซึ่งสามารถจัดการ Smart Contracts และ DApps ที่ทำงานร่วมกันได้

หากคุณสนใจเครือข่าย Layer 1 และเหรียญประจำเครือข่ายอย่าง ADA, SOL และ BNB คุณสามารถซื้อมันได้จากแพลตฟอร์มชั้นนำที่ BeInCrypto แนะนำ โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้:

เหรียญคริปโต Layer-1 ที่มีให้บริการ
ETH, BTC, BCH, XLM, และ DOT
เหรียญคริปโต Layer-1 ที่มีให้บริการ
ETH, BTC, ADA, และ SOL
เหรียญคริปโต Layer-1 ที่มีให้บริการ
ETH, BNB, XRP, และ BTC
เหรียญคริปโต Layer-1 ที่มีให้บริการ
ETH, BTC, และ XLM
เหรียญคริปโต Layer-1 ที่มีให้บริการ
ETH, BTC, ADA, และ SOL

เครือข่าย Layer 1 สามารถสรรค์สร้างนวัตกรรมได้มากแค่ไหน?

เครือข่ายเลเยอร์ 1 นั้นเหมาะสำหรับผู้ที่รักเทคโนโลยีบล็อกเชนจริงๆ ความสามารถในการปรับขนาดและนวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Layer 2 Scaling Solutions (โซลูชั่นการปรับขนาดเลเยอร์ 2) มักจะไม่เหมาะกับผู้ใช้งานที่ชื่นชอบเครือข่ายแบบดั้งเดิม ต่อไปนี้คือ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นได้และอาจจะจำกัดอยู่แค่เพียงเครือข่ายเลเยอร์ 1 ซึ่งจะช่วยผู้ใช้งานในเรื่องความปลอดภัย, ความสามารถในการปรับขนาด, และประโยชน์ใช้งานอื่นๆ:

  1. ฉันทามติที่ได้รับการปรับปรุง: หากเกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและการกระจายอำนาจ เลเยอร์ 1 ใหม่อาจจะนำกลไกฉันทามติใหม่ๆ มาใช้งาน เช่น Proof-of-Space, Proof-of-Burn และอื่นๆ อีกมากมาย
  2. โปรโตคอลสำหรับการทำงานร่วมกัน: เลเยอร์ 1 จำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันได้มากยิ่งขึ้น โดยสามารถสื่อสารกับเครือข่ายเลเยอร์ 1, ไซด์เชน, และเครือข่ายอื่นๆ ได้ Cosmos (ATOM) กำลังทำงานในส่วนนี้ผ่านทาง Cosmos Hub
  3. การเข้ารหัสขั้นสูง: หากการรักษาความปลอดภัยตกอยู่ในความเสี่ยงเนื่องจากเครือข่ายเลเยอร์ 1 ให้ความสำคัญในเรื่องความสามารถในการปรับขนาดและการกระจายอำนาจมากเกินไป พวกเขาสามารถใช้การเข้ารหัสแบบ Quantum-Resistant สำหรับบล็อกเชนโดยเฉพาะเพื่อปกป้องการดำเนินงานจากภัยคุกคามในอนาคตได้
  4. รูปแบบการกำกับดูแลที่ดียิ่งขึ้น: อีกวิธีหนึ่งในการปรับปรุงความสมบูรณ์ของเครือข่ายเลเยอร์ 1 คือการใช้งานโปรโตคอลการกำกับดูแลเครือข่ายที่ดียิ่งขึ้น โปรโตคอลเหล่านี้จะสามารถช่วยปรับปรุงมาตรการรักษาความปลอดภัยได้
  5. การขุดเหรียญแบบประหยัดพลังงาน : ในกรณีของเครือข่าย PoW Layer-1 การขุดเหรียญแบบประหยัดพลังงานอาจจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ได้ ช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถสำรวจภูมิทัศน์ระดับโลกที่ซับซ้อนและมีกฏระเบียบที่เฉพาะเจาะจงได้
  6. คุณลักษณะความเป็นส่วนตัวที่ได้รับการปรับปรุง: เครือข่ายเลเยอร์ 1 สามารถนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้งานได้ เช่น Zero-Knowledge Proofs ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานควบคุมข้อมูลของตนเองได้มากขึ้น

ตัวอย่างของนวัตกรรมเลเยอร์ 1:

นอกเหนือจากนวัตกรรมเหล่านี้แล้ว เครือข่ายเลเยอร์ 1 ใดๆ ก็สามารถรับผลประโยชน์จากการใช้งาน Machine Learning ได้เช่นกัน นวัตกรรมอื่นๆ นั้นรวมไปถึง การใช้โปรโตคอลการแยกส่วนสินทรัพย์ (Asset Fractionalization Protocols) และ ตัวเลือกการจัดเก็บข้อมูลที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยอย่างหลังนั้นจะมีประโยชน์ในการใช้ขนาดบล็อกปัจจุบันเพื่อจัดการกับความสามารถในการปรับขนาด และทั้งหมดนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโปรเจกต์เลเยอร์ 2 แต่อย่างใด

Layer 1 vs Layer 2 vs Layer 3?

ความหลากหลายของบล็อกเชนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเลเยอร์ 0, เลเยอร์ 1 หรือแม้แต่เลเยอร์ 2 เท่านั้น เครือข่ายบล็อกเชนเลเยอร์ 3 เช่น Orbs มีเป้าหมายที่จะมาแก้ไขปัญหาหลัก 3 ประการของบล็อกเชน (Blockchain Trilemma) และความสามารถในการปรับขนาดด้วยวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์มากที่สุด เพื่อทำความเข้าใจต่อเครือข่ายเลเยอร์ 3 ให้ดีมากยิ่งขึ้น เรามาดูแนวคิดของเครือข่ายเลเยอร์ 3 ไปพร้อมๆ กับเครือข่ายเลเยอร์ 1 และเลเยอร์ 2 กันดีกว่า

เครือข่าย L3
เครือข่าย L3: L2Beat

“หากเลเยอร์ 1 มีราคาถูกมากเพียงพอ ผมสามารถสามารถจินตนาการได้เลยว่าสิ่งต่างๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินของการซื้อของในแต่ละวัน จะถูกบันทึกลงไปยังบล็อกเชน เพราะมันเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะรับประกันได้ว่าใบเสร็จจะสามารถตรวจสอบได้ และไม่มีการใช้จ่ายซ้ำซ้อน”

Vitalik Buterin, ผู้ร่วมก่อตั้งของ Ethereum: X

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เลเยอร์ 1 คือเลเยอร์พื้นฐาน และเลเยอร์ 2 มีไว้สำหรับการปรับขนาดและทำให้เครือข่ายหลัก (Parent Chain) รวดเร็วยิ่งขึ้น คุณอาจจะพูดได้ว่า เลเยอร์ 3 เป็นเลเยอร์ของแอปพลิเคชั่น หากจะให้ย้อนกลับไปที่เรื่องการเปรียบเทียบกับอาคาร เลเยอร์ 3 จะทำหน้าที่เป็นการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ในชั้นที่ต่อเติมขึ้นมาของอาคาร หรือก็คือเครือข่ายเลเยอร์ 2 นั่นเอง

บล็อกเชนเลเยอร์ 2 ที่ได้รับความนิยม
บล็อกเชนเลเยอร์ 2 ที่ได้รับความนิยม: L2Beat

เครือข่ายเลเยอร์ 3 ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยปรับปรุงแอปพลิเคชั่นบล็อกเชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้งานได้ใน DeFi, Decentralized Gaming, NFT Marketplace และพื้นที่อื่นๆ อีกมากมาย

เครือข่าย Layer 1 vs. Layer 2 vs. Layer 3
เครือข่าย Layer 1 vs. Layer 2 vs. Layer 3: Medium

เครือข่ายเลเยอร์ 1 จะเพียงพอหรือไม่?

ถึงแม้ว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ถูกเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องในเครือข่ายกระจายอำนาจนี้ แต่ Blockchain Layer 1 ยังคงได้รับความนับถือเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง อำนาจในการกำกับดูแลที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เครือข่ายเลเยอร์ 1 ยังใช้งานได้หลากหลาย และช่วยให้นักพัฒนาจำนวนมากสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย DApps ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถใช้งานเครือข่ายเลเยอร์ 1 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พวกมันจะต้องรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนาโซลูชั่นเลเยอร์ 2 หลายๆ ตัว และที่สำคัญ ไม่ควรจะมองว่า Layer 2 นั้นเป็นคู่แข่งขัน แต่ให้พิจารณามันเป็นเทคโนโลยีเสริมสำหรับเครือข่ายเลเยอร์ 1 แทน ซึ่งเป็นบทบาทที่ขาดไปไม่ได้สำหรับเครือข่ายบล็อกเชนในวงกว้าง

คำถามที่พบบ่อย

บล็อกเชนเลเยอร์ 1 และเลเยอร์ 2 คืออะไร?

บล็อกเชนเลเยอร์ 0 และเลเยอร์ 1 คืออะไร?

Solana เป็นเลเยอร์ 1 หรือ 2?

Cardano เป็นบล็อกเชนเลเยอร์ 2 ใช่หรือไม่?

Polkadot เป็นเลเยอร์ 1 หรือ 2?

MATIC เป็นเลเยอร์ 1 หรือ 2?

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | สิงหาคม 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | สิงหาคม 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | สิงหาคม 2024

Trusted

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน