Trusted

“เงินเฟ้อ” คืออะไร? ส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไร? อัตราเงินเฟ้อไทย 2566

5 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

เงินเฟ้อ คือ สภาวะที่เงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป จนทำให้สิ่งของมีราคาสูงขึ้น

“เงินเฟ้อ” ถูกกล่าวกันอย่างหนาหูในช่วง 1-2 ปีมานี้ แต่มันคืออะไร มันส่งผลต่อชีวิตเราหรือไม่ และเราควรทำอย่างไร เมื่อเงินในกระเป๋ากำลังเสื่อมค่าลงโดยไม่รู้ตัว

หากมีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คน เงินเฟ้อเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน เพราะทุกคนล้วนต้องมี “เงิน” ในการจับจ่ายใช้ส่อยในโลกปัจจุบัน แต่เงินที่เราถืออยู่นี้ไม่ได้มีมูลค่าที่คงที่ หากแต่ว่าขึ้นอยู่กับ “อุปทาน” ของเงินที่พิมพ์ออกมานั่นเอง

“เงินเฟ้อ” คืออะไร?

ความหมายของเงินเฟ้อ หากแปลแบบตรงตัวคือ สภาวะที่เงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป ต้นตอของเงินเหล่านี้เกิดขึ้นจากการพิมพ์เงินเพิ่มเพื่ออัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจ หรือก็คือ “การเพิ่มอุปทานของเงิน”

เงินเฟ้อ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ยกตัวอย่างเช่น หากธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการอัดฉีดเงินเพิ่มเข้าสู่ระบบ ธนาคารก็จะออกนโยบายดอกเบี้ยกู้ถูกๆ เพื่อให้นักลงทุนหรือบุคคลทั่วไปสามารถกู้เงินเพิ่มได้ ไม่ว่าจะกู้เพื่อไปทำธุรกิจ กู้ซื้อบ้าน หรือกู้ซื้อรถยนต์ จึงทำให้มีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น แน่นอนสิ่งนี้ก็อาจทำให้ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างได้รับเงินมากขึ้นด้วยเช่นกัน

เงินเยอะขึ้นทำให้เรารวยขึ้น!?

“เมื่ออุปทานของเงินสูงขึ้น” นั่นหมายความว่า เงินส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจก็มากขึ้นตาม คุณอาจขายของได้มากขึ้นแต่คุณใช้เงินเท่าเดิมและมีเงินเก็บมากขึ้น

ตามที่กล่าวมานี้ “ดูเหมือนว่าเงินเฟ้อจะเป็นเรื่องดี” แต่หากคุณลองมองในมุมของผู้ผลิตสินค้าและให้บริการแล้ว นั่นหมายความว่า “พวกเขาอาจกำลังขายสินค้าในราคาที่ถูกเกินไป” และทำให้มีการ “ปรับขึ้นสินค้าและบริการตามมา”

ทว่าปัจจัยที่สำคัญสำหรับธุรกิจในการปรับราคานั้น “เป็นเพราะต้นสายการผลิตและวัตถุดิบที่ปรับราคาขึ้น” ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้นตาม ภาระเหล่านี้จะถูกผลักไปให้ผู้บริโภค

ส่วนปัจจัยที่ทำให้วัตถุดิบหรือการผลิตนั้นสูงขึ้น นอกจากการที่ค่าเงินอ่อนลงเพราะอุปทานเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้การนำเข้ามีต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว ในระยะยาวยังมีปัจจัยแฝงอื่นๆ ด้วย เช่น ประชากรที่มากขึ้น เงินส่วนเกินที่มากขึ้นในระบบ และการบริโภคมวลรวมมากขึ้น

หมายความว่า หากคุณมีความสามารถให้การหาเงินเพิ่มได้เท่าเดิม หรือน้อยกว่าอัตราความเฟ้อของเงิน คุณก็จะมีความสามารถในการใช้สอยได้น้อยลง หรือพูดสั้นๆ ก็คือ “คุณกำลังจนลงเพราะเงินเฟ้อ”

ข้อดี ข้อเสีย ของเงินเฟ้อ

  • ข้อดี

ในสภาวะเงินเฟ้ออ่อนๆ ที่ประมาณ 2-3% เป็นสภาวะที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดี ผู้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นและไม่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตมากนัก ทำให้ธุรกิจมีรายได้จากการขายสินค้ามากขึ้นและนำมาขยายกิจการ ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

  • ข้อเสีย

ในสภาวะเงินเฟ้อสูง (Hyper Inflation) และสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจไม่สามารถปรับตัวกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้มีการ “ลดขนาดของกิจการ” หรือลดการจ้างงาน สินค้าและบริการต้องสูงเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด ทำให้สินค้าแพงขึ้นและอำนาจในการใช้สอยของผู้บริโภคลดน้อยลง

เงินเฟ้อวัดจากอะไร?

ดังนั้นปัจจัยของเงินเฟ้อหลักๆ ได้แก่

1.ต้นทุนในการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation)

2.ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation)

“ดัชนีราคาผู้บริโภค” (CPI)

อัตราเงินเฟ้อจะถูกวัดตาม “ดัชนีราคาผู้บริโภค” หรือ Consumer Price Index (CPI) โดยวัดจาก

1.ความเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ

2.ราคาบ้านที่อยู่อาศัย

ปัจจัยทั้ง 2 นี้จะถูกแบ่งลงไปอีกขึ้นอยู่กับการเก็บข้อมูลในแต่ละประเทศว่า สินค้าและบริการใดมีความสำคัญกับประชากรในประเทศนั้นๆ

อัตราเงินเฟ้อไทย 2566
Source: Bangkok Post : เงินเฟ้อ ในประเทศไทย 2023

เอาตัวรอดจาก “เงินเฟ้อ”

ดังที่กล่าวไปข้างต้น ว่าหากคุณหาเงินได้เท่าเดิม หรือน้อยกว่าการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะในปัจจุบันที่เงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหา นั่นหมายความเรากำลังจนลง “การลงทุน” จึงเป็นทางออกเพราะมันเป็นวิธีในการเพิ่มมูลค่าของเงินที่คุณมีอยู่ แต่คำถามคือ เราควรลงทุนในสินทรัพย์ใดดีในภาวะเงินเฟ้อ?

เมื่อเงินเฟ้อ นักลงทุนควรลงทุนในสินทรัพย์ใด?

สินทรัพย์ที่ควรลงทุนในภาวะเงินเฟ้อได้แก่

1.ทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ราคาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับเงินเฟ้อ และถูกเรียกว่า “Safe Haven” เหตุผลหนึ่งก็คือ ทองคำ มีอุปทานที่ค่อนข้างจำกัดและมีต้นทุนในการสร้างอุปทานใหม่สูง แตกต่างจากการพิมพ์เงิน ทำให้มันถูกเรียกว่า “โลหะมีค่า”

2.ตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ตราสารหนี้ระยะสั้นมีผลตอบแทนที่สูงตาม และมีความผันผวนต่ำกว่าตราสารหนี้ระยะยาว เพราะตราสารหนี้ระยะยาวจะได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและมีความเสี่ยงด้านระยะเวลาที่สูงกว่า

3.หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวกับ สินค้า-บริการ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากสินค้ามีอุปสงค์ที่ไม่ยืดหยุน เพราะผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้และต้องจ่ายแม้ว่าราคาจะสูงขึ้น และหากมีการจ่ายปันผลด้วยก็ยิ่งดี

4.กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ REITs เนื่องจากค่าเช่าปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ และมักมีอุปสงค์ที่ไม่ยืดหยุนเช่นกัน ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยกว่า

5.Bitcoin (BTC) เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีอุปทานจำกัด จึงถูกขนานนามว่าเป็น “ทองคำดิจิทัล” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกจากทองคำ และโลหะมีค่าอื่นๆ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันระยะสั้น Bitcoin ยังคงมีความผันผวนสูง

สรุป

เงินเฟ้อ คือภัยเงียบที่ทำให้เงินในกระเป๋าของคุณเสื่อมมูลค่าลง และสะท้อนผ่านราคาสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้น หากรายได้ของคุณไม่สามารถเติบโตได้ทันกับอัตราเงินเฟ้อ นั่นหมายความว่า คุณกำลังจนลงแม้ว่าคุณจะเป็นคนขยันออมก็ตาม

การลงทุนจึงเป็นทางออกหนึ่งในการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากเงินที่ถือครองอยู่เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยสินทรัพย์ที่เหมาะสมได้แก่ ทองคำหรือโลหะมีค่า ตราสารหนี้ระยะสั้น หุ้นของบริษัทที่สินค้าและบริการเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และอีกหนึ่งทางเลือกคือ Bitcoin

🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

IMG_4466-1.png
Nonthachai Sukkankosol
นนทชัย สักการโกศล จบการศึกษาปริญญาโท ด้านการวิจัยผลงานศิลปะร่วมสมัย จาก SOAS University of London แต่ผันตัวมาเป็นผู้แนะนำการลงทุนที่บริษัทหลักทรัพย์ Finansia Syrus Securities PLC. เขาถือใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารทุน ตราสารหนี้และกองทุนรวม และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงใบรับรองด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิค CMT ระดับ 2 จาก CMT Association ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเริ่มลงทุนคริปโตเคอเรนซี่มาตั้งแต่ปี 2016
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน