เมื่อนักเทรดได้เริ่มก้าวเข้ามาสู่วงการนี้แล้ว หลายๆ ครั้งก็มักจะได้ยินหรือได้เห็นคำว่า “เลเวอเรจ” อยู่เสมอ แต่แท้จริงแล้ว มันหมายความว่าอย่างไร? หากคุณเป็นนักเทรดหน้าใหม่ที่อยากจะรู้ว่า Leverage คืออะไร? บอกเลยว่ามาถูกที่แล้ว! ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่า “Leverage” คืออะไร? ทำงานอย่างไร? และจะมีประโยชน์ต่อการเทรดของเราอย่างไร?
Leverage (เลเวอเรจ) คืออะไร?
คำว่า “Leverage” หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การใช้เงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อเข้าถึงจำนวนเงินที่มากขึ้น — เปรียบเสมือนการ “ยืม” เงินมาจากโบรกเกอร์ — เพื่อที่คุณจะสามารถทำการซื้อสินทรัพย์ได้ในปริมาณที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของคุณนั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าคุณจะมีเงินลงทุนไม่มาก แต่ด้วยการใช้ประโยชน์จากค่า “เลเวอเรจ” คุณก็จะสามารถเพิ่มโอกาสในการทำกำไรจากการเทรดได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Leverage ก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่อาจจะให้ประโยชน์หรือโทษกับคุณก็ได้ ถึงแม้ว่ามันจะช่วยเพิ่มความสามารถในการลงทุนให้สูงขึ้นได้ แต่หากการลงทุนดังกล่าวไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่คุณคาดการณ์เอาไว้ ความเสี่ยงในการขาดทุนก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น การเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “เลเวอเรจ” ให้ถ่องแท้ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกของการเทรดในปัจจุบัน
Leverage ทำงานอย่างไร?
หลังจากที่เราได้เรียนรู้กันไปแล้วว่า “Leverage” คืออะไร ต่อไป เราจะมาดูกันว่า มันทำงานอย่างไร?
หัวใจสำคัญของค่า Leverage นั้นก็คือ การช่วยให้เราใช้เงินทุนที่น้อยลงเพื่อเปิดคำสั่งซื้อในปริมาณที่สูงขึ้นได้ โดยทั่วไปแล้ว ค่า Leverage จะถูกแสดงออกมาเป็นอัตราส่วน เช่น 1:10, 1:20, 1:50, 1:100 ฯลฯ โดยจะขึ้นอยู่กับประเภทของสินทรัพย์และนโยบายของโบรกเกอร์แต่ละเจ้า ตัวเลขอัตราส่วนดังกล่าวนั้นหมายความว่า เงินทุนของคุณทุกๆ 1 ส่วน จะสามารถ “ยืม” เงินทุนจากโบรกเกอร์มาเทรดได้เป็นจำนวน X เท่านั่นเอง
หมายเหตุ: ถึงแม้ว่าค่า Leverage จะเปรียบเสมือนการยืมเงินจากโบรกเกอร์เพื่อมาลงทุนในปริมาณที่สูงขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า โบรกเกอร์ให้คุณยืม “เงิน” จริงๆ แต่เป็นเพียงการขยายความสามารถในการซื้อขายโดยการใช้เงินทุนจริงๆ ของคุณเป็นหลักประกันเท่านั้น
ตัวอย่างของเงินลงทุนที่ 1,000 บาท
- Leverage 1:10 — มูลค่าของธุรกรรมสูงสุดที่สามารถทำได้จะอยู่ที่ 10,000 บาท
- Leverage 1:100 — มูลค่าของธุรกรรมสูงสุดที่สามารถทำได้จะอยู่ที่ 100,000 บาท
- Leverage 1:200 — มูลค่าของธุรกรรมสูงสุดที่สามารถทำได้จะอยู่ที่ 200,000 บาท
หมายเหตุ: มูลค่าของธุรกรรมสูงสุดที่สามารถทำได้นั้นจะรวมกัน ไม่ว่าจะเทรดไม้เดียวหรือหลายไม้ก็ตาม
ตัวอย่างการใช้งาน
หากโบรกเกอร์ให้ Leverage แก่คุณที่ 1:10 หากคุณมีเงินทุนทั้งหมด 1,000 บาท คุณจะสามารถซื้อขายสินทรัพย์ได้ในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า หรือก็คือ 1,000 x 10 = 10,000 บาทนั่นเอง
สมมุติว่าคุณมีเงินทุนอยู่ 1,000 บาท และคุณต้องการซื้อหุ้น A ที่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 20 บาทต่อหุ้น หากคุณไม่ได้ใช้เลเวอเรจเลย คุณจะสามารถซื้อหุ้นได้ทั้งหมด 50 หุ้น (1,000/20) หมายความว่า เงินลงทุนทั้งหมดของคุณจะเท่ากับ 1,000 บาท
แต่หากโบรกเกอร์ให้ Leverage กับคุณที่ 1:10 หมายความว่า ด้วยเงินทุน 1,000 บาท คุณจะสามารถเปิดการซื้อขายที่มูลค่า 10,000 บาทได้ (10 เท่าของเงินทุน) เท่ากับว่าคุณได้ยืมเงินลงทุนมาจากโบรกเกอร์เป็นจำนวน 9,000 บาท และตอนนี้ คุณจะสามารถซื้อหุ้น A ได้ทั้งหมดเป็นจำนวน 500 หุ้น แทนที่จะเป็น 50 หุ้น ทั้งๆ ที่ใช้เงินลงทุนมูลค่า 1,000 บาทเท่ากัน!
ทีนี้ หุ้น A วิ่งขึ้นไป 10% จะเกิดอะไรขึ้น?
หากคุณเทรดโดยไม่ใช้เลเวอเรจ หุ้น A ของคุณจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 22 บาทต่อหุ้น โดยมีจำนวน 50 หุ้น ทำให้เงินลงทุนของคุณตอนนี้มีมูลค่าเท่ากับ 22 x 50 = 1,100 บาท เมื่อลบกับต้นทุนของคุณ หมายความว่าคุณจะได้กำไรทั้งหมด 1,100 – 1,000 = 100 บาท นั่นเอง
หากคุณเทรดโดยการใช้ Leverage ที่ 1:10 มูลค่าการลงทุนทั้งหมดของคุณจะเท่ากับ 22 x 500 = 11,000 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อหักลบกับเงินที่คุณยืมมาจากโบรกเกอร์เป็นจำนวน 9,000 บาท จะเท่ากับว่า คุณทำกำไรจากมูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นได้ที่ 11,000 – 9,000 = 2,000 บาท และเมื่อหักลบกับต้นทุนของคุณ หมายความว่าคุณจะได้กำไรทั้งหมด 2,000 – 1,000 = 1,000 บาท นั่นเอง
ในทางกลับกัน หากหุ้น A มีมูลค่าลดลง 10% สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ
หากคุณเทรดโดยไม่ใช้เลเวอเรจ หุ้น A ของคุณจะมีมูลค่าลดลงเป็น 18 บาทต่อหุ้น เงินลงทุนของคุณจะเหลือมูลค่า 18 x 50 = 900 บาท เท่ากับว่าคุณขาดทุนเป็นจำนวน 100 บาท
และหากคุณใช้ Leverage ที่ 1:10 มูลค่าการลงทุนทั้งหมดของคุณจะเท่ากับ 18 x 500 = 9,000 บาท และเมื่อหักลบกับค่า Leverage ที่คุณยืมมาจากโบรกเกอร์ (9,000 – 9,000) เท่ากับว่า คุณจะสูญเสียเงินทุนทั้งหมดของคุณทั้งหมด
จากตัวอย่างจะแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าการใช้ Leverage จะช่วยเพิ่มผลกำไรให้กับคุณได้อย่างมหาศาล แต่มันก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับคุณได้มหาศาลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีที่คุณขาดการจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ Leverage ก็อาจจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงได้
“เลเวอเรจ” เท่าใดที่คุณควรเลือกใช้งาน
การเลือกใช้ค่า Leverage ที่เหมาะสมนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการของนักเทรดแต่ละคน หากคุณเป็นนักเทรดที่รับความเสี่ยงแบบ High Risk High Return ได้ มีกลยุทธ์การเทรดที่เหมาะสม และมีการจัดการความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี การใช้อัตรา Leverage ที่สูงขึ้นก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับคุณได้เป็นอย่างมาก แต่หากคุณเป็นนักเทรดที่ต้องการจำกัดความเสี่ยง การเทรดด้วย Leverage ต่ำๆ หรือไม่ใช้เลย ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่าก็เป็นได้
“Margin” กับ “Leverage” มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?
Margin (มาร์จิ้น) นั้นก็เปรียบเสมือน “เงินหลักประกัน” ที่เราจะต้องจัดหามาตามสัดส่วนของ Leverage ที่เราเลือกใช้งาน หรือ พูดง่ายๆ ก็คือเงินที่คุณต้องมีในบัญชีเทรดซึ่งจะผกผันตามค่า Leverage ที่คุณเลือกใช้นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น หากเราเลือกใช้งาน Leverage ที่ 1:50 ค่า Margin ที่ต้องใช้ก็คือ 1 ส่วน ต่อมูลค่าการเทรดด้วยเลเวอเรจ 50 บาท และหากเราต้องการเทรดหุ้น A ที่มูลค่า 50,000 บาท นั่นหมายความว่าคุณจะต้องมี Margin หรือ เงินที่ฝากเข้าไปในบัญชีเป็นจำนวน 50,000 / 50 = 1,000 บาท
ดังนั้น ยิ่งค่า Leverage ที่คุณเลือกใช้งานสูงเท่าไหร่ ค่า Margin ที่ต้องใช้ก็จะต่ำลงไปตามสัดส่วนเท่านั้น
ตัวอย่างของมูลค่าการเทรดที่ 100,000 บาท
- Leverage 1:1 — Margin หรือ เงินในบัญชีเทรด ที่ต้องมีจะเท่ากับ 100,000 บาท
- Leverage 1:10 — Margin หรือ เงินในบัญชีเทรด ที่ต้องมีจะเท่ากับ 10,000 บาท
- Leverage 1:100 — Margin หรือ เงินในบัญชีเทรด ที่ต้องมีจะเท่ากับ 1,000 บาท
หากคุณต้องการที่จะเทรดในปริมาณที่สูงขึ้น (ในเลเวอเรจเท่าเดิม) Margin ที่คุณจะต้องใช้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน นั่นหมายความว่า คุณจะต้องเพิ่มเงินลงไปในบัญชีเพื่อเป็น “หลักประกัน” ให้กับโบรกเกอร์เพื่อเพิ่มความสามารถในการเทรดของคุณนั่นเอง
ข้อดีและข้อเสียของการใช้ Leverage ในการเทรด
ข้อดี
- ทำการซื้อขายในปริมาณที่สูงขึ้นได้ — เนื่องจากคุณมีเงินทุนที่สามารถใช้งานได้มากกว่าเดิม คุณจะสามารถซื้อสินทรัพย์เป็นจำนวนมากกว่าเดิมได้ หรือ ซื้อสินทรัพย์ที่มีราคาสูงกว่าเดิมได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรให้กับคุณ
- ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรมากขึ้น — ก็เหมือนกับตัวอย่างที่เราได้อธิบายไป การใช้ Leverage ในการเทรดจะเพิ่มโอกาสที่คุณจะทำกำไรเพิ่มมากขึ้นได้
- เป็นการใช้เงินทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด — การใช้ Leverage จะช่วยให้คุณใช้เงินทุนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าคุณจะมีเงินทุนไม่มาก แต่คุณก็จะสามารถทำการซื้อขายในล็อตที่ใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งเป็นการช่วยให้คุณเหลือเงินทุนที่อาจจะนำไปใช้ในโอกาสอื่นๆ ได้เพิ่มเติม
ข้อเสีย
- เพิ่มความเสี่ยงที่คุณจะสูญเสียเงินลงทุน — ความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คุณหวังไว้เพียงเล็กน้อย ก็อาจจะส่งผลให้คุณขาดทุนได้เป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะทำให้คุณถูกล้างพอร์ตในเวลาอันสั้นได้เลย
- มีความเสี่ยงในการโดน Margin Call — ในการเทรดด้วยเลเวอเรจ คุณจะต้องรักษายอดเงินในบัญชีให้เพียงพอกับความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ หากราคาของสินทรัพย์เคลื่อนไหวสวนทางคุณ และบัญชีของคุณมียอดเงินอยู่ต่ำกว่ามาร์จิ้นที่กำหนดไว้ คุณก็อาจจะถูก Margin Call ได้ ซึ่งคุณก็จำเป็นจะต้องฝากเงินเข้าไปในบัญชีเพิ่มเติม หรือ ปิด Position บางส่วนของคุณ (หรือทั้งหมด) เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด ไม่เช่นนั้น คุณอาจจะถูกชำระบัญชีจากโบรกเกอร์ของคุณได้
Leverage Indicator
Leverage Indicator คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจสอบระดับ Leverage ในปัจจุบันของบัญชีเทรดของคุณ ซึ่งจะแสดงผลบนหน้าจอโดยอัตโนมัติ และสามารถปรับแต่งเลย์เอ้าต์ได้ตามที่ต้องการ โดยตัวอินดิเคเตอร์นี้จะทำงานได้กับแพลตฟอร์ม Metatrader 4
วิธีการติดตั้ง
- โหลดไฟล์ Leverage indicator.ex4 จากที่นี่
- นำไปใส่ในโฟลเดอร์ Indicators ของโปรแกรม MT4
- รีเฟรชโปรแกรม MT4 หนึ่งครั้ง
- จากนั้น ตัวอินดิเคเตอร์ก็จะปรากฏขึ้นมาในช่อง Indicators ให้เลือกใช้งานได้ทันที
สรุปส่งท้าย
โดยสรุปแล้ว Leverage ก็คือเครื่องมือที่จะช่วยขยายขอบเขตการลงทุน ทำให้เงินทุนของคุณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพิ่มโอกาสในการกำไรอย่างมหาศาลให้กับเหล่านักเทรดได้ อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนที่สูงก็มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือ คุณจะต้องระมัดระวังในการเทรดด้วย Leverage และลดความเสี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเลือกใช้ค่าเลเวอเรจต่ำๆ หรือการตั้งค่า Stop Loss ให้เหมาะสม ก็จะช่วยลดโอกาสในการสูญเสียเงินลงทุนของคุณได้ไม่มากก็น้อย
ข้อจำกัดความรับผิด
ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์