Trusted

ค่า Gas คืออะไร แล้วจะรู้ได้ยังไงตัวไหนเท่าไหร่

8 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

เทคโนโลยี Cryptocurrency และ Blockchain คือ เทคโนโลยีที่จะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมการเงิน และนำมันไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ที่ล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น ด้วยโครงสร้างของการกระจายอำนาจและอัตราค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า การใช้งานสกุลเงินดิจิทัลจะช่วยทำให้สิ่งต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การมีอัตราค่าธรรมเนียมที่ต่ำ ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ เลย เรายังคงต้องจ่าย “ค่าแก๊ส” (Gas) ในการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนด้วย ว่าแต่ว่า… ค่า Gas คืออะไร? ทำไมเราถึงต้องจ่ายมัน? แล้วทำไมเครือข่ายต่างๆ จึงเรียกเก็บค่า Gas ไม่เท่ากัน? เราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้!

ค่า Gas คืออะไร?

ค่าแก๊ส (Gas Fee) คือ ค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้งานต้องจ่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ

ค่าแก๊ส (Gas Fee) คือ ค่าธรรมเนียมที่ผู้ใช้งานต้องจ่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ (เช่น การซื้อขายเหรียญคริปโต หรือ NFT) หรือ การใช้งานหรือดำเนินการ Smart Contract ใดๆ บนเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งจะถูกจ่ายให้กับเหล่าผู้ตรวจสอบความถูกต้องของเครือข่าย (Validator Node) เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนให้กับการดูแลรักษาความปลอดภัยเครือข่ายบล็อกเชน ‘ค่าแก๊ส’ ก็เปรียบเสมือน “เชื้อเพลิงที่ช่วยให้เครือข่ายบล็อกเชนทำงานได้อย่างราบรื่น” ซึ่งทำงานในลักษณะเดียวกับการที่รถยนต์ต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง (Gas) นั่นเอง

บนเครือข่ายบล็อกเชนอื่นๆ อาจจะเรียกมูลค่าที่ต้องจ่ายนี้ว่า “ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม” (Transaction Fee), “ค่าธรรมเนียมการขุด” (Miner Fee), หรือคำอื่นที่คล้ายๆ กันนี้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Ethereum — ซึ่งเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด — จะใช้คำว่า “ค่าแก๊ส” (Gas Fee) นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมคำว่า “ค่าแก๊ส” จึงมักจะถูกนำมาใช้เมื่อเราพูดถึงเรื่องค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนเครือข่ายบล็อกเชนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

“ค่าแก๊ส” คำนวณอย่างไร?

ก่อนที่จะไปดูกันว่าเราจะคำนวนค่า Gas ได้อย่างไร เพื่อที่จะสามารถทำความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น เราจะต้องเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนกันเสียก่อน

บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร?

เทคโนโลยีบล็อกเชน คือ ระบบที่ใช้จัดเก็บข้อมูลแบบไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง ข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดจะไม่ถูกเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ใดๆ เพียงตัวเดียว แต่มันจะถูกเผยแพร่ให้ผู้ใช้งานทุกคนในระบบทำการจัดเก็บข้อมูลร่วมกัน ซึ่งทำให้มันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแฮ็กหรือแก้ไขข้อมูลเหล่านี้

หลักการทำงานของระบบบล็อกเชนก็คือ เมื่อมีการทำธุรกรรมใหม่เกิดขึ้น ผู้ใช้งานทุกคนที่อยู่ในระบบ (Validator Node) จะสามารถแข่งขันกันเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ และผู้ที่สามารถตรวจสอบได้สำเร็จเป็นคนแรกก็จะได้รับเหรียญของเครือข่าย (Native Coin) — เช่น ETH (Ethereum) หรือ BTC (Bitcoin) — ไปเป็นรางวัลหรือผลตอบแทน

กระบวนการนี้จะทำให้เครือข่ายมีความกระจายอำนาจและมีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้เข้าร่วมเครือข่ายจะมีเหรียญของเครือข่ายเป็นแรงจูงใจในการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่ถูกส่งเข้า แต่มันเกี่ยวข้องกับ ค่าแก๊ส อย่างไร?

รู้หรือไม่ว่า? คำว่า Blockchain นั้นมาจากคำว่า Block (บล็อกที่ใช้เก็บข้อมูลธุรกรรม) + Chain (การเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย) ซึ่งก็คือ “บล็อกข้อมูลธุรกรรมที่ถูกเก็บไว้บนเครือข่าย” นั่นเอง

แล้วมันเกี่ยวข้องกับ ‘ค่าแก๊ส’ อย่างไร

เมื่อเราทำธุรกรรมใหม่บนเครือข่ายบล็อกเชน ธุรกรรมดังกล่าวจะถูกนำเอาไปต่อคิวเพื่อรอให้ผู้ตรวจสอบความถูกต้อง (Validator Node) ทำการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งคิวหรือลำดับในการตรวจสอบข้อมูลก็จะถูกเรียงลำดับจาก ‘ค่าแก๊ส’ ที่เราจ่ายนั่นเอง หากเราต้องการให้ธุรกรรมของเราได้รับการตรวจสอบก่อน เราก็อาจจะต้องจ่ายค่าแก๊สสูงมากขึ้น หรือ ถ้าเราไม่ต้องการจ่ายค่าแก๊สเพิ่ม ธุรกรรมของเราก็อาจจะไปอยู่ลำดับหลังๆ และได้รับการตรวจสอบที่ล่าช้า (หากเครือข่ายมีความแออัด)

วิธีการคำนวน ‘ค่าแก๊ส’ นั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละเครือข่าย ตัวอย่างเช่น เครือข่าย Ethereum จะอ้างอิงวิธีการคำนวน ‘ค่าแก๊ส’ จาก EIP-1559 ซึ่งถูกนำมาใช้ในเดือนสิงหาคม 2021 โดยมีสูตรคำนวน ‘ค่าแก๊ส’ ดังต่อไปนี้:

( (Base fee + Priority fee) x Units of Gas used)

( (ค่าธรรมเนียมพื้นฐาน + ค่าธรรมเนียมเพื่อจัดลำดับความสำคัญ) x หน่วยของแก๊สที่ใช้)

  • Base fee คือ ค่าธรรมเนียมพื้นฐานที่ถูกกำหนดโดยความต้องการของเครือข่าย โดยจะอ้างอิงจาก “ขนาดบล็อก” ของ “บล็อกก่อนหน้า” เปรียบเทียบกับ “ขนาดบล็อกเป้าหมาย” (”ขนาดของบล็อก” นั้นหมายถึง ปริมาณแก๊สทั้งหมดที่ใช้สำหรับการทำธุรกรรมทั้งหมดในบล็อกดังกล่าว) หาก “ขนาดบล็อก” ของ “บล็อกก่อนหน้า” มีขนาดใหญ่กว่า “ขนาดบล็อกเป้าหมาย” ค่าธรรมเนียมพื้นฐานของบล็อกถัดไปก็จะเพิ่มขึ้น 12.5%
  • Priority fee คือ ค่าธรรมเนียมเพื่อจัดลำดับความสำคัญ หรือก็คือ ค่าธรรมเนียมเพื่อขอลัดคิว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับเหล่า Validators เร่งการตรวจสอบธุรกรรมของคุณให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • Units of Gas used คือ หน่วยของแก๊สที่ใช้งาน ตัวอย่างเช่น หากการดำเนินงานใช้แก๊ส 10 หน่วย และ ปัจจุบัน ค่าแก๊สอยู่ที่ 20 Gwei “ค่าแก๊ส” หรือ “ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม” ของคุณก็จะเท่ากับ 200 Gwei นั่นเอง

เพื่อความถูกต้องและแม่นยำ เพื่อนๆ สามารถตรวจสอบมูลค่าของค่าธรรมเนียมเหล่านี้ (ทั้ง Base fee และ Priority fee) ได้ที่ Ethereum Gas Tracker บนเว็บไซต์ etherscan.io ได้เลย

Ethereum Gas Tracker จาก etherscan.io
Ethereum Gas Tracker จาก etherscan.io

ค่า Gas Price และ Gas Limit ที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ คืออะไร?

สำหรับ Gas Price นั้น มันก็คือ “ค่าแก๊ส” (ที่เราได้อธิบายไปในหัวข้อก่อนหน้านี้) ซึ่งมีการคำนวนออกมาให้แล้วอย่างเบ็ดเสร็จนั่นเอง และในส่วนของ Gas Limit มันก็คือ ขีดจำกัดของจำนวน “แก๊ส” ที่คุณอนุญาตให้ใช้สำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น การถอนคริปโตออกจาก KuCoin ซึ่งใช้แก๊ส 21,000 หน่วย ถึงแม้ว่าคุณจะทำการตั้งค่า Gas Limit ไว้ที่ 80,000 หน่วย แต่ “ค่าแก๊ส” ก็จะคำนวนตามปริมาณหน่วยของแก๊สที่ใช้งานจริง

ตัวอย่างปริมาณแก๊สที่ใช้งานในการทำธุรกรรมต่างๆ
ตัวอย่างปริมาณแก๊สที่ใช้งานในการทำธุรกรรมต่างๆ: etherscan.io

สิ่งหนึ่งที่คุณควรระวังก็คือ การตั้งค่า Gas Limit ไว้ต่ำจนเกินไป หากธุรกรรมของคุณต้องใช้ Gas มากกว่าที่คุณกำหนดเอาไว้ ธุรกรรมของคุณก็จะล้มเหลว และคุณก็จะเสียค่าแก๊สนั้นไปฟรีๆ

ทำไม ’ค่าธรรมเนียมธุรกรรม’ ของแต่ละเครือข่ายจึงแตกต่างกัน?

สาเหตุหลักที่ทำให้ ‘ค่าแก๊ส’ หรือ ‘ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม’ ของเครือข่ายต่างๆ มีความแตกต่างกันก็คือ “ความแออัดของเครือข่าย” หรือถ้าจะให้พูดง่ายๆ ก็คือ “ปริมาณของธุรกรรมที่รอการตรวจสอบอยู่บนเครือข่าย” นั่นเอง สำหรับเครือข่ายที่ทำการตรวจสอบธุรกรรมได้ช้า ก็มีโอกาสที่เครือข่ายจะเกิดความแออัดได้มากกว่าเครือข่ายที่สามารถตรวจสอบธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายจะตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมได้ช้าหรือเร็วนั้น ก็มาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความนิยมของเครือข่าย, เหตุการณ์สำคัญใดๆ ที่ทำให้คนเข้ามาทำธุรกรรมบนเครือข่ายมากยิ่งขึ้น, การช่วยเหลือของเครือข่ายเลเยอร์ 2 หรือ Sidechains, หรือ กลไกฉันทามติที่เครือข่ายนั้นๆ เลือกใช้งาน เป็นต้น

กลไกฉันทามติของเครือข่ายต่างๆ นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดว่า ‘ค่าแก๊ส’ จะถูกหรือแพง ตัวอย่างเช่น บล็อกเชน Solana ซึ่งใช้กลไกฉันทามติ Proof of History ที่เคลมว่าสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้สูงสุดถึง 50,000 TPS (Transactions Per Second หรือ จำนวนธุรกรรมที่สามารถจัดการได้ภายใน 1 วินาที) ก็จะมีค่าแก๊สที่ถูกมากกว่าบล็อกเชน Ethereum ที่มี TPS สูงสุดเพียง 30 TPS เท่านั้น

ทำไมค่าแก๊สบน Ethereum ถึงแพงจัง?

ก็เหมือนที่เราได้กล่าวไปข้างต้น บล็อกเชน Ethereum นั้นสามารถประมวลผลและจัดการธุรกรรมได้เพียง 30 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น นั่นคือเหตุผลหลักๆ ที่ว่าทำไม ค่าแก๊ส บน Ethereum จึงได้แพงอยู่พอสมควร อีกหนึ่งปัจจัยที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ ความนิยมของตัวเครือข่าย Ethereum เอง ทำให้มีผู้ใช้งานทำธุรกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งส่งผลให้เครือข่ายมีความแออัดมากยิ่งขึ้น และทำให้ค่าแก๊สแพงมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม Ethereum 2.0 ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาได้มีการอ้างว่า เมื่อระบบต่างๆ ได้ถูกพัฒนาและอัพเกรดอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ตัวเครือข่ายเองจะสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้สูงสุดถึง 100,000 ธุรกรรมต่อวินาทีกันเลยทีเดียว

สรุปส่งท้าย

ถึงแม้ว่ามันอาจจะฟังดูยุ่งยาก แต่ ค่าแก๊ส หรือ ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนเครือข่ายให้ทำงานต่อไปได้อย่างราบรื่น โดยการเป็นรางวัลจูงใจให้กับเหล่าผู้ตรวจสอบเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับเครือข่าย และในปัจจุบัน อุตสาหกรรมคริปโตมีความพยายามที่จะพัฒนาและปรับปรุงการทำธุรกรรมให้ถูกลงและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นสิ่งที่เราคงจะต้องรอดูกันต่อไป ดังนั้น หากคุณไม่ต้องการที่จะจ่าย “ค่าแก๊ส” แพงๆ ในการทำธุรกรรมเพียงเล็กน้อย อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลเครือข่ายให้ดี เพื่อดูว่าค่าแก๊สที่คุณต้องจ่าย ณ ช่วงเวลานั้นๆ เป็นราคาที่คุณยอมรับได้หรือไม่

แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | มกราคม 2025
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | มกราคม 2025
แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | มกราคม 2025

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน