Trusted

Harmonic Pattern คืออะไร

7 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

เหล่านักเทรดที่ให้ความสนใจในการวิเคราะห์ทางเทคนิคน่าจะเคยพบเจอรูปแบบกราฟ (Chart Pattern) ต่างๆ มาแล้วมากมาย หรือไม่ก็อาจจะเคยได้ใช้มันในการเทรดมาแล้วบ้าง อย่างไรก็ตาม มันมีรูปแบบกราฟที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแต่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในอนาคตในกรอบเวลาใดๆ ก็ได้ รูปแบบกราฟดังกล่าวก็คือ “Harmonic Pattern” หรือ “รูปแบบฮาร์โมนิก” นั่นเอง แต่ Harmonic Pattern คืออะไร? มันสามารถนำไปใช้งานอย่างไรได้บ้าง? วันนี้ เราจะมาเจาะลึกในเรื่องนี้กัน!

Harmonic Pattern คืออะไร

Harmonic Pattern คือ รูปแบบราคา (Price Pattern) ประเภทหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ในการคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาได้ โดยจะเป็นรูปแบบที่มีวิธีการคำนวนซับซ้อนมากกว่ารูปแบบกราฟโดยทั่วไป แต่ก็จะแลกมาด้วยความแม่นยำของผลลัพธ์ในการวิเคราะห์และการคาดการณ์ที่สูงกว่าเช่นกัน

Harmonic Pattern จะอาศัยอัตราส่วนหรือระดับของ Fibonacci Retracement และ Extensions มาใช้คำนวนร่วมกับรูปแบบกราฟ เพื่อใช้ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการกลับตัวของราคาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ ซึ่งนักเทรดสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเพื่อทำการซื้อขายได้

Harold McKinley Gartley คือผู้ที่พัฒนาทฤษฏีการเทรดด้วย Harmonic Pattern โดยกล่าวถึง “Gartley Pattern” รูปแบบกราฟ 5 จุดที่ตั้งชื่อตามตัวเขาเอง ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “Profits in the Stock Market” ในปี 1932

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเขียนอีก 2-3 ท่านที่มีส่วนร่วมทำให้ Harmonic Pattern นี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมามากขึ้น เช่น Larry Pesavento ซึ่งเป็นผู้ที่กำหนดกฏพื้นฐานในการใช้รูปแบบร่วมกับ Fibonacci Level และ Scott M. Carney ผู้เขียนหนังสือ “Harmonic Trading” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ฟื้นฟูแนวทางในการซื้อขายด้วยรูปแบบฮาร์โมนิก โดยการขยายขอบเขตของรูปแบบเพิ่มเติม เช่น “Crab Pattern” “Bat Pattern” “Shark Pattern” เป็นต้น

Harmonic Pattern สำคัญกับการเทรดอย่างไร?

Harmonic Pattern ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์หลักๆ 2 ประการ ได้แก่

  • ใช้คาดการณ์ถึงการกลับตัวของราคา (Price Reversal)
  • ใช้คาดการณ์ถึงความยาวของความเคลื่อนไหวของราคา (Length of Price’s Movement)

แนวคิดหลักของ “รูปแบบฮาร์โมนิก” คือความเคลื่อนไหวของราคาและเวลาในตลาดจะมีสัดส่วนเดียวกับอัตราส่วนฟีโบนัชชี (Fibonacci Ratios) ซึ่งจะถูกนำมาใช้เพื่อค้นหาจุดที่เราสามารถเข้าเทรด (Entry Points) เพื่อทำกำไรได้ “รูปแบบฮาร์โมนิก” จึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เหล่านักเทรดสามารถคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาได้อย่างแม่นยำ

“รูปแบบฮาร์โมนิก” ที่นิยมนำมาใช้งาน

1. Gartley Pattern

“รูปแบบฮาร์โมนิก” ขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย Harold McKinley Gartley
ตัวอย่างของ Gartley Pattern จาก ig.com

Gartley Pattern เป็น Harmonic Pattern ขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย Harold McKinley Gartley มีชื่อเรียกอีกอย่างว่ารูปแบบ ‘222’ ตามหมายเลขหน้าที่ระบุไว้ในหนังสือ “Profits in the Stock Market” ของเขา Gartley Pattern มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปรับฐานของเทรนด์โดยรวม โดยจะมีกฏดังต่อไปนี้ (เราจะยกตัวอย่างจากรูปแบบขาลงหรือ Bearish):

  • ราคาจากจุด X ปรับตัวลงมายังจุด A (แนวรับ) และขยับขึ้นไปยังจุด B (แนวต้าน) โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.618 (61.8%) เมื่อวัดเทียบกับจุด X-A
  • จากจุด B ราคาปรับตัวลงไปที่จุด C (แนวรับ) โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.382 (38.2%) – 0.886 (88.6%) เมื่อวัดเทียบกับจุด A-B
  • จากจุด C ราคาขยับขึ้นไปที่จุด D (แนวต้าน) โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 1.13 (113%) ถึง 1.618 (161.8%) เมื่อวัดเทียบกับจุด A-B
  • ราคาที่จุด D จะต้องมีการขยับขึ้นไปสูงกว่าจุด B และมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.786 (78.6%) เมื่อวัดจากจุด X

ที่จุดดังกล่าว เราก็จะสามารถคาดการณ์ได้ถึงโอกาสในการกลับตัวของราคา ซึ่งจะเป็นจุดที่เราหาจังหวะเพื่อเข้าทำการขายได้

หมายเหตุ: สำหรับรูปแบบ Bullish หรือ ขาขึ้น (รวมไปถึงในรูปแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน) คำอธิบายจะสลับแค่เพียงในส่วนของแนวต้านหรือแนวรับเท่านั้น ในเรื่องของอัตราส่วน Fibonacci จะยังคงค่าไว้เหมือนเดิม

2. Butterfly Pattern

รูปแบบการกลับตัวของราคาที่มักจะพบในตอนท้ายของการเคลื่อนไหวของเทรนด์
ตัวอย่างของ Butterfly Pattern จาก ig.com

Butterfly Pattern เป็นรูปแบบการกลับตัวของราคาที่มักจะพบในตอนท้ายของการเคลื่อนไหวของเทรนด์ มันถูกคิดค้นขึ้นโดย Bryce Gilmore มันเป็นรูปแบบของการกลับตัว (Reversal Pattern) ที่ประกอบไปด้วย 4 เส้น ได้แก่ X-A, A-B, B-C และ C-D:

  • ราคาจากจุด X วิ่งไปยังจุด A และเคลื่อนที่ต่อไปยังจุด B โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.786 (78.6%) เมื่อวัดเทียบกับจุด X-A
  • จากจุด B ราคาขยับไปยังจุด C โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.382 (38.2%) – 0.886 (88.6%) เมื่อวัดเทียบกับจุด A-B
  • จากจุด C ราคาวิ่งไปที่จุด D โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 1.618 (161.8%) – 2.24 (224%) เมื่อวัดเทียบกับจุด A-B
  • ราคาที่จุด D จะต้องอยู่สูง (หรือต่ำ) กว่าจุด B โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 1.27 (127%)

3. Bat Pattern

Bat Pattern ถูกค้นพบโดย Scott M. Carney ในช่วงต้นทศวรรษ 2000
ตัวอย่างของ Bat Pattern จาก ig.com

Bat Pattern ถูกค้นพบโดย Scott M. Carney ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มันได้ชื่อว่า Bat Pattern เนื่องจากรูปร่างของกราฟนั้นจะดูคล้ายกับค้างคาว ความเคลื่อนไหวของราคานั้นจะคล้ายคลึงกับ Gartley Pattern แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของอัตราส่วน:

  • ราคาจากจุด X วิ่งไปยังจุด A และเคลื่อนที่ต่อไปยังจุด B โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.382 (38.2%) – 0.50 (50%) เมื่อวัดเทียบกับจุด X-A
  • จากจุด B ราคาขยับไปยังจุด C โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.382 (38.2%) – 0.886 (88.6%) เมื่อวัดเทียบกับจุด A-B
  • จากจุด C ราคาวิ่งไปที่จุด D โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 1.618 (161.8%) – 2.618 (261.8%) เมื่อวัดเทียบกับจุด A-B
  • ราคาที่จุด D จะต้องอยู่สูง (หรือต่ำ) กว่าจุด B โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.886 (88.6%)

4. Crab Pattern

Crab Pattern หนึ่งใน Harmonic Pattern ที่ได้รับการพัฒนาโดย Scott M. Carney
ตัวอย่างของ Crab Pattern จาก ig.com

Crab Pattern เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ได้รับการพัฒนาโดย Scott M. Carney ซึ่งอ้างว่านี่คือ Harmonic Pattern ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังเป็นรูปแบบที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรูปแบบที่แม่นยำที่สุดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะให้จุดกลับตัวของราคาที่ใกล้เคียงกับที่อัตราส่วน Fibonacci ระบุเป็นอย่างมาก

  • ราคาจากจุด X วิ่งไปยังจุด A และเคลื่อนที่ต่อไปยังจุด B โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.382 (38.2%) – 0.618 (61.8%) เมื่อวัดเทียบกับจุด X-A
  • จากจุด B ราคาขยับไปยังจุด C โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 0.382 (38.2%) – 0.886 (88.6%) เมื่อวัดเทียบกับจุด A-B
  • จากจุด C ราคาวิ่งไปที่จุด D โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 2.618 (261.8%) – 3.618 (361.8%) เมื่อวัดเทียบกับจุด A-B
  • ราคาที่จุด D จะต้องอยู่สูง (หรือต่ำ) กว่าจุด B โดยมีระดับอัตราส่วนอยู่ที่ 1.618 (161.8%)

สรุปอัตราส่วน Fibonacci ของแต่ละรูปแบบ

สรุปอัตราส่วน Fibonacci ของ Harmonic Pattern แต่ละรูปแบบ

ข้อดีและข้อเสียของการเทรดด้วยการใช้ Harmonic Pattern ในการวิเคราะห์

ข้อดี

  • ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ “รูปแบบฮาร์โมนิก” จะมีเปอร์เซ็นต์ของความแม่นยำที่ค่อนข้างสูง
  • “รูปแบบฮาร์โมนิก” มักจะปรากฏในกราฟอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งช่วยให้เหล่านักเทรดสามารถใช้มันในการเทรดของตนได้เป็นประจำ
  • “รูปแบบฮาร์โมนิก” สามารถใช้ได้กับตลาดและกรอบเวลาทุกประเภท
  • “รูปแบบฮาร์โมนิก” สามารถใช้ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคอื่นๆ (เช่น RSI) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยให้นักเทรดสามารถหาจุดเข้า/ออก, จุดตั้ง Stop Loss, หรือ จุดที่สามารถทำกำไรในการเทรดได้อย่างแม่นยำ

ข้อเสีย

  • การวิเคราะห์ “รูปแบบฮาร์โมนิก” ค่อนข้างที่จะมีความซับซ้อนและต้องใช้เทคนิคสูง ดังนั้น มันจึงอาจจะไม่เหมาะกับนักเทรดที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนัก
  • “รูปแบบฮาร์โมนิก” เกือบทั้งหมดมีความคล้ายคลึงกันในระดับหนึ่ง จึงทำให้เป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้เกิดการเข้าใจผิด
  • การเขียนโค้ดวิเคราะห์ “รูปแบบฮาร์โมนิก” เพื่อทำการซื้อขายด้วยระบบอัตโนมัติเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

สรุปส่งท้าย

การเทรดด้วย Harmonic Pattern ถือเป็นแนวทางในการเทรดที่ให้ความแม่นยำค่อนข้างสูง และยังสามารถใช้งานได้ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในสภาวะใดก็ตาม อย่างไรก็ตาม การเทรดด้วย Harmonic Pattern จะต้องอาศัยการฝึกฝนและการศึกษาข้อมูลเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะสามารถใช้งานมันได้อย่างเชี่ยวชาญ แต่ถึงกระนั้น ในเรื่องของการลงทุน เราก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า เทคนิคการเทรดใดๆ จะแม่นยำ 100% ดังนั้น นักเทรดควรจะหมั่นศึกษาและอัพเดตข้อมูลต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อที่จะเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ และช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการเทรดได้

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤศจิกายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤศจิกายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤศจิกายน 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน