Trusted

“รูปแบบกราฟ” (Chart Pattern) และแนวทางการเทรดพื้นฐาน

8 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

รูปแบบกราฟ (Chart Pattern) คือ พื้นฐานในการทำความเข้าใจตลาดและวางแผนในการเทรด ที่มาของรูปแบบกราฟล้วนสะท้อนถึงมุมมองและแนวคิดในการตีความการเคลื่อนไหวของราคา

กราฟคือ เครื่องมือพื้นฐานที่สุดในการวิเคราะห์สินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ค่าเงิน ทองคำ หรือ คริปโต ผ่าน “บันทึกการเคลื่อนไหวของราคา” และแสดงผลออกมาในแต่ละช่วงเวลาที่เรากำหนด

ปัจจุบัน นักวิเคราะห์และนักลงทุนมากมายพยายามหา “รูปแบบ” (Pattern) ต่างๆ ของราคา ด้วยความเชื่อที่ว่า “ตลาดไม่ได้เคลื่อนไหวแบบสุ่ม” ดังนั้นหากเราหารูปแบบได้ เราก็อาจจะสร้างผลตอบแทนส่วนเกิน (alpha) ที่สูงกว่าการซื้อและถือยาว (Buy&Hold) รูปแบบกราฟ จึงเป็นรากฐานของ “การวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technical Analysis)” นั่นเอง บทความนี้จะรวบรวมรูปแบบพื้นฐานที่นักวิเคราะห์ได้ค้นพบไว้มาให้ศึกษากัน

กราฟ (Chart) คืออะไร

ในขั้นพื้นฐาน กราฟจะแสดงผลได้ 3 รูปแบบหลักๆ ตามแต่ความถนัดและความต้องการของนักลงทุนในการแสดงผลได้แก่ กราฟเส้น (Line Chart) กราฟแท่ง (Bar Chart) และ กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart)

ในขั้นพื้นฐาน กราฟจะแสดงผลได้ 3 รูปแบบหลักๆ ตามแต่ความถนัดและความต้องการของนักลงทุนในการแสดงผลได้แก่ กราฟเส้น (Line Chart) กราฟแท่ง (Bar Chart) และ กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart)
Image from centerpointsecurities
  • กราฟเส้น (Line Chart)

กราฟเส้นเป็นรูปแบบที่เราเห็นได้ทั่วไปไม่ใช่แค่กับกราฟราคาสินทรัพย์แต่ในกราฟแสดงผลชุดข้อมูลชนิดต่างๆ มากมาย เช่น เงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย อัตราการเกิดของประชากร และแทบจะทุกชนิดชุดข้อมูล

กราฟเส้น ในบริบทของกราฟเทรด เป็นกราฟที่นำเฉพาะ ”ราคาปิด” มาแสดงต่อๆ กันในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นมันจึงเหมาะกับนักเทรดระยะยาวที่ไม่สนใจความผันผวนในระยะสั้นหรือระหว่างวันเป็นต้น

  • กราฟแท่ง (Bar Chart)

กราฟแท่ง เป็นกราฟสำหรับการแสดงราคาโดยเฉพาะ กราฟแท่งจะแสดงจุดราคาเปิดและราคาปิด ส่วนความยาวของแท่งจะแสดงถึงช่วงราคาจุดสูงสุด และจุดต่ำสุดระหว่างวัน หากกราฟมีความยาวนั่นหมายถึงมีความห่างระหว่างจุดสูงสุดและต่ำสุดมาก แสดงถึงความผันผวนที่สูงกว่าแท่งที่สั้นกว่า

  • กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart)

กราฟแท่งเทียน เป็นกราฟที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบันเพราะมีความระเอียดของข้อมูลที่สูง โดยทั่วไปมีการแสดงข้อมูลราคาเปิด ปิด จุดสูงสุดและต่ำสุด เหมือนกราฟแท่ง แต่จะมีส่วน Body สีแดงและเขียว เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน

แท่งเขียวแสดงถึงราคาปิดที่สูงกว่าราคาเปิด แท่งสีแดงแสดงถึงราคาที่ปิดต่ำกว่าราคาเปิด ส่วนเส้น wick ด้านบนและล่างของส่วน body แสดงถึงความผันผวนเหมือนกราฟแท่งนั่นเอง

ด้วยข้อมูลที่ชัดเจน เห็นได้ง่ายและสามารถตีความได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กราฟแท่งเทียนเป็นที่นิยมสำหรับนักเทรดทั้ง Scalper, Day Trader, หรือแม้แต่การถือครองระยะยาว การอ่านแท่งเทียน จะช่วยวิเคราะห์ตลาดได้ลึกยิ่งขึ้น

รูปแบบกราฟ (Chart Pattern) คืออะไร?

รูปแบบกราฟเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวางกลยุทธ์เพื่อการเทรด เช่น การหาจังหวะกลับตัว หรือการ Breakout เพื่อหาจุดเข้าซื้อและขาย รูปแบบของกราฟเกิดขึ้นจากการที่นักวิเคราะห์ค้นพบรูปแบบการเคลื่อนที่ของราคาที่มักเกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น หากราคาทะลุ Demand หรือ Supply Zone มักจะเกิดการเคลื่อนไหวของราคาที่รุนแรงนั่นเอง

ทว่านักเทรดควรทราบด้วยว่า ไม่มีรูปแบบกราฟใดที่จะพยากรณ์ราคาของสินทรัพย์ได้ถูกต้อง 100% แต่รูปแบบที่นิยมนั้นเป็นรูปแบบที่ผู้คนพบรวมรวบข้อมูลเชิงสถิติแล้วคาดว่าจะมีโอกาสมากว่า 50% หรือคาดว่าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ ณ เวลานั้น นักเทรดจึงควรลงทุนอย่างระมัดระวัง และควบคุมความเสี่ยงโดยการตั้ง Stop Loss

ตีความรูปแบบโครงสร้างของกราฟ

ในเบื้องต้น ทุกๆ รูปแบบกราฟจะประกอบไปด้วย “Trendline”, “แนวรับแนวต้าน”, และ “การทำ New High หรือ New low”

องค์ประกอบทั้ง 3 เปรียบเสมือนกรอบที่คอยกำกับการเคลื่อนไหวของราคาทำให้เกิดหน้าตาของ Pattern ขึ้น และเมื่อใดที่ราคามีความรุนแรงมากพอที่จะทะลุออกจากกรอบจุดที่ทะลุจะทำให้เกิด Trend ใหม่และมักเป็นจุดที่นักเทรดใช้คอนเฟิร์มเพื่อเข้าเปิดสถานะ

ประเภทของ “รูปแบบกราฟ” (Pattern Types)

รูปแบบของกราฟสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้:

  • รูปแบบเทรน (Continuous)

รูปแบบนี้บ่งชี้ว่าราคามีแนวโน้มว่าจะพัฒนาต่อไปในทิศทางเดิม ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังราคามีการพักตัวระหว่างเทรนหรือการสะสมราคาในระยะสั้น

  • รูปแบบกลับตัว (Reversal)

รูปแบบนี้แสดงถึงสัญญาณว่าเทรนที่เกิดขึ้นอาจจะสิ้นสุดลงและกลับตัวไปในทางตรงกันข้าม

  • รูปแบบ Sideway

รูปแบบ Sideway เป็นรูปแบบที่แสดงให้เห็นว่า ราคายังไม่เลือกทิศทาง นักลงทุนควรเตรียมตัวและระวังความผันผวนที่จะรุนแรงขึ้นหากราคาทะลุกรอบเกิดเป็นเทรนใหม่ (Breakout)

8 รูปแบบกราฟ : พื้นฐานหัดเทรด หาเป้าด้วย Fibonacci

เรามาดูกันว่า รูปแบบพื้นฐานสำหรับทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวไปข้างต้นนี้มีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นบ่อยๆ และนักลงทุนควรทราบ

3 รูปแบบเทรน (Continuous)

  • รูปแบบ Cup and Handle

รูปแบบถ้วยและหูจับ เป็นหนึ่งในรูปแบบที่เกิดขึ้นระหว่างการปรับฐานที่มักจะปรากกฎให้เห็นในกราฟระยะกลางและยาว ก่อนที่ราคาจะขึ้นต่อ

รูปแบบนี้ประกอบด้วยปากถ้วยด้านซ้าย ราคาจะค่อยๆ ลงมาที่แนวรับและค่อยๆ ขึ้น โค้งเป็นรูปก้นถ้วยก่อนราคาจะถูกปฎิเสธอีกครั้งที่ขอบปากขวา ทว่าราคาไม่ทำ Lower low และ Breakout จากขอบถ้วยทำให้เกิดเทรนขึ้นต่อไป เราอาจกำหนดเป้าขนาดเท่ากับกับขนาดที่วัดจากจุดต่ำสุดของถ้วยไปจนถึงขอบปากถ้วย จากจุดตามสุดของการปรับฐานตรงหูถ้วย

  • ธง (Flag)

รูปแบบธง (Flag) เป็นรูปแบบของ “ราคาที่อยู่ในช่วงปรับฐานระยะสั้น” ระหว่างเทรนที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ในช่วงขาขึ้น และเกิดการปรับฐาน ในช่วงการปรับฐานราคาจะเคลื่อนเอียงลงอย่างช้าๆ ทำ Lower high และ lower low อย่างต่อเนื่องภายในช่องราคาแนวรับแนวต้านที่ขนานกัน (Channel)

การ Breakout แนวต้าน ราคาจะปรับตัวขึ้นต่อ ในหนังสือทั่วไปมักจะมองว่าราคาจะปรับตัวขึ้นโดยมีขนาดราว 68- 100% ของเทรนเก่าก่อนปรับตัว และกำหนดเป็นจุด Take Profit นักเทรดสามารถวัดได้ด้วย Fibonacci Extension จากจุดต่ำสุดในช่วงปรับฐาน

รูปแบบธง (Flag) เป็นรูปแบบของ “ราคาที่อยู่ในช่วงปรับฐานระยะสั้น”
  • ธงสามเหลี่ยม (Pennant)

รูปแบบธงสามเหลี่ยม (Pennant) เป็นรูปแบบของ “ราคาที่อยู่ในช่วงปรับฐานระยะสั้น” เช่นเดียวกับ Flag แต่รูปแบบในช่วงปรับตัว แนวรับและแนวต้านจะบีบเข้าหากันเป็นสามเหลี่ยมและมีความผันผวนต่ำ วอลลูมน้อย แต่หากเกิดการ Breakout ขึ้นราคาจะพุ่งอย่างรุนแรง โดยมีเป้าที่ 68-100% ของเทรนเก่าโดยวัดจากจุดที่ราคาทะลุจากกรอบ

รูปแบบธงสามเหลี่ยม (Pennant) เป็นรูปแบบของ “ราคาที่อยู่ในช่วงปรับฐานระยะสั้น”

3 รูปแบบกลับตัว (Reversal)

  • รูปแบบ Head and Shoulders

รูปแบบนี้เป็นรูปแบบราคาที่ถูกกล่าวถึงและเป็นหนึ่งในแพทเทิร์นที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในตลาด มักจะเกิดขึ้นก่อนเทรนจะกลับตัวจากขึ้นเป็นลงหรือลงเป็นขึ้น

ในกรณีขาขึ้นเป็นลง ราคาจะแกว่งตัว 3 ครั้งมีลักษณะเป็นไหล่ซ้าย หัว และไหล่ขวา ที่ไหล่ขวาไม่สามารถทะลุแนวต้านที่ระดับราคาเดียวกับไหล่ซ้ายได้ หลังจากนั้นหากราคา breakout จาก แนวรับ (neckline) จะถือว่ารูปแบบถูกคอนเฟิร์ม

ลักษณะที่เกิดขึ้นมีความใกล้เคียงกับ แนวคิดของ Elliot Wave เมื่อราคาสิ้นสุด Wave 5  ที่ส่วนหัว และราคาปรับตัวเป็นขาลง เป้าหมายอาจวัดคร่าวๆ จากขนาดของเทรนจากจุดสูงสุดที่ส่วนหัวไปที่แนวรับ โดยกำหนดเป้าด้วยขนาดเดียวกันวัดลงไปจาก neckline

รูปแบบ Head and Shoulders
  • รูปแบบ Double Top/Bottom

รูปแบบ Double Top เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ในโลกของการเทรดซึ่งเป็นรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในช่วงปลายเทรน ที่ราคาไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้แม้จะพยายามแล้วก็ตาม ทำให้เกิดการปฏิเสธของราคา ณ “แนวต้านที่ระดับราคาเดียวกัน” หรือแนวต้านแนวนอน ทำให้มีลักษณะเป็นตัว M ส่วนขาลงจะเป็น W

เมื่อใดก็ตามที่ราคาทะลุแนวรับก่อนราคาจะทดสอบแนวต้านครั้งที่ 2 จะถือว่ารูปแบบได้รับการคอนเฟิร์ม ราคาเป้าหมายขั้นต่ำอย่างน้อยควรมีขนาด 100% ของเทรนย่อยระหว่างแนวรับดังกล่าวกับจุดสูงสุดที่ทดสอบแนวต้านครั้งที่ 2

รูปแบบ Double Top/Bottom
  • รูปแบบ Triple Top/Bottom

รูปแบบนี้มีลักษณะเหมือน Double Top/Bottom แต่ราคาจะมีการทดสอบถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะกลับตัว หากราคา Breakout เทรนใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงมากกว่า Double Top/Bottom เพราะรูปแบบแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าราคาไม่สามารถไปต่อในทิศทางเดิมได้แม้จะพยายามถึง 3 ครั้งแล้วก็ตาม เป้าราคาอาจกำหนดไว้ที่ 123-168% ของขนาดเทรนย่อยในช่องขนาน

2 รูปแบบ Sideway

  • รูปแบบลิ่ม Wedge

รูปแบบลิ่ม (Falling Wedge/ Rising Wedge) สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ราคาเริ่มเกิดความลังเลและมีแนวรับและแนวต้านบีบเข้าหากัน ทำให้เกิด 3 เหลี่ยมเหมือนลิ่มขึ้น เมื่อราคาทะลุออกนอกกรอบมักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาอย่างรุนแรง ทว่ารูปแบบนี้ราคามีโอกาสกลับตัวและไปต่อในทางเดิมได้เช่นกัน จึงเป็นรูปแบบที่เทรดและวางกลยุทธ์ได้ยาก นักเทรดควรรอให้เทรนคอนเฟิร์มก่อนแล้วจึงหาโอกาสในการเข้าเปิดสถานะ

  • รูปแบบช่องราคา (Channel)

รูปแบบช่องราคาเป็นรูปแบบ Sideway ที่ราคาสามารถทะลุได้ทั้ง 2 ข้าง ราคาจะมีความผันผวนต่ำ วอลลูมน้อยและเคลื่อนที่อยู่ระหว่างแนวรับและแนวต้านในเส้นขนาน นักเทรดมักเรียกว่า “ราคาออกข้าง” นั่นเอง เป้าราคาสามารถวัดได้ตามขนาดของช่อง สูงขึ้นไปจากจุดที่ Breakout ในขนาดที่เท่ากัน

สรุป

“รูปแบบกราฟ” (Chart Pattern) คือเครื่องมือเชิงสถิติชนิดหนึ่งที่นักวิเคราะห์ค้นพบว่า ราคามีรูปแบบบางอย่างที่มักจะเกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้นักลงทุนสามารถนำมาใช้เพือวิเคราะห์สภาพของตลาดและวางกลยุทธ์ในการเทรดได้

รูปแบบที่เกิดขึ้นมี 3 ประเภทได้แก่ รูปแบบเทรน รูปแบบกลับตัว และ รูปแบบ Sideway นักลงทุนที่มีความชำนาญอาจนำแนวคิดเรื่อง แนวรับแนวต้าน Fibonacci และ Indicator อื่นๆ มาใช้ประกอบการตัดสินใจและการวางแผน

รูปแบบเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้รับการเทรดทุกแขนงไม่ว่าจะเป็น Scalper, Day trader, หรือ Swing trader ทว่านักลงทุนควรทราบไว้ว่า รูปแบบเหล่านี้ไม่ได้รับรองว่าราคาจะพัฒนาไปอย่างที่มันควรจะเป็น 100% ทำให้นักลงทุนต้องพึ่งคำนึงถึงการควบคุมความเสี่ยงไว้ตลอดเวลาเช่นการวาง Stop Loss

🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

IMG_4466-1.png
Nonthachai Sukkankosol
นนทชัย สักการโกศล จบการศึกษาปริญญาโท ด้านการวิจัยผลงานศิลปะร่วมสมัย จาก SOAS University of London แต่ผันตัวมาเป็นผู้แนะนำการลงทุนที่บริษัทหลักทรัพย์ Finansia Syrus Securities PLC. เขาถือใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนตราสารทุน ตราสารหนี้และกองทุนรวม และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมถึงใบรับรองด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิค CMT ระดับ 2 จาก CMT Association ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเริ่มลงทุนคริปโตเคอเรนซี่มาตั้งแต่ปี 2016
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน