Smart Contract คื อกระบวนการทางดิจิทัลในการกำหนดเงือนไขและขั้นตอนการทำธุรกรรมโดย “อัตโนมัติ” ไว้ล่วงหน้าบนระบบไร้ตัวกลางของ Blockchain เพื่อพัฒนากรณีการใช้งานและแอปพลิเคชั่นต่างๆ
Blockchain ถือกำเนิดขึ้นโดยมีอุดมการณ์และเป้าหมายเพื่อ “กำจัดตัวกลาง” ในการทำธุรกรรมทางการเงินออกไปเพื่อสร้างความโปร่งใส ต้นทุนที่ต่ำลง และมีประสิทธิภาพข้ามพรมแดน แต่มันยังมีกรณีการใช้งานที่จำกัดอยู่กับเพียงแค่การทำธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น
เกี่ยวกับสัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart Contract
Smart Contract ถือเกิดเนิดขึ้นเพื่อต่อยอดและขยายขอบเขตการใช้งานแบบไร้ตัวกลางให้หลากหลายมากขึ้น และสามารถแทรกซึมเข้าไปในมิติต่างๆ ของชีวิตประจำวันของเรา
ไม่ว่าจะเป็น Social Media หรือแม้กระทั่งเกมส์ โครงสร้างการทำงานล้วนต้องใช้สัญญาอัจฉริยะทั้งนั้น เพื่อให้การส่งข้อมูลต่างๆ เป็นไปอย่างอัตโนมัติ ผลิตภัณ์หรือแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ ถูกเรียกว่า Decentralized Application (Dapps)
มองในแง่หนึ่ง สัญญาอัจฉริยะเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้น ที่อนุญาตให้ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ของเหล่านักพัฒนาเกิดขึ้นได้จริงอย่างไร้ขีดจำกัดบน Blockchain
ที่มาที่ไปของ Smart Contract
สัญญาอัจฉริยะ ถูกคิดค้นโดย Nick Szabo ในปี 1994 ที่ต้องการเสนอแนวคิดว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานเพื่อบันทึกข้อสัญญาของการทำธุรกรรมต่างๆ ได้โดย “อัตโนมัติ” เมื่อโปรแกรมเข้าสู่เงือนไขที่กำหนดไว้ก่อนหน้า
ตัวอย่างที่เก่าแก่มากที่สุด คือ ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ เมื่อผู้ซื้อหยอดเหรียญครบตามจำนวนเงินที่โปรแกรมกำหนด ตู้จะปลดล๊อคและส่งสินค้าออกมาโดยอัตโนมัตินั่นเอง
ต่อมาแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้พัฒนาต่อยอดบน Blockchain ทำให้เกิดบล็อคเชนอย่าง Ethereum โดย Vitalik Buterin ในปี 2015 และกลายเป็นตัวอย่างของการนำสัญญาอัจฉริยะมาใช้งานบนระบบไร้ศูนย์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน
Smart Contract ทำงานอย่างไร
การทำงานของสัญญาอัจฉริยะโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ขั้นตอนหลักๆ
1.ผู้ใช้งานสร้างธุรกรรมจากกระเป๋าเงินดิจิทัลบนบล็อกเชน
2.ข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวจะถูกส่งไปยังฐานข้อมูลบนบล็อคเชน เพื่อยืนยันที่มาของกระเป๋าผู้ส่งธุรกรรม
3.ธุรกรรมถูกตรวจสอบโดยบล็อคเชน (ธุรกรรมเหล่านี้จะเป็นเงิน หรือ การส่งข้อมูลใดๆ ก็ได้)
4.ธุรกรรมเหล่านี้จะมี Code ที่ระบุประเภทและเงือนไขไว้ เพื่อส่งคำสั่งอัตโนมัติในอนาคต
5.ธุรกรรมถูกบันทึกเป็น Block
6.เมื่อเงือนไขเป็นไปตามกำหนดจะมีการส่งธุรกรรมโดยอัตโนมัติกลับไปในขั้นตอนที่ 1
ตัวอย่างการใช้งาน
ยกตัวอย่างเช่น การซื้อรถยนตร์และการส่งมอบสิทธิ์การเป็นเจ้าของให้แก่ผู้ซื้อ โดยปกติแล้ว การซื้อรถยนตร์และการส่งมอบจะต้องมีตัวกลางในการตรวจสอบหลายขั้นตอน ตั้งแต่การโอนเงินผ่านทางธนาคารไปจนถึงหน่วยงานที่เป็นตัวกลางในการโอนสิทธิ์
แต่หากธุรกรรมนี้ถูกใช้งานผ่านสัญญาอัจฉริยะ เมื่อสัญญาถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม สิ่งที่ผู้ซื้อจะต้องทำมีเพียงแค่กรอกเงินให้ครบและส่งไปให้ผู้ขาย เมื่อเงินถูกส่งเรียบร้อยแล้ว ระบบจะโอนสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้แก่ผู้ซื้อโดยอัตโนมัติทันที
Smart Contract ปรับใช้กับอะไรได้บ้าง
- Record (ทำบันทึก)
สัญญาอัจฉริยะสามารถช่วยในการทำบันทึก หรือข้อมูลต่างๆ ได้ เช่น การทำงานภาคเอกสารของภาครัฐที่ต้องการความโปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อลดการทุจริต เนื่องจากประชาชนสามารถตรวจสอบอัปเดตการบันทึกต่างๆ ได้ในทันที และเชื่อมโยงฐานข้อมูลนี้ไปยังหน่วยงานอื่น ให้เรียกใช้งานได้รวดเร็วขึ้น
- Financial Contract (สัญญาทางการเงิน)
บนบล็อคเชนสัญญาอัจฉริยะทำให้สัญญาทางการเงินมีลักษณะที่หลากหลายและเข้าถึงบริการต่างๆ ได้มากขึ้นผ่านระบบ DeFi หรือการเงินไร้ศูนย์ ผู้ใช้งานสามารถทำสัญญากู้เงินได้ผ่านการวางหลักประกันโดยทันทีบน MakerDao เป็นต้น หรือแม้แต่การเทรดซื้อขายเหรียญต่างๆ และการ Staking ก็ล้วนสร้างขึ้นจากสัญญาอัจฉริยะ
- NFT Gaming (เกมบนบล็อคเชน)
สัญญาอัจฉริยะทำให้เกิดอุตสาหกรรม NFT Gaming หรือเกมบนบล็อคเชนขึ้น เกมเหล่านี้มีแนวคิดแบบ Play to Earn โดยผู้เล่นจะเป็นเจ้าของ Item ในเกมอย่างแท้จริง Item เหล่านั้นจึงสามารถนำมาซื้อขายต่อให้แก่ผู้อื่นได้ด้วยเงินจริง
สิทธิ์ความเป็นเจ้าของนี้เกิดขึ้นได้เพราะความโปร่งใสบน Blockchain และระบบ NFT (non-fungible-token) ที่เป็นสัญญาอัจฉริยะประเภทหนึ่ง ที่ให้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของแก่ผู้ถือครอง
การใช้งาน Smart Contract ร่วมกับ AI
ปัจจุบันเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ กำลังเป็นที่จับตามองและมีการแข่งขันเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพกันอย่างเข้มข้น แน่นอนว่ามันสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนา Dapps ต่างๆ ผ่านสัญญาอัจฉริยะได้เช่นกัน
การนำ AI มาประยุกต์ใช้จะช่วยอำนวยความสะดวกเมื่อธุรกรรมเหล่านั้นอ้างอิงจากการประมวลผลในอดีตได้ เช่น การแนะนำกลยุทธ์ในการเทรด การสร้างสัญญาพร้อมกับ Recommendation หรือเงือนไขต่างๆ โดยอัตโนมัติ
Arthur Hayes เป็นบุคคลหนึ่งที่มองว่าเทคโนโลยี AI และ Blockchain นั้นมีความเข้ากันได้สูง และการสร้างระบบทางการเงินด้วย AI นั้นจำเป็นต้องสร้างอยู่บนระบบการเงินดิจิทัลไร้ศูนย์จึงจะเหมาะสม ในอนาคตระบบการเงินโลกจะถูกเชื่อมโยงและไร้รอยต่อมากขึ้น ธุรกรรมข้ามพรมแดนที่เคยใช้เวลานานและต้นทุนสูงจะถูกแก้ไขด้วยเทคโนโลยีนี้
สรุป
Smart Contract หรือสัญญาอัจฉริยะ เป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอด Blockchain เพื่อทำให้ธุรกรรมการส่งข้อมูลต่างๆ เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ และสามารถออกแบบเงือนไขไว้ล่วงหน้าได้
สัญญาอัจฉริยะจึงทำให้เกิดกรณีการใช้งานใหม่ๆ ขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในภาครัฐเพื่อสร้างความโปร่งใส การก่อตัวของอุตสาหกรรมใหม่อย่าง NFT Gaming ระบบการเงินข้ามพรมแดนและบริการทางการเงินใหม่ๆ ผ่านระบบ DeFi และยังเป็นเทคโนโลยีที่เข้ากันได้ดีกับ AI อีกด้วย
ข้อจำกัดความรับผิด
ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์