ดูเพิ่มเติม

Mastodon คืออะไร? มาทำความรู้จักกับคู่แข่งของ Twitter ท่ีมีจุดเด่นน่าสนใจกัน

20 mins
โดย Rahul Nambiampurath
แปลแล้ว Akradet Mornthong

การต่อสู้ระหว่าง “ช้าง” กับ ”นกฟ้า” ได้เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่อย่าพึ่งตกใจไป เพราะมันไม่ใช่การต่อสู้จริงๆ แต่เป็นการชิงชัยในเชิงสถิติระหว่าง Mastodon (ที่มีช้างเป็นมาสคอต) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชี่ยลหน้าใหม่ในวงการ ปะทะกับ Twitter (ที่มีนกฟ้าเป็นมาสคอต) แพลตฟอร์มโซเชียลชื่อดังซึ่ง Elon Musk เป็นเจ้าของ

แต่ศึกครั้งนี้เกิดขึ้นได้ยังไง?

คือ.. ไม่ใช่ว่าพวกเราพอใจใน Twitter ที่ Elon Musk ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น, มีบอทน้อยลง, และเพิ่มคุณสมบัติใหม่ๆ เหรอ? ไม่ครับ เหมือนว่าบางคนจะไม่คิดแบบนั้น และนั่นคือเหตุผลที่เราจะมาเรียนรู้กันว่า Mastodon คืออะไร แล้วมันจะมาแทนที่ Twitter ได้อย่างไร

เราทุกคนต่างก็ต้องการแพลตฟอร์มโซเชียลแบบกระจายอำนาจมานานแล้ว เพราะว่า ถ้าเราไม่ต้องพึ่งพาองค์กรแบบรวมศูนย์ โอกาสที่เราจะถูกแบนโดยองค์กรเหล่านี้ก็เป็นศูนย์ และก็จะไม่มีกรณีที่แพลตฟอร์มถูกปล่อยขาย และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ต่าง ๆ ที่เราจะไม่ชอบใจ

Mastodon มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่จะมาเพื่อช่วยเหลือผู้คน ไม่ใช่มาหาผู้ถือหุ้นขององค์กร อย่างไรก็ตาม Mastodon ยังมีหนทางอีกยาวไกลที่จะต้องพิสูจน์ตัวเอง กว่าจะแทนที่ Twitter ได้

ต้องการพูดคุยเกี่ยวกับโปรเจกต์แบบกระจายอำนาจใหม่ๆ ไหม? มาเข้าร่วม BeInCrypto Trading Community บน Telegram ได้เลย: ที่นี่รวมกลุ่มกับคนที่มีความคิดคล้าย ๆ กัน, อัพเดตข่าวที่ร้อนแรงที่สุดเกี่ยวกับโปรเจกต์ Web3, และแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เชี่ยวชาญของเรา!

วันนี้ เราจะมาอธิบายช่วยให้คุณเข้าใจได้ว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบกระจายอำนาจที่ชื่อ Mastodon ว่าคืออะไร ซึ่งจะช่วยให้คุณเข้าใจฟีเจอร์ต่าง ๆ, ความคล้ายคลึง, และข้อแตกต่างจาก Twitter และมาดูกันว่าเรื่องราวการต่อสู้ระหว่าง Mastodon vs. Twitter นั้นคุ้มค่ากับการเสียเวลาอ่านหรือไม่

Mastodon คืออะไร? แล้วทำไมมันถึงเป็นจุดสนใจ?

Mastodon

เราจะมาเริ่มต้นกันด้วยการอธิบายว่า Mastodon คืออะไร และมันมีความเป็นมาอย่างไร Mastodon ถือกำเนิดขึ้นในปี 2016 โดยเป็นผลงานของ Eugen Rochko ผู้พัฒนาชาวเยอรมัน พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียแบบ “กระจายอำนาจ” ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพของการสนทนา, การมีตัวตนในโลกออนไลน์แบบฟรี ๆ (ไม่ต้องจ่าย 8 ดอลลาร์) และโครงสร้างการทำงาน ที่ไม่มีการพึ่งพาการควบคุมจากส่วนกลาง

แต่นั่นยังไม่ใช่ส่วนที่น่าสนใจที่สุดเลยด้วยซ้ำ โซเชียลมีเดีย Mastodon ประกอบไปด้วยเครือข่าย “ที่เป็นเอกเทศ” หลายเครือข่าย เครือข่ายเหล่านี้ของ Mastodon จะถูกเรียกว่าเป็นเซิร์ฟเวอร์หรือ “อินสแตนซ์” และนั่นคือความหมายของการกระจายอำนาจในโซเชียลมีเดียของ Mastodon

จากโครงสร้างที่เป็นเอกเทศจากกันเหล่านี้ Mastodon จึงได้ชื่อว่าเป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียแบบกระจายตัว ไม่ขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่ง ชุมชนก็จะมีพลังมากขึ้น

ประวัติความเป็นมา การเติบโต และเหตุผลของการมีอยู่ของแพลตฟอร์ม Mastodon

Rockho กล่าวในบล็อกเมื่อ 2 ปีก่อนว่า เขาสร้าง Mastodon ขึ้นมาเพื่อสร้างรายได้ส่วนตัว อย่างไรก็ตาม จากการที่เครือข่ายโซเชียลแบบกระจายอำนาจนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ตอนนี้เขาจึงได้กลายเป็นพนักงานอย่างเต็มเวลา เนื่องจากองค์กรต้องการนักออกแบบ, นักพัฒนา, และความช่วยเหลืออื่น ๆ มากยิ่งขึ้น

Rockho จดทะเบียน Mastodon เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในเดือนมิถุนายน 2021 จากนั้น 1 ปีกับอีกไม่กี่เดือนต่อมา Mastodon — ตัวเลือกใหม่แทนที่ Twitter รายนี้ — มีฐานผู้ใช้งานถึง 1 ล้านคน การเติบโตทรงตัวมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2022 ที่ยอดผู้ใช้งานได้พุ่งสูงขึ้นอย่างทันที เมื่อ Elon Musk ทำการเข้าซื้อกิจการ Twitter ได้สำเร็จในวันที่ 27 ตุลาคม ฐานผู้ใช้งานของ Mastodon ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีผู้ใช้งานหน้าใหม่เกือบ 60 ถึง 80 รายในทุกๆ ชั่วโมง

ผู้ใช้งาน Mastodon
การเติบโตของ Mastodon นับตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการของ Twitter ประสบความสำเร็จ: SensorTower

สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนความนิยมของ Mastodon ก็คือ การเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของ Twitter รวมไปถึงวิธีการจัดการกับพนักงาน และนโยบายประหลาดต่าง ๆ ของ Elon Musk เช่น การที่ต้องจ่ายเงินสำหรับเครื่องหมายยืนยันสีฟ้า (เครื่องหมายติ๊กถูกหลังชื่อบัญชี) และตอนนี้ Mastodon ในฐานะเครือข่ายโซเชียลแบบกระจายอำนาจ ได้ตั้งเป้าที่จะอ้าแขนต้อนรับเหล่าผู้ใช้งานที่ไม่พอใจเหล่านั้นเข้ามา

ตัวอย่างการตอบโต้ของผู้ใช้งานที่ไม่พอใจกับการกระทำของ Elon Musk:

การกระจายอำนาจเหมือนกับในบล็อกเชน?

ก็ไม่เชิงว่าเป็นแบบนั้นซะทีเดียวนะครับ การกระจายอำนาจในบล็อกเชน หมายถึง กิจกรรมบนเครือข่าย (On-Chain) ที่ทุกคนสามารถดูและตรวจสอบได้ ในกรณีของ Mastodon การกระจายอำนาจนี้ จะเป็นการแบ่งเครือข่ายขนาดใหญ่ออกเป็นเครือข่ายย่อย ๆ ขนาดเล็ก — ซึ่งแต่ละเครือข่ายถือเป็น “อินสแตนซ์” ของ Mastodon

อีกหนึ่งคำศัพท์ที่เราจะต้องเรียนรู้คือ: โอเพ่นซอร์ส ในกรณีของ Mastodon ผู้ใช้งานสามารถจัดตั้งชุมชน (Community) ของตนเองได้โดยใช้โค้ดโอเพ่นซอร์ส กฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ จะแตกต่างกันไปตามประเภทของชุมชน หากคุณเป็นผู้ใช้งาน Mastodon ในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แล้วไม่เห็นด้วยกับกฎใด ๆ คุณก็สามารถดาวน์โหลดโค้ดและสร้างชุมชน, เซิร์ฟเวอร์, หรืออินสแตนซ์ Mastodon ของตนเองได้ใหม่

นอกจากนี้ มันยังสามารถทำงานร่วมกันได้อีกด้วย ซึ่งหมายความว่า ชุมชน Mastodon สามารถมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้ หากชุมชนไม่ได้ตั้งค่าการป้องกันเอาไว้ (เรียกง่าย ๆ ว่า ไม่ได้ล็อกให้เป็นกลุ่มปิด) ความสามารถในการทำงานร่วมกันนี้ ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พลังของเครือข่ายโซเชี่ยลมีเดีย กลับมาอยู่ในมือของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

Mastodon

เดี๋ยวก่อนนะ นี่มันเหมือนกับสโลแกนของ Mastodon เป๊ะ ๆ เลยนี่นา

นอกจากนี้ รูปแบบของเครือข่ายโซเชียลมีเดียแบบกระจายอำนาจนี้ จะเป็นการรวมตัวกันภายใต้ศูนย์กลาง เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเหมือนกับอีเมล ที่ไม่ว่าอีเมลของคุณจะใช้หางท้ายเป็นของเจ้าไหน — Hotmail, Yahoo หรือ Gmail — คุณก็จะสามารถส่งและรับอีเมลให้กับอีเมลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แบบเดียวกับของคุณได้

คุณลักษณะดังกล่าวทำให้ Mastodon เป็นตัวเลือกในการใช้งานแทน Twitter ที่มีความสมเหตุสมผล ทั้งการกระจายอำนาจ, ความพร้อมใช้งานของโค้ดโอเพนซอร์ส, และการทำงานร่วมกัน

การทำงานของแอป Mastodon

Mastodon ทำงานโดยการเป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่ใช้งานได้ฟรีสำหรับทุกคน ซึ่งให้ความสำคัญกับฐานผู้ใช้งานมากกว่าการเติบโตของมันเอง จากการเป็นเครือข่ายที่รวมตัวกันภายใต้ศูนย์กลาง ผู้ใช้งานจะสามารถควบคุมเนื้อหาที่ต้องการดู และมีส่วนร่วมได้

ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่มีบริษัทใด ๆ ที่เป็นผู้ที่ให้บริการ Mastodon เพราะว่า แม้แต่คุณหรือเพื่อนของคุณก็สามารถสร้าง Local Servers เองได้ — อินสแตนซ์ Mastodon ทั้งหมดจะยังคงเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานจาก Local Servers เครื่องต่าง ๆ ถึงแม้ว่าเซิร์ฟเวอร์หนึ่งหยุดทำงาน มันก็จะไม่มีผลกระทบต่อชุมชนอื่น ๆ แต่อย่างใด นี่แหละที่เจ๋ง

อย่างไรก็ตาม ในการสร้างชุมชนในขั้นต้นนั้น การเลือกเซิร์ฟเวอร์ที่เหมาะสมก็อาจจะดูยากไปสักหน่อย แต่บน Mastodon คุณสามารถย้ายบัญชีของคุณได้เสมอ (เดี๋ยวผมจะเขียนวิธีการตั้งค่าบัญชีให้ครับ) นอกจากนี้ Mastodon ก็ไม่มีโฆษณา — ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งานอย่างเต็มที่

ฟีเจอร์ต่างๆ ของ Mastodon

ฟีเจอร์ Mastodon

เรามาพูดถึงฟีเจอร์โดดเด่น ที่อาจจะทำให้ Mastodon กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มาแทนที่ Twitter ได้ คือเมื่อคุณเริ่มใช้งาน Mastodon ครั้งแรก จะลองเปรียบเทียบกับ Twitter ก็ได้ เพราะ UX/UI อินเทอร์เฟซดูคล้าย ๆ กัน อย่างไรก็ตาม Mastodon นั้นมาพร้อมกับฟีเจอร์พิเศษที่มากกว่า

ผลิตภัณฑ์บนโปรโตคอล

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2022 Mastodon ได้ทวีตและระบุอย่างชัดเจนว่า พวกเขาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำงานบนโปรโตคอล ไม่ใช่หน่วยงานส่วนกลาง

นั่นหมายความว่าแอปพลิเคชั่นใด ๆ ที่ใช้งานโปรโตคอลเดียวกันจะทำให้ Mastodon และแอปอื่น ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ ความพร้อมใช้งานของโปรโตคอลแบบครบวงจรทำให้ Mastodon กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Fediverse — ซึ่งประกอบด้วยแอปอย่าง PeerTube, PIXELFED, Misskey และอื่นๆ

อินสแตนซ์

เราได้พูดไปแล้วในเรื่องชุมชนต่าง ๆ ที่จะอนุญาตให้คุณสร้างบัญชี Mastodon ของคุณได้โดยมี (หรือไม่มี) กฏระเบียบก็ตาม ชุมชนหรือเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ จะถูกเรียกว่าอินสแตนซ์ ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้งานคนใดก็ตาม ไม่สามารถเข้าร่วมชุมชนอื่น แบบมั่ว ๆ แล้วเริ่มโพสต์เรื่องอะไรไร้สาระได้ คุณจะต้องเลือกเครือข่ายที่คุณต้องการมีส่วนร่วม และปฏิบัติตามแนวทางของชุมชนนั้นๆ

บูสต์ รายการโปรด และทูทส์

ผู้ใช้งาน Twitter ที่ย้ายมา Mastodon จะยังสามารถใช้งานฟีเจอร์พิเศษแพลตฟอร์มได้ เช่น ทวีต ไลค์ และรีทวีตได้ Mastodon มีฟีเจอร์เหล่านั้นให้คุณใช้งานเช่นกัน เพียงแต่จะเปลี่ยนชื่อนิดหน่อย

  • ทวีตกลายเป็นทูทส์ (Toots)
  • ไลค์กลายเป็นรายการโปรด (Favorites)
  • รีทวีตกลายเป็นบูสต์ (Boosts)

ขีดจำกัดของตัวอักษร

Mastodon ช่วยให้คุณสร้างโพสต์ได้ โดยสามารถใส่ตัวอักษรได้สูงสุดถึง 500 ตัว เพราะถึงแม้ว่า Elon Musk จะทำให้ Twitter ในปัจจุบัน ใส่ข้อความยาวได้ยาวเป็นพารากราฟไปแล้ว แต่ยังมีผู้ใช้บางส่วนติดใจกับการโพสต์ข้อความสั้น ๆ (สมัยก่อน Twitter กำหนดที่ 280 ตัว) เพราะย่อยง่าย และได้ใจความมากว่า

การกลั่นกรองเนื้อหา

Twitter มีระบบกลั่นกรองเนื้อหาทั่วทั้งแพลตฟอร์ม ในกรณีของ Mastodon นั้น หลักเกณฑ์การกลั่นกรองเนื้อหาเอง ก็มีการการกระจายอำนาจ — หมายความว่าทุกเซิร์ฟเวอร์หรืออินสแตนซ์ของ Mastodon สามารถตั้งกฎ และข้อบังคับให้สมาชิกปฏิบัติตามได้ในเรื่องนี้

แต่ Twitter อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน อ้างอิงจากหลาย ๆ ทวิตของ Elon Musk:

ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส

ผู้พัฒนาที่อยู่เบื้องหลัง Mastodon ไม่มีลิขสิทธิ์ของผลิตภัณฑ์ ทุกคนสามารถดาวน์โหลดโค้ด, แก้ไข, และติดตั้ง Mastodon เวอร์ชั่นนั้น ๆ บนอุปกรณ์ของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณกำลังใช้งานหรือเปลี่ยนแปลงโค้ดต้นฉบับ คุณควรรับทราบแหล่งที่มาดั้งเดิมเสียก่อน

หากคุณสนใจที่จะลองใช้งานโค้ดโอเพ่นซอร์สนี้จริงๆ สามารถดาวน์โหลดได้จาก Github นี้ และเนื่องจากมันมีใบอนุญาต AGPLv3 ติดมาด้วย คุณจึงสามารถใช้โค้ด Mastodon นี้ แม้กระทั่งในวัตถุประสงค์ทางการค้าได้

ไทม์ไลน์ที่แตกต่างกัน

Mastodon นำเสนอการเลือกเนื้อหาเฉพาะเซอร์เคิล/ไทม์ไลน์ โดยจะขึ้นอยู่กับคนที่คุณติดตาม, ผู้ใช้งานในเซิร์ฟเวอร์ปัจจุบัน, และผู้คนที่ผู้ใช้งานเซิร์ฟเวอร์ของคุณติดตาม ไทม์ไลน์จะถูกแยกออกเป็นหน้า Home, Local และ Federated ฟังก์ชั่นนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งาน Mastodon สามารถเพลิดเพลินไปกับเนื้อหาที่พวกเขาโดนใจที่สุด

โปรโตคอล ActivityPub

ฟีเจอร์ของ Mastodon เผยให้เห็นถึงสิ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเครือข่ายโซเชียลมีเดียแบบกระจายอำนาจนี้ มันไม่ใช่แค่เว็บไซต์เพียงเว็บไซต์เดียว แต่เป็นกลุ่มของเว็บไซต์ ที่มีไว้เพื่อขยายการสื่อสารจากทั่วทั้งโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Fediverse ที่ผู้ใช้งานจาก Mastodon สามารถใช้บัญชี Mastodon เพื่อติดตามบัญชีอื่น ๆ บนแอป Fediverse อื่นได้ ข้อกำหนดเบื้องต้นเพียงอย่างเดียวคือ แอปนั้นจะต้องทำงานบนโปรโตคอล ActivityPub

Fediverse
Mastodon ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Fediverse: Fediverse

แนวทางนี้มีประสิทธิภาพมาก ลองนึกถึงคนที่มีบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่สามารถติดตามคนบนแพลตฟอร์มสตรีมวิดีโอได้โดยไม่ต้องสร้างบัญชีใหม่สิ นี่คือความหมายที่แท้จริงของการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเข้าใกล้ยุคแห่งการนำ Web 3.0 มาใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งอำนาจในการควบคุมจะอยู่ที่ผู้สร้างและผู้ใช้งาน ไม่ใช่องค์กรส่วนกลาง

วิธีสร้างบัญชีบน Mastodon

วิธีการสมัครบัญชี Mastodon อย่างละเอียดทีละขั้นตอน:

ตอนที่ 1: เริ่มต้นการใช้งาน

  • ไปที่ joinmastodon.org จากนั้น คุณสามารถเลือกดาวน์โหลดแอป หรือ สร้างบัญชีโดยตรงจากเบราว์เซอร์ได้
สมัคร Mastodon
เข้าร่วมกับ Mastodon
  • หน้าที่มีเซิร์ฟเวอร์ (อินสแตนซ์) ให้เลือกมากมายจะแสดงขึ้นมา คุณสามารถเลือกเซิร์ฟเวอร์ใดก็ได้ที่คุณต้องการเพื่อสร้างบัญชี คุณจะเห็นตัวเลือกตาม “ภูมิภาค” ที่ทางด้านขวามือ หากคุณเลื่อนขึ้น คุณจะเห็นตัวเลือกสำหรับสร้างเลือกบัญชีตาม “หัวข้อ” ต่างๆ
สร้างบัญชี Mastodon 2
  • มาเริ่มต้นกันด้วยการสมัครบัญชีบน mstdn.social — ซึ่งเป็นเซิร์ฟเวอร์และอินสแตนซ์ทั่วไป
สร้างบัญชี Mastodon 3
  • สามารถดูสถิติเซิร์ฟเวอร์ หรือสำรวจโพสต์ก่อนหน้านี้บนเซิร์ฟเวอร์ได้ หากคุณพบหัวข้อที่คุณชอบ คลิกที่ “Create Account” เมื่อคลิกแล้ว จะมีกฎระเบียบพื้นฐานของเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการกลั่นกรองเนื้อหาของ Mastodon
สร้างบัญชี Mastodon 3
  • ยอมรับเงื่อนไขและการสมัครบัญชี Mastadon ของคุณ เมื่อเสร็จแล้ว ตรงไปที่อีเมล แล้วกดปุ่มยืนยันเพื่อเริ่มลองเล่น Mastodom
วิธีใช้ Mastodon
  • คลิกที่ลิงก์ยืนยัน แล้วระบบจะนำคุณไปยังบัญชี Mastodon ของคุณ จากนั้น สามารถใช้อินเทอร์เฟซทางด้านขวาเพื่อดูเปิดโปรไฟล์, ใส่รูปภาพ, หรือติดตามผู้ใช้งานบนเซิร์ฟเวอร์ mstdn.social ได้เลยครับ
วิธีใช้ Mastodon 2

ตอนที่ 2: ลองใช้งาน

  • คุณสามารถค้นหาผู้ใช้งานที่คุณต้องการจะติดตาม หรือตรวจสอบไทม์ไลน์แบบ Home, Local และ Federated ได้โดยใช้ตัวเลือกทางด้านซ้าย
วิธีใช้ Mastodon 3
  • สามารถคลิกแก้ไขโปรไฟล์ แล้วลองใช้ตัวเลือกที่มีอยู่ เพื่อทำให้บัญชีของคุณสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานรายอื่นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกอวาตาร์ หัวข้อ และคุณยังสามารถเลือกตัวเลือกบัญชี “บอท” ได้ หากบัญชีนั้นมีไว้เพื่อดำเนินการใด ๆ อย่างอัตโนมัติเท่านั้น
วิธีใช้ Mastodon 4
  • สามารถตรวจสอบผู้ติดตาม, ชวนเพื่อน, ลบโพสต์หลังจากช่วงเวลาหนึ่ง, และทำสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายได้ด้วยบัญชีของคุณ
  • เราขอแนะนำให้คุณลองใช้งานตัวเลือกต่าง ๆ และตั้งค่าบัญชีตามความต้องการของคุณ อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการใช้ Mastodon บนเบราว์เซอร์ต่อไป เราขอแนะนำให้คลิก “Preferences” และเปิดใช้งาน “Enable advanced web interface” เมื่อ บันทึกการเปลี่ยนแปลงและกลับไปที่แผงอินสแตนซ์ จะพบเมนูแยกที่คล้ายๆ กับของ Twitter
วิธีใช้ Mastodon 5

สิ่งที่ควรทราบเพิ่มเติม

สามารถลองเล่นไปเรื่อยๆ เพื่อตั้งค่าไทม์ไลน์ของหน้า Home, Local และ Federated ได้ตามที่ต้องการ และการวางไทม์ไลน์แบบเคียงข้างกันนี้จะช่วยให้คุณสามารถดึงโปรไฟล์ที่โดนใจคุณขึ้นมา แล้วกดติดตามได้ และ Mastodon ก็จะปล่อยให้คุณได้ควบคุมทุกอย่างได้ตามใจครับ

วิธีใช้ Mastodon 6
หมายเหตุ

ทูทส์และเนื้อหาต่างๆ แสดงผลตามลำดับเวลา ไม่มีอัลกอริทึมใด ๆ ที่ช่วยให้คุณดูสิ่งต่าง ๆ ย้อนหลังโพสต์ก่อนหน้าที่คุณจะติดตามได้

Mastodon เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า Twitter?

Mastodon จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า Twitter หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ต้องการให้ประสบการณ์การใช้งานโซเชียลมีเดียของคุณเป็นอย่างไร ในกรณีที่ต้องการอิสระ และไม่มีอำนาจส่วนกลางมาเกี่ยวข้อง Mastodon ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดี อย่างไรก็ตาม หากต้องการความเรียบง่ายและประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่า Twitter อาจจะได้คะแนนสูงกว่าในหัวข้อนี้ครับ

Anne Bailey จาก KuppingerCole กล่าวว่า เธอรู้สึกว่า Mastodon ยังค่อนข้างซับซ้อนเกินไปสำหรับผู้ใช้งาน ซึ่งนี่อาจจะทำให้การถูกนำไปใช้งานในวงกว้างเป็นเรื่องที่ท้าทาย ในทางกลับกัน Mastodon — ให้การควบคุมเนื้อหาที่คุณต้องการจะดูได้ดีกว่า อีกทั้ง วิธีการใช้งานเซิร์ฟเวอร์/อินสแตนซ์นั้น มันทำให้เครือข่ายโซเชียลมีเดียนี้มีกลิ่นอายเฉพาะตัวที่แข็งแกร่ง (ในเรื่องการสร้างชุมชน)

ดังนั้น เมื่อคิดถึงข้อดีข้อเสีย มันจึงดูเป็นเรื่องที่คุ้มค่าที่จะเข้ามาลองใช้งาน Mastodon ดู อย่างไรก็ตาม สำหรับตอนนี้ เราขอแนะนำให้ใช้งานมันควบคู่ไปกับ Twitter เพื่อให้รู้สึกถึงความแตกต่างได้ดียิ่งขึ้น

และถ้าไม่ว่างนั่งเช็คความแตกต่างด้วยตัวคุณเอง.. เราก็คิดไว้แล้วแหละ งั้นมาลองอ่านรายละเอียดด้านล่างเพิ่มเติม เพื่อเรียนรู้ว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งสองตัวนี้มีการแข่งขันกันอย่างไร ในแบบ “ฟีเจอร์ ต่อ ฟีเจอร์”

Mastodon vs. Twitter: เปรียบเทียบหัวข้อต่างๆ ที่สำคัญ

Mastodon vs twitter

การรวมศูนย์

Twitter เป็นแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ หากคุณละเมิดมาตรฐานใด ๆ หรือ ผู้ที่ควบคุมโซเชียลเน็ตเวิร์กนี้ไม่ชอบคุณ คุณก็อาจจะถูกแบนได้

Mastodon นั้นมีความกระจายอำนาจ เนื่องจากชุมชนอิสระทุกแห่ง จะมีแอดมินพร้อมกฏข้อบังคับเฉพาะของกลุ่ม ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ถูกใจในเซิร์ฟเวอร์ใดเซิร์ฟเวอร์หนึ่ง แต่คุณก็สามารถติดต่อและย้ายไปยังชุมชนอื่น ๆ ได้ตลอดเวลา

ความชัดเจน

นี่คือความแตกต่างที่อาจจะเอนเอียงไปทางด้าน Twitter เล็กน้อย แต่ทันทีที่คุณเข้าร่วม Twitter คุณจะได้สัมผัสประสบการณ์ทั้งหมดพร้อม ๆ กัน คุณยังสามารถเลือกหัวข้อเพื่อจำกัดการมองเห็นให้แคบลงได้ กับ Mastodon คุณจะมีเซิร์ฟเวอร์มากมายให้เลือก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยาก หรือค่อนข้างสับสนที่จะเลือกเซิร์ฟเวอร์ใดเซิร์ฟเวอร์หนึ่ง อีกทั้ง เซิร์ฟเวอร์หรืออินสแตนซ์บางส่วนนั้นก็มีการป้องกันอยู่ด้วย ซึ่งทำให้คุณอาจจะต้องส่งคำขอเพื่อขอเข้าร่วมเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้น

ฐานผู้ใช้งาน

Twitter เป็นผู้นำ(อย่างเห็นได้ชัด)โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 238 ล้านคน ในทางกลับกัน Mastodon ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกสักพัก จากการที่พวกเขามีผู้ใช้งาน 1 ล้านคนที่กำลังใช้งานอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น หากปัจจัยในการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับจำนวนผู้ใช้งานของแพลตฟอร์ม ผู้คนก็จะยังคงใช้ Twitter ต่อไป

ภาษาที่ใช้งาน

ในขณะที่ Twitter จะช่วยให้คุณทวีต, รีทวีต, และกดถูกใจเนื้อหาได้ Mastodon ก็นำเสนอฟีเจอร์แบบเดียวกันแต่ใช้คำเรียกที่ต่างออกไป ตัวเลือกเหล่านั้นคือ ทูทส์, บูสต์ และ รายการโปรด และจะเรียกแต่ละเซิร์ฟเวอร์ว่า “อินสแตนซ์” — ซึ่งเป็นสิ่งที่ Twitter ไม่มี แต่ละอินสแตนซ์ก็จะมีกฎระเบียบของตัวเอง Mastodon ต่างจาก Twitter ตรงที่ Mastodon ไม่มีกฏระเบียบแบบ one-size-fits-all (กฏระเบียบแบบเดียวใช้งานกับทุก ๆ คน)

รูปแบบรายได้

เรารู้อยู่แล้วว่า Mastodon เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีเงินทุนจาก Patreon เป็นแหล่งรายได้หลัก Twitter นั้นอาศัยโฆษณาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่าเพื่อให้ Twitter ทำรายได้ Twitter จะต้องการให้ผู้ใช้งาน ใช้งานแพลตฟอร์มให้นานมากพอ

โอเพ่นซอร์ส

Mastodon เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นบนโปรโตคอล ActivityPub ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อแอปอื่น ๆ ใน Fediverse ซึ่งเป็นเครือข่ายแบบรวมกันภายใต้ศูนย์กลาง และสามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งแตกต่างจาก Twitter ที่ไม่ใช่โอเพ่นซอร์ส

ขีดจำกัดของตัวอักษร

Mastodon อนุญาตให้ผู้ใช้งานส่งทูทส์โดยมีความยาวสูงสุดไม่เกิน 500 ตัวอักษร ส่วน Twitter นั้นสามารถส่งได้ 280 ตัวอักษร

ความเร็ว

ประการสุดท้าย Mastodon อาจจะช้าไปบ้างในบางครั้ง เนื่องจากไม่มีความแข็งแกร่งของเซิร์ฟเวอร์กลางแบบเดียวกับ Twitter

แต่ทวีตนี้ก็เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงเช่นกัน!

นี่คือตารางที่จะช่วยให้คุณเปรียบเทียบในเรื่องความแตกต่างของ Mastodon และ Twitter ได้อย่างรวดเร็ว

เปรียบเทียบ Mastodon

มีความคล้ายคลึงกันบ้างหรือไม่?

แน่นอนครับ มีความคล้ายคลึงกันอยู่เล็กน้อยระหว่าง Mastodon และ Twitter:

  • เลย์เอาต์ภาพที่คล้ายกันเมื่อคุณเลือก “Enable advanced web interface” บน Mastodon
  • ฟีเจอร์คล้ายกัน ต่างกันแค่ชื่อ
  • คุณสามารถรวมรูปภาพ, วิดีโอ, หรือแม้แต่ข้อความในแต่ละทูทส์ได้ ซึ่งคล้ายกับที่ Twitter อนุญาต

ทำไมคนถึงหนีจาก Twitter มาที่ Mastodon?

ตั้งแต่ Elon Musk เข้าควบคุมกิจการ Twitter เรื่องราว และประกาศเหล่านี้ก็เกิดขึ้น:

  1. “เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า” ซึ่งมีเพียงคนดังและบุคคลที่มีชื่อเสียงเท่านั้นที่จะได้รับ ถูกนำมาขายในราคา 8 ดอลลาร์ ซึ่งแนวคิดดั้งเดิมคือการเรียกเก็บเงิน 20 ดอลลาร์
  2. ผู้บริหารระดับสูงหลายคนถูกไล่ออก
  1. Elon Musk ยืนยันที่จะเก็บเงินจาก “เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า” ซึ่งทำให้แนวทางการตัดสินใจของ Twitter ดูเหมือนจะเป็นแบบรวมศูนย์มากจนเกินไป
  2. ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2022 พนักงานกว่า 37,000 คนถูกไล่ออก
  1. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน เขากล่าวว่าการล้มละลายอาจจะกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง เนื่องจากรายได้จากโฆษณาเริ่มหดหายไปหลังการเข้าซื้อกิจการของเขา
  2. Twitter อาจจะล่มสลายได้หาก FTC (Federal Trade Commission) เรียกเก็บค่าปรับเนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของ Twitter ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของข้อมูล
  3. บัญชีแอบอ้างใช้ประโยชน์จาก “เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า” ทำให้ Eli Lily — ซึ่งเป็นบริษัทยา — ได้รับความเสียหายอย่างมาก โพสต์ดังกล่าวที่ระบุว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะประกาศว่า ต่อจากนี้ อินซูลินจะถูกแจกจ่ายฟรี” ได้โผล่ขึ้นมา ทำให้หุ้นขององค์กรลดลงไปทันที 4.5%
Mastodon

การซื้อ “เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า” ถูกระงับการใช้งานอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังจากนั้น

และเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ผู้ใช้งานมากมายต่างหนีออกจาก Twitter อย่างต่อเนื่องเพื่อไปใช้งาน Mastodon บัญชี Twitter เกือบ 90,000 บัญชีหยุดการใช้งานไประหว่างวันที่ 27 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน ตามรายงานของ Twitter Account Tracker – Bot Sentinel

การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ “Mast” มี

เจ้าของคนใหม่ของ Twitter ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของแพลตฟอร์ม คือสิ่งที่ช่วยให้ Mastodon ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และดูเหมือนว่ามันจะสัมพันธ์กันกับการที่ความเชื่อมั่นของผู้คน ที่มีต่อ Elon Musk ลดน้อยถอยลง อย่างไรก็ตาม สำหรับตอนนี้ เราจะไม่แปลกใจเลย ถ้าเราได้เห็น Mastodon ซึ่งเป็นตัวเลือกในการใช้งานแทน Twitter ได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต

จริง ๆ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า Mastodon จะได้รับชัยชนะในการต่อสู้ระหว่าง Mastodon vs. Twitter หรือไม่ Elon Musk ยังคงมีแผนการของเขาเองอยู่บ้าง และเมื่อมันเข้าที่เข้าทางแล้ว เราจะมาประเมินสถานการณ์นี้ใหม่และให้ความกระจ่างเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Mastadon ซึ่งจะเป็นตัวเลือกใหม่ที่จะมาแทน Twitter นี้

คำถามที่พบบ่อย

ตัวเลือกการใช้งานแทน Twitter ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือตัวไหน?

Mastodon คืออะไร แล้วทำไมชาวทวิตถึงหนีออกจาก Twitter เพื่อมาหาแพลตฟอร์มนี้?

ข้อดีของ Mastodon คืออะไร?

Mastodon ทำเงินได้อย่างไร?

Mastodon มีการกระจายอำนาจหรือไม่?

บริษัทไหน เป็นเจ้าของ Mastodon?

โซเชียลของ Mastodon ปลอดภัยหรือไม่?

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤษภาคม 2024

Trusted

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน