Trusted

Multisig Wallet คืออะไร? มันทำงานอย่างไร?

16 mins
อัพเดทโดย Tanutcha Roongroj

เป็นเรื่องปกติสำหรับคนเทรดคริปโต ที่จะต้องการเก็บรักษาเหรียญให้ดี คุณอาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงสินทรัพย์ของคุณหากทำ Private Keys สูญหายไป

Multisig Wallet คือสิ่งที่จะมาช่วยคลายความกังวลของเราในเรื่องดังกล่าว แต่ Multisig Wallet คืออะไร? ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ของ Multisig Wallet รวมไปถึงข้อดี ข้อเสีย และประโยชน์การใช้งานที่ทำให้มันเป็นที่ต้องการของทุกคน ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยดีกว่า!

เข้าร่วม BeInCrypto Trading Community บน Telegram: อ่านข่าวสารที่ร้อนแรงที่สุดในแวดวงคริปโต อ่านบทความวิเคราะห์ทางเทคนิคเกี่ยวกับเหรียญต่างๆ และสอบถามข้อมูลต่างๆ ที่คุณต้องการจากนักเทรดมืออาชีพ! เข้าร่วมตอนนี้เลย!

Multisig Wallet คืออะไร?

Multisig Wallet คืออะไร

Multi-signature (หรือ Multisig) Wallet เป็นกระเป๋าเงินที่จะมีตัวเลือกให้ Private Keys หลายตัวสามารถเข้าถึงหรือทำการโอนสินทรัพย์คริปโตของคุณได้ โดยผู้ใช้งานจะสามารถตั้งกฏการเข้าถึง รวมถึง จำนวน Key ขั้นต่ำที่ต้องการเพื่อใช้สั่งดำเนินการ ได้ในระหว่างการตั้งค่า

Multisig Wallets นำเสนออีกรูปแบบหนึ่งของ Multi-Factor Authentication (การตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย) ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกับสินทรัพย์ของคุณ โดยเฉพาะกับสินทรัพย์ที่เป็นของหลายฝ่าย เช่น Decentralized Autonomous Organizations (DAOs หรือ องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายอำนาจ) กระเป๋าเงินประเภทนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ถือ Key หลายคนให้การอนุมัติ

Multisig Wallets ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นแบบ 3 Private Keys ที่ต้องการอย่างต่ำ 2 Keys เพื่อเปิดการเข้าถึง โอกาสที่คุณจะสูญเสียสินทรัพย์ของคุณก็จะลดลงเนื่องจากถึงคุณจะสูญเสียไป 1 Key คุณก็ยังเหลืออีก 2 Key ที่สามารถใช้งานเพื่อเข้าถึงสินทรัพย์ของคุณได้

Multisig ทำงานอย่างไรกันแน่?

Multisig Wallets ต้องการลายเซ็น (Signature) อย่างน้อย 2 ลายเซ็นหรือมากกว่า จากบรรดา Address ต่างๆ ที่ตั้งค่าไว้เพื่อดำเนินการในธุรกรรมต่างๆ กระเป๋าเงินจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่:

  • ต้องใช้ Private Key ทั้งหมด: หากจำนวนลายเซ็นของกระเป๋าเงินที่กำหนดไว้คือ 3 ลายเซ็น หมายความว่า กระเป๋าเงินจะต้องใช้ Key ทั้งหมด (ทั้ง 3 Key) เพื่อทำการยืนยันการทำธุรกรรม
  • ตั้งค่าลายเซ็นตามเกณฑ์: ในระหว่างการตั้งค่า ผู้ถือสามารถกำหนดจำนวนลายเซ็นที่ต้องการได้ ที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ ต้องการ 2 จาก 3 ลายเซ็น หรือ ต้องการ 3 จาก 5 ลายเซ็น

Multisig Wallets จะใช้ประโยชน์จากโค้ดของสัญญาอัจฉริยะเพื่อทำการกำกับดูแลบนเครือข่าย ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบของกระเป๋าเงินแบบดั้งเดิมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ใช้งาน

และด้วยความกังวลที่มีต่อเรื่องความปลอดภัยของกระเป๋าเงินคริปโต รูปแบบการทำงานของ Multisig Wallets จึงมักจะมีตัวเลือก Self-Custody (การควบคุมดูแลกระเป๋าเงินด้วยตนเอง) ให้เลือกใช้งาน

“เมื่อคุณลงนามหรือยอมรับข้อกำหนดในการให้บริการ นั่นหมายความว่า คุณได้ยอมรับแล้วว่าการฝากโทเค็นของคุณกับผู้ให้บริการเหล่านี้ อาจจะหมายถึงการถ่ายโอนความเป็นเจ้าของของคุณให้กับพวกเขา มีสำนวนอยู่สำนวนหนึ่ง … “not your keys, not your crypto””

Gary Gensler ประธาน ก.ล.ต สหรัฐ

สำนวน “not your keys, not your crypto” สนับสนุนเรื่องการควบคุมดูแล(สินทรัพย์)ด้วยตนเอง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า คุณมีความสามารถในควบคุมทรัพย์สินของคุณอย่างเต็มที่ คุณสามารถเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของคุณได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และไม่ต้องกังวลกับการกระทำของบุคคลที่สาม ว่าอาจจะทำให้สินทรัพย์ที่คุณครอบครองตกอยู่ในความเสี่ยงใดๆ

ข้อดีของ Multisig Wallets

ผู้ใช้งานจะได้รับผลประโยชน์มากมายจากการใช้งาน Multisig Wallets

การเข้าถึงแบบกระจายอำนาจ

Multisig Wallets ช่วยขจัดความเสี่ยงของการมีลายเซ็นของบุคคลสำคัญเพียงลายเซ็นเดียวที่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ได้ ตัวอย่างที่โด่งดังในเรื่องนี้ก็คือกรณีของ QuadrigaCX ที่ได้สูญเสียการเข้าถึงเงินฝากของลูกค้ากว่า 145 ล้านดอลลาร์ เนื่องจาก CEO ของบริษัท ผู้ซึ่งเป็นบุคคลเดียวที่เข้าถึงสินทรัพย์คริปโตใน Cold Storage (ที่จัดเก็บสินทรัพย์คริปโตแบบออฟไลน์) ได้เสียชีวิตลงไป ทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ของลูกค้าได้ตลอดกาล

ด้วย Multisig Wallets สินทรัพย์จะไม่สูญหายไปตลอดกาล ถึงแม้ว่าคนๆ หนึ่งจะทำ Key หาย หรือ การกู้คืนบัญชีล้มเหลว ก็ตาม การเข้าถึงยังสามารถทำได้โดย Private Key ที่เหลืออยู่

นอกจากนี้ มันยังเป็นการลดความเสี่ยงในการถูก Exit Scam (การหลอกเอาเงินแล้วหายไปเลย) เนื่องจากการทำทำธุรกรรมโอนออกจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย มันยังช่วยลดความเสี่ยงให้กับ บริษัท หรือ DAO ต่างๆ ที่จะถูกผู้ไม่ประสงค์ดีใช้ช่องโหว่จากการเข้าถึงของพวกเขา

ความโปร่งใส

ด้วยความเป็นโอเพ่นซอร์สของสัญญาอัจฉริยะที่ใช้ช่วยควบคุมดูแล Multisig Wallets คือสิ่งที่ช่วยเพิ่มความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ใครๆ ก็สามารถตรวจสอบโค้ดเพื่อตรวจสอบฝ่ายใดๆ ที่ควบคุมเงินทุนอยู่ได้

กลุ่มคน/หน่วยงานต่างๆ สามารถมอบความไว้วางใจให้ผู้ถือคีย์ควบคุมสินทรัพย์คริปโตของพวกเขาได้ เพราะพวกเขาสามารถตรวจสอบโค้ดของสัญญาอัจฉริยะเป็นระยะ ๆ และรับประกันว่ามันจะมีความปลอดภัยได้

ความสามารถในการปรับตัว

ด้วยความสามารถของสัญญาอัจฉริยะของ Multisig Wallets จะช่วยให้มันสามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้งานได้ หากความต้องการเหล่านั้นเปลี่ยนไป ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถปรับเปลี่ยน หรือ อัพเกรดกระเป๋าเงินได้

กระเป๋าเงินเหล่านี้ จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแบบจำลอง และ โปรโตคอลสำหรับการดำเนินการต่างๆ ได้ เช่น การจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ การลงคะแนนเสียงใน DAO อีกทั้ง ชุมชนยังสามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่าของกระเป๋าเงิน ให้เหมาะกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปได้

ข้อเสียของ Multisig Wallets

ถึงแม้ว่าประโยชน์ของ Multisig Wallets จะโดดเด่นเป็นอย่างมาก แต่มันก็ยังมีข้อเสียอยู่หลายประการ

ความเร็ว

สำหรับกระเป๋าเงินที่ตั้งเกณฑ์การเข้าถึงเอาไว้ ลายเซ็นหลาย ๆ ลายเซ็นนั้นจะปรากฏในบล็อกเชนเป็นลายเซ็นเดียว ดังนั้น ขนาดของธุรกรรมจึงเพิ่มขึ้น และ นักขุดมักจะหลีกเลี่ยงธุรกรรมประเภทดังกล่าว ซึ่งทำให้มันมีค่าแก๊สที่สูงและมีความล่าช้าในการดำเนินการ

นอกจากนี้ ด้วยลักษณะความผันผวนของอุตสาหกรรมสกุลเงินคริปโตที่จะให้รางวัลแก่ผู้ที่มีความรวดเร็วมากกว่า Multisig Wallets ที่ต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่ายจึงอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป

ยากที่จะดูแลได้ตามกฏหมาย

จากการที่อำนาจการเข้าถึงและควบคุมถูกแบ่งและมอบให้กับหลายๆ ฝ่าย ความขัดแย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ ในแง่ทางกฏหมาย มันอาจจะเป็นความท้าทายในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของเพื่อที่จะทำการกล่าวอ้างใดๆ ได้

ความรู้ทางเทคนิค

ผู้ให้บริการ Multisig Wallets ส่วนใหญ่มักจะให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้ใช้งานเพื่อช่วยในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางเทคนิคต่างๆ ในการตั้งค่ากระเป๋าเงิน หรือ การเลือกตัวเลือกที่เหมาะสม อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ใช้งานบางกลุ่ม เนื่องจากมันไม่มีตัวเลือกใดๆ ที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ผู้ใช้งานจึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทางเทคนิค เพื่อที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลือก และเปรียบเทียบตัวเลือกต่างๆ กับความต้องการของตน เพื่อที่จะค้นหาตัวเลือกที่เหมาะสมมากที่สุดได้

ประโยชน์การใช้งานของ Multisig Wallets

ประโยชน์ของ Multisig Wallets

Multisig Wallets เป็นตัวเลือกของกระเป๋าเงินที่จะมอบประโยชน์การใช้งานที่หลากหลายให้กับผู้ใช้งาน

การเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi)

หัวใจสำคัญของการเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi) คือ การใช้ประโยชน์จากเครือข่าย Peer-to-Peer โดยไม่ต้องมีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง Multisig Wallets จะช่วยให้เจ้าของสินทรัพย์คริปโตให้ยืม ยืม หรือทำการซื้อขายได้ผ่านการตัดสินใจร่วมกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สามแต่อย่างใด

กลไกฉันทามติจะช่วยให้แน่ใจว่า ผู้ถือ Key ตามจำนวนที่กำหนดไว้หรือทั้งหมด มีส่วนร่วมในธุรกรรมใดๆ เรื่องนี้จะช่วยขจัดปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นกับการเงินแบบรวมศูนย์ เช่น กระดานเทรดที่จำกัดการถอนเงิน หรือ ผู้ไม่ประสงค์ดีที่ทำการ Rug Pull (การที่เจ้าของโปรเจกต์คริปโตหลอกลวงให้ลงทุนในโปรเจกต์/เหรียญคริปโต จากนั้นก็ทิ้งโปรเจกต์ เทขายเหรียญหรือเชิดเงินลงทุนในระบบไป)

การใช้งานในเชิงธุรกิจและสถาบัน

ธุรกิจและสถาบันต่างๆ จะต้องสามารถจัดการความเสี่ยงที่บุคคลสำคัญสามารถเข้าถึง และ ควบคุมสินทรัพย์คริปโตทั้งหมดได้ และด้วยลักษณะของความเป็นนิรนามของอุตสาหกรรมคริปโต มันทำให้การสร้างความไว้วางใจระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจเป็นเรื่องที่ท้าทาย

ด้วย Multisig Wallets ธุรกิจต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปถึงแม้ว่าเหล่าผู้ถือ Key จะยังไม่รู้จักกันดีพอก็ตาม ความสามารถในการรักษาความปลอดภัยของกระเป๋าเงินเหล่านี้ ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการกระทำของคู่พันธมิตรของพวกเขามากนัก (เพราะการที่จะกระทำการใดๆ ได้ ก็จำเป็นจะต้องใช้หลายลายเซ็นในการอนุมัตินั่นเอง)

บริการโอนเข้าออกตามเงื่อนไข และ ความปลอดภัยในการทำธุรกรรม

ด้วยการใช้ลายเซ็น 2 ใน 3 ของ Multisig Wallets ผู้ซื้อและขายสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องกังวลว่าอีกฝ่ายจะไม่ปฏิบัติตาม ผู้ซื้อสามารถโอนเงินไปยังกระเป๋าเงิน แจ้งผู้ขาย และรอให้บริการเสร็จสิ้น หรือ สินค้าถูกส่งมาได้เลย

หากทั้ง 2 ฝ่ายป้อน Private Keys ของพวกเขาลงไป สัญญาอัจฉริยะจะทำการส่งเงินไปให้กับผู้ขายทันที หากมีข้อพิพาทใดๆ บุคคลที่สามจะสามารถเข้าไปรับฟัง และตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปได้

บัญชีร่วม และ การเป็นเจ้าของร่วมกัน

สำหรับบุคคล 2 ฝ่ายหรือมากกว่าที่มีทรัพย์สินร่วมกัน Multisig Wallets จะช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีฉันทามติ และทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีการหารือและการตกลงเกี่ยวกับการนำสินทรัพย์ไปใช้ได้อย่างง่ายดาย

ความเสี่ยงที่จะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะดำเนินการใดๆ โดยพลการโดยไม่แจ้งให้อีกฝ่ายทราบจะหมดไป เจ้าของ(สินทรัพย์)ทุกคนจะต้องมีการรายงานต่อกันและกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้มากยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ตัวอย่างของ Multisig Wallet

มีตัวเลือกของ Multisig Wallets อยู่มากมายที่คุณสามารถใช้ประโยชน์ หรือเสริมความปลอดภัยให้กับสินทรัพย์คริปโตของคุณได้:

UniPass

UniPass มีเป้าหมายคือผู้ใช้งาน Web2 ที่ต้องการใช้งานแอป Web3 ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงโลกแห่งคริปโตได้โดยไม่มีค่าแก๊ส หรือไม่ต้องการ Seed Phrase

เครือข่ายที่สามารถใช้งานร่วมกันได้: Polygon, Optimism, Ethereum, BNB Chain, Avalanche และ Artbitrum

Castle

Castle ช่วยให้เหล่านักสะสม NFT สามารถจัดเก็บ ซื้อขาย หรือดำเนินการธุรกรรมอื่นๆ ต่อ NFT ส่วนตัว หรือ NFT ที่เป็นเจ้าของร่วมได้ โดยมีการผสานรวม OpenSea, Genie.xyz และ Gem.xyz และยังมีตลาดซื้อขายเป็นของตนเองอีกด้วย

เครือข่ายที่สามารถใช้งานร่วมกันได้: Ethereum

Liminal

Liminal ช่วยให้บริษัทคริปโตต่างๆ สามารถจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลของตนได้อย่างปลอดภัย ด้วยโซลูชั่นที่สามารถปรับแต่งได้จะช่วยมอบบทบาทต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้งานตามความรับผิดชอบของพวกเขา โดยโฟกัสไปที่การป้องกันจุดบกพร่องต่างๆ เช่น ข้อผิดพลาดของมนุษย์ การสมรู้ร่วมคิดกันภายใน และการโจมตีทางไซเบอร์

เครือข่ายที่สามารถใช้งานร่วมกันได้: กว่า 18 เครือข่าย ซึ่งรวมไปถึง Bitcoin, Solana, Ethereum, Cardano, และ BNB Chain

Goki

Multisig Wallets และ Goki

Goki ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตั้งโปรแกรม Multisig Wallet ของพวกเขาเพื่อระบุตัวเจ้าของ ในขณะที่ก็ยังคงสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงในภายหลังเอาไว้ เจ้าของจะต้องเป็นผู้ที่อนุมัติธุรกรรมของบัญชีที่รองลงไป ในขณะที่บัญชีของเจ้าของเองนั้นไม่ต้องการอนุมัติแต่อย่างใด

เครือข่ายที่สามารถใช้งานร่วมกันได้: Solana

Rabby Wallet

Rabby Wallet จะมอบความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งานในการเปลี่ยนไปใช้งานเชนที่สอดคล้องกับ Web3 DApp ที่เปิดใช้งานอยู่ และผู้ใช้งานยังสามารถตรวจสอบความเสี่ยง และ ข้อผิดพลาดก่อนลงนามในการทำธุรกรรมได้

เครือข่ายที่สามารถใช้งานร่วมกันได้: Ethereum, เครือข่ายอีกมากมาย (55 เครือข่าย และยังมีอีกมากมายที่รอการผสานรวมเข้ามา)

Multisig Wallets อื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ Cashmere, Snowflake, Wallet 3, Squads, และ MPCVault

Multisig vs. Single-signature Wallets

สำหรับกระเป๋าเงินคริปโตส่วนใหญ่ การอนุมัติในการทำธุรกรรมจะต้องการเพียงลายเซ็นเดียวเท่านั้น มีเพียง Multisig Wallets เท่านั้นที่แตกต่างออกไป อย่างไรก็ตาม เรามาดูข้อเปรียบเทียบอื่นๆ ที่สำคัญกันดีกว่า

Single-signature Wallet

  • ต้องการนำเข้าเพียงหนึ่ง Recovery Phrase ต่อหนึ่งอุปกรณ์
  • หากคุณจัดเก็บ Recovery Phrase อย่างปลอดภัย คุณจะมีวิธีเข้าถึงสินทรัพย์ของคุณได้เสมอ
  • หากสูญเสีย Private Key และ Recovery Phrase ไป สินทรัพย์คริปโตของคุณก็จะหายไปตลอดกาล

Multi-signature Wallet

  • กรณีที่หลายคนทำ Private Key หาย ทุกอุปกรณ์จะต้องนำเข้า Recovery Phrase อีกครั้ง
  • การกู้คืน Key จะต้องการให้ผู้ถือในแต่ละรายจัดการ Recovery Phrase ของพวกเขาในระดับเดียวกัน
  • สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ได้หากมีบุคคลจำนวนมากพอที่ใช้ Recovery Phrase เพื่อเข้าถึงกระเป๋าเงิน

การเปรียบเทียบในเรื่องของความปลอดภัย

เมื่อใช้ Single-signature Wallets คุณจะมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก การสูญเสีย Private Key ของคุณจะหมายถึงการสูญเสียสินทรัพย์ของคุณไปตลอดกาล Multisig Wallets จะช่วยลดความตรงนี้จุดนี้เนื่องจาก Keys แต่ละตัวจะอยู่ในการควบคุมของแต่ละคน

นอกจากนี้ ในเชิงของความปลอดภัยแล้ว เหล่าแฮ็กเกอร์ หรือ ผู้ไม่ประสงค์ดีใดๆ จะต้องทำการแฮ็กทุกคนเพื่อที่จะเข้าถึงสินทรัพย์ของคุณได้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

การอนุมัติและความยืดหยุ่นในการทำธุรกรรม

Single-signature Wallets จะต้องใช้เพียงบุคคลเดียวในการอนุมัติการทำธุรกรรม ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีความประสงค์ที่ไม่ดี เช่น การยักยอกเงิน หรือ ถูก Exit Scam

สำหรับ Multisig Wallets หลายๆ ฝ่าย (ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้) จะต้องให้การอนุมัติเพื่อที่จะทำธุรกรรมได้ เช่น 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 5 ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถกำหนด และตกลงกันได้ไม่ว่าจะใช้ตัวเลือกใดๆ ก็ตาม

กลไกการกู้คืนและความซ้ำซ้อน

ในเรื่องของกลไกการกู้คืน Single-signature Wallets มีกระบวนการที่ไม่ยุ่งยาก ในส่วนของ Multisig Wallets นั้นจะมีความซ้ำซ้อนในระดับที่สูงขึ้น แต่จะไม่เป็นการลดทอนความปลอดภัยแต่อย่างใด

ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้น และ ข้อควรพิจารณา

มีอยู่หลายสิ่งที่คุณจะต้องพิจารณาก่อนที่จะทำการตัดสินใจว่าคุณจะเลือกใช้งาน Multisig Wallets หรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเลือกใช้งานอย่างเหมาะสมจะช่วยเสริมเรื่องความปลอดภัยได้

Multisig Wallets มีหลักการแห่งการกระจายอำนาจ ทำให้แน่ใจว่าไม่มีผู้ใช้งานคนใดที่มีอำนาจเหนือไปกว่าคนอื่น คุณลักษณะนี้ก่อให้เกิดความท้าทายในเชิงการใช้งานกระเป๋าเงินสำหรับภาคธุรกิจ เนื่องจากลำดับชั้น(ของโครงสร้างบริษัท)ที่มีอยู่จะไม่สามารถนำมาใช้กับตรงนี้ได้

การขาดอำนาจศูนย์กลางก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องกังวล เพราะมันไม่สามารถมีผู้ใดที่เป็นตัวแทนของส่วนที่เหลือได้ เช่น หากผู้ถือ Key 3 คน (จากกระเป๋าเงินที่ต้องการใช้ 4 Key เพื่อทำธุรกรรม) หายสาบสูญหรือตายไป ผู้ถือ Key คนที่ 4 จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย และไม่มีสิทธิ์ที่จะขอความช่วยเหลือใดๆ ในการเข้าถึงสินทรัพย์ในกระเป๋าเงินนั้น

Multisig Wallets นำเสนออนาคตที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ตอนนี้ เพื่อนๆ ทุกคนก็น่าจะได้คำตอบแล้วว่า Multisig Wallet คืออะไร มันช่วยลดการพึ่งพาอุปกรณ์หรือผู้ใช้งานเพียงคนเดียวในการเข้าถึงสินทรัพย์คริปโตที่สำคัญของเรา การเพิ่ม Failure Points (”จุดล้มเหลวของระบบ” ที่หากล้มเหลวแล้วจะทำให้ระบบทำงานต่อไปไม่ได้) และ การที่แฮ็กเกอร์จะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการเข้าถึงสินทรัพย์ของคุณช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างมาก ผู้ให้บริการ Multisig Wallets บางรายก็ยังมีการนำเสนอเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งาน หรือ ซื้อขายสินทรัพย์ได้อยู่เสมอ ผู้ถือ Key ก็ยังคงควบคุมทรัพย์สินของตนและไม่ต้องกังวลว่าบุคคลที่สามจะสามารถควบคุมการเข้าถึงของพวกเขาได้

คำถามที่พบบ่อย

Multisig Wallet คืออะไร?

ตัวอย่างของ Multisig Wallet

Multisig Wallets มีความปลอดภัยหรือไม่?

Multisig ใน Solana มีตัวใดบ้าง?

MetaMask เป็น Multisig Wallets หรือไม่?

คุณสามารถบอกได้หรือไม่ว่ามันเป็น Multisig Wallets หรือไม่?

ฉันจะสร้าง Multisig Wallets ได้อย่างไร?

Multisig Wallet เป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่?

Bitcoin มี Multisig Wallet ให้ใช้งานหรือไม่?

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤศจิกายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤศจิกายน 2024
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤศจิกายน 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน