ดูเพิ่มเติม

เทรดเดอร์ (Trader) คืออะไร เข้าใจอาชีพเทรดเดอร์ก่อนเริ่มต้นเทรด

10 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

คำว่า “เทรดเดอร์” อาจจะเป็นคำที่หลายๆ คนคุ้นหูและได้ยินอยู่เป็นประจำเมื่อก้าวเข้ามาสู่โลกของตลาดการเงิน แต่อันที่จริงแล้ว มันหมายความว่าอย่างไรกันแน่ ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับคำว่า “เทรดเดอร์” ไปพร้อมๆ กันว่า “เทรดเดอร์” (Trader) คืออะไร? พวกเขามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับตลาดการเงิน? หน้าที่หรือสิ่งที่พวกเขาทำคืออะไร? ทำอย่างไรคุณถึงจะกลายเป็นเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จได้? ถ้าพร้อมแล้ว ก็ไปดูกันเลยดีกว่า!

เทรดเดอร์ (Trader) คืออะไร

เทรดเดอร์ คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมในการซื้อและขายสินทรัพย์ในตลาดการเงินใดๆ

เทรดเดอร์ คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมในการซื้อและขายสินทรัพย์ในตลาดการเงินใดๆ เช่น หุ้น, พันธบัตร, สกุลเงิน, สินค้าโภคภัณฑ์, อนุพันธ์ ฯลฯ ไม่ว่าจะเพื่อตนเอง หรือ ในนามของบุคคลหรือสถาบันต่างๆ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “เทรดเดอร์” แตกต่างจาก “นักลงทุน” ก็คือ ระยะเวลาในการถือครองสินทรัพย์ของพวกเขา เทรดเดอร์จะถือครองสินทรัพย์เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากความผันผวนของราคาและเทรนด์ในระยะสั้น ในขณะที่ นักลงทุนจะถือครองสินเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าเพื่อใช้ประโยชน์จากการเติบโตของตราสารเงินนั้นๆ

วัตถุประสงค์หลักของ “เทรดเดอร์” ก็คือ การสร้างผลกำไรด้วยการซื้อสินทรัพย์ในราคาที่ต่ำลง และทำการขายในราคาที่สูงขึ้น โดยการใช้แนวทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน, การวิเคราะห์ทางเทคนิค, หรือ กลยุทธ์อื่นๆ อีกมากมาย เพื่อช่วยในการระบุเทรนด์และโอกาสในการซื้อขายเพื่อทำกำไร

เทรดเดอร์ในประเภทต่างๆ

โดยทั่วไปแล้ว ประเภทของเทรดเดอร์จะถูกแบ่งออกตามลักษณะของการเทรด หรือ แนวทางหรือกลยุทธ์การเทรดที่พวกเขาใช้งาน โดยจะแบ่งออกเป็นประเภทหลักๆ ได้ดังต่อไปนี้

  • Fundamental Trader — เทรดเดอร์ที่อาศัยการวิเคราะห์สถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างละเอียด พวกเขามักจะแสวงหาโอกาสในการลงทุนระยะยาวโดยอาศัยข้อมูลทางการเงินที่มั่นคง
  • Technical Trader — เทรดเดอร์ที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคนิค, ข้อมูลในอดีต, แผนภูมิ และรูปแบบต่างๆ เพื่อคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของตลาด โดยมีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่า ความเคลื่อนไหวของราคาในอดีตสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าสำหรับการตัดสินใจซื้อขายในอนาคตได้
  • Noise Trader — เทรดเดอร์ที่ทำการซื้อและขายอย่างรวดเร็ว โดยจะพิจารณาจากเทรนด์ของตลาดในปัจจุบัน พวกเขามักจะไม่ค่อยสนใจการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด แต่จะเป็นการพยายามที่จะหาประโยชน์จากความผันผวนของตลาดและแนวโน้มทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแทน
  • Sentiment Trader — เทรดเดอร์ที่จะทำการซื้อขายโดยอิงจากเทรนด์ของตลาด พวกเขาจะใช้ทั้งการศึกษาปัจจัยพื้นฐานและการวิเคราะห์ทางเทคนิค เพื่อมองหาความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับโมเมนตัมของตลาด เพื่อที่จะสามารถทำการซื้อขายอย่างมีกำไรได้
  • Momentum Trader — เทรดเดอร์ที่จะค้นหาและซื้อขายสินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญไปในทิศทางเดียว พวกเขาจะใช้ประโยชน์จากโมเมนตัมของการเพิ่มขึ้นของราคาอย่างกะทันหัน และตั้งเป้าที่จะไหลตามโมเมนตัมดังกล่าวไปเพื่อให้สามารถทำกำไรได้สูงสุด
  • Market Timer — เทรดเดอร์ประเภทนี้จะอาศัยข้อมูลทางเศรษฐกิจและอินดิเคเตอร์ทางเทคนิค เพื่อคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาในระยะสั้น กลยุทธ์ของพวกเขาจะโฟกัสไปที่การซื้อขายในระยะสั้นเป็นหลัก
  • Algorithmic Trader — เทรดเดอร์ที่จะใช้อัลกอริทึมของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (หรือก็คือ บอทเทรด) เพื่อทำการซื้อขายให้ได้ราคาที่เหมาะสมที่สุดตามเงื่อนไขที่ได้ตั้งค่าเอาไว้ เพื่อที่จะสามารถทำกำไรได้ เทรดเดอร์ประเภทนี้จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจแผนภูมิทางเทคนิคและเทคโนโลยีอย่างดีเยี่ยม
  • Arbitrage Trader — เทรดเดอร์ที่จะทำการซื้อขายสินทรัพย์จากตลาดซื้อขายที่แตกต่างกัน เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคาสินทรัพย์ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการใช้โปรแกรมช่วยในการเทรดเพื่อความรวดเร็วในการซื้อขายแบบที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
  • Day Traderเดย์เทรดเดอร์ คือ เทรดเดอร์ที่จะทำการซื้อและขายสินทรัพย์ภายในวันเดียวกัน โดยมุ่งหวังที่จะทำกำไรจากความเคลื่อนไหวของราคาเล็กๆ น้อยๆ และใช้ประโยชน์จากความผันผวนของราคาระหว่างวัน เทรดเดอร์รายวันมักจะต้องตรวจสอบข้อมูลความเคลื่อนไหวของตลาดแบบเรียลไทม์ อีกทั้งจะต้องมีความสามารถในการตัดสินใจซื้อขายอย่างรวดเร็ว
  • Swing Trader — เทรดเดอร์ที่มีเป้าหมายในการทำกำไรในช่วงเวลาระยะสั้นหรือระยะกลาง พวกเขาจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นหลัก เพื่อที่จะระบุจุดเข้าซื้อและขายที่อาจจะเป็นไปได้
  • Scalper — เทรดเดอร์ที่จะทำกำไรจากการซื้อขายอย่างรวดเร็ว โดยตั้งเป้าที่จะทำกำไรจากความผันผวนจากการซื้อขายในแต่ละครั้ง สร้างผลกำไรที่สม่ำเสมอจากความเคลื่อนไหวเล็กน้อยของราคาสินทรัพย์ แต่จะเน้นจำนวนครั้งในการซื้อขายตลอดทั้งวัน การเทรดในรูปแบบนี้จะต้องอาศัยทักษะในการวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นอย่างมาก
  • Position Trader — เทรดเดอร์ที่จะพิจารณาแนวโน้มทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม และมุ่งเป้าไปที่การเติบโตในระยะยาว โดยไม่สนใจความเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยของตลาด เทรดเดอร์ประเภทนี้จะต้องมีทักษะการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างละเอียด และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจแบบมหภาค

และทั้งหมดนี่คือประเภทของเทรดเดอร์ และกลยุทธ์ต่างๆ ที่เทรดเดอร์นิยมเลือกใช้งาน อย่างไรก็ดี มันยังมีกลยุทธ์อื่นๆ อีกมากมายที่เราอาจจะยังไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่มความเฉพาะเจาะจง หรือ เป็นกลยุทธ์ประเภทที่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก เป็นต้น

เทรดเดอร์มีรายได้เท่าใด?

ถ้าจะให้พูดกันตามตรงแล้ว มันคงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินรายได้ของเทรดเดอร์รายใดก็ตาม เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรของเทรดเดอร์แต่ละรายนั้น ก็จะขึ้นกับประสบการณ์และทักษะของพวกเขา รวมไปถึง เงินทุนที่พวกเขาได้ทำการลงทุนลงไป นอกจากนี้ มันยังมีปัจจัยภายนอกต่างๆ อย่างเช่น สถานะหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว หรือ ความผันผวนของตลาดอันเนื่องมาจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (เช่น สถานการณ์ทางการเมือง/สงคราม) ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินทรัพย์แบบที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถคาดเดาได้ก็คือ เทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์และทักษะด้านการลงทุนมาเป็นระยะเวลานาน มีแนวโน้มที่จะสร้างผลกำไรให้กับตัวเองได้มากกว่า เทรดเดอร์ที่เป็นมือใหม่และไร้ประสบการณ์อย่างแน่นอน

เรื่องที่มักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “เทรดเดอร์”

มีอยู่หลายๆ เรื่องที่ผู้คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นเทรดเดอร์ ซึ่งรวมไปถึง

  • ไม่ต้องทำอะไรมาก อยู่เฉยๆ ก็ได้เงิน — การเป็นเทรดเดอร์ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถนั่งว่างๆ ไม่ทำอะไรได้ แน่นอนว่า หากคุณมีกลยุทธ์และแนวทางที่ชัดเจนแล้ว คุณจะสามารถทำการเทรดอย่างมีประสิทธิภาพได้ พร้อมทั้งยังมีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่ต้องทำอะไรเลย ก่อนที่จะไปถึงจุดดังกล่าวได้ คุณจะต้องทำการศึกษาข้อมูลมากมายเกี่ยวสินทรัพย์ที่คุณต้องการจะเทรด ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐาน, ข้อมูลในอดีต, ปัจจัยทางเทคนิคต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ หากกลยุทธ์ในการเทรดของคุณเป็นกลยุทธ์ที่ต้องทำการตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง คุณก็ไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ได้อย่างแน่นอน
  • เทรดแล้วได้กำไรแน่นอน — การเทรดได้ไม่ได้ทำกำไรเสมอไป ตลาดการเงินนั้นจะมีความผันผวนที่ไม่อาจคาดเดาได้อยู่เสมอ สิ่งที่เทรดเดอร์ทำก็คือ การศึกษาข้อมูลต่างๆ เพื่อที่จะลดโอกาสในการสูญเสีย/ขาดทุน และช่วยเพิ่มโอกาสที่เราจะคาดการณ์แนวโน้มต่างๆ อย่างถูกต้องด้วยชุดข้อมูลที่เราใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาสินทรัพย์ที่อาจจะเป็นไปได้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดีแล้ว มันก็มีโอกาสที่จะสูญเสียหรือขาดทุนได้จากปัจจัยต่างๆ ที่ไม่คาดคิดอยู่ดี
  • เทรดทั้งวัน กำไรอื้อซ่า — การเทรดบ่อยๆ หรือ นั่งเทรดทั้งวัน ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ มันขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ในการเทรดที่ใช้ด้วยเช่นกัน เช่น หากคุณเป็นเทรดเดอร์แบบ Scalper จำนวนครั้งในการเทรดอาจจะส่งผลต่อผลกำไรของคุณอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน หากคุณเป็นนักเทรดแบบ Position Trader จำนวนครั้งในการเทรดอาจจะไม่ส่งผลต่อผลกำไรของคุณแต่อย่างใด
  • การเทรด = การพนัน — ถึงแม้ว่าการเทรดอาจจะดูคล้ายกับการพนัน แต่สิ่งที่ทำให้การเทรดและการพนันแตกต่างกันก็คือ การเทรดจะเป็นการศึกษาข้อมูลต่างๆ ของสินทรัพย์ที่เราต้องการจะเทรดหรือลงทุนล่วงหน้า และตัดสินใจลงทุนโดยใช้ข้อมูลต่างๆ ที่เราได้ศึกษาไปมาเป็นตัวสนับสนุน

อยากเป็น “เทรดเดอร์” ต้องทำอย่างไร?

ในปัจจุบัน ด้วยการอำนวยความสะดวกจากเทคโนโลยีต่างๆ มากมายบนโลกออนไลน์ ใครๆ ก็สามารถทำการซื้อขายสินทรัพย์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่หากคุณต้องการที่จะเป็น “เทรดเดอร์” คุณอาจจะหมั่นศึกษาหาความรู้ สั่งสมประสบการณ์ (ไม่ว่าจะผ่านการเทรดจริง หรือ การเทรดด้วยบัญชีทดลอง) และหากมีชุดทักษะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ก็จะทำให้การเทรดมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น

  • ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ — เทรดเดอร์จะใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ตลาดเพื่อระบุแนวโน้ม หรือ ตรวจสอบข้อมูลในอดีต เป็นต้น พวกเขาสามารถใช้แพลตฟอร์มหรือเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ เช่น Trading View เป็นต้น
  • ความสามารถในการปรับตัว — หมายถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือแผนการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเทรดเดอร์ที่จะต้องปรับตัวเข้ากับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
  • ความสามารถในการจัดการความเสี่ยง — การบริหารความเสี่ยงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าจะต้องดำเนินการในรูปแบบใด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้เทรดเดอร์หลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง หรือ การสูญเสียเงินทุนไปโดยไม่สมควรได้
  • ความสามารถในตัดสินใจอย่างเด็ดขาด — สิ่งนี้จะช่วยให้เทรดเดอร์สามารถเลือกและตัดสินใจในการทำการซื้อขายได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเทรดเดอร์ที่จะต้องมั่นใจในการตัดสินใจของตนเอง และรู้ว่าการซื้อขายใดที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด

วิธีทำกำไรที่ดีที่สุดสำหรับ “เทรดเดอร์”

เพื่อที่จะสามารถเทรดและทำกำไรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทรดเดอร์จะต้อง

  • ศึกษาข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะเทรดสินทรัพย์ใดๆ — การศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียเงินทุน รวมถึง มีข้อมูลที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพ
  • ฝึกฝนกลยุทธ์ในการเทรดของคุณ — ปัจจุบัน กระดานเทรดสินทรัพย์ต่างๆ มากมายต่างก็มีบัญชีทดลองให้เลือกใช้งาน ดังนั้น การฝึกฝนกลยุทธ์การเทรดของคุณด้วยบัญชีทดลองเหล่านี้ถือเป็นความคิดที่ดี และจะช่วยให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ล้ำค่าผ่านการเทรดแบบจำลองนี้ รวมถึง ช่วยให้คุณสามารถปรับแต่งกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้
  • กำหนดและทำตามกลยุทธ์ที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด — ระเบียบวินัยทางการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญ ให้ทำตามแผนการที่คุณได้กำหนดเอาไว้อย่างเคร่งครัด สิ่งนี้จะช่วยให้คุณไม่ตัดสินใจไปตามอารมณ์หรือขาดข้อมูลรองรับ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการขาดทุนของคุณได้

บทส่งท้าย

ในปัจจุบัน เทรดเดอร์ไม่ได้เป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับมืออาชีพที่มีการศึกษาข้อมูลทางการเงินเท่านั้น แต่บุคคลทั่วไปก็สามารถกลายมาเป็นเทรดเดอร์เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม นอกเหนือจากงานหลักที่ทำอยู่เป็นประจำได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเทรดหุ้น, ฟอเร็กซ์, สกุลเงินดิจิทัล หรือตราสารทางการเงินใดๆ ก็ตาม เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการเทรดได้นั้น เทรดเดอร์จะต้องเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะตัดสินใจทำการลงทุนใดๆ ก็ตาม ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ทำการศึกษาข้อมูลในเชิงลึกเสมอ และอย่าลงทุนไปมากเกินกว่าที่คุณสามารถจะสูญเสียไปได้

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | พฤษภาคม 2024

Trusted

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน