Trusted

Consensus Mechanism คืออะไร ระบบฉันทามติมีอะไรบ้าง

7 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

ในโลกบล็อกเชน ที่ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะถูกจัดเก็บและกระจายไปยังคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องในเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและเกิดข้อพิพาทขึ้น มันก็จำเป็นจะต้องมีวิธีการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และนี่คือสิ่งที่ “Consensus Mechanism” หรือ “ระบบฉันทามติ” เข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ แต่ Consensus Mechanism คืออะไร? มันมีความสำคัญอย่างไรต่อเทคโนโลยีบล็อกเชน? วันนี้ เราจะมาเรียนรู้เรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน!

Consensus Mechanism หรือ ระบบฉันทามติ คืออะไร?

หากเพื่อนๆ ได้ศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลของเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตมาบ้าง ทุกคนก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า Consensus Mechanism หรือ ระบบฉันทามติ กันมาแล้วบ้าง (หรืออาจจะได้ยินในคำเรียกอื่นๆ เช่น กลไกฉันทามติ, โปรโตคอลฉันทามติ และอื่นๆ อีกมากมาย) แต่มันคืออะไรกันหล่ะ?

Consensus Mechanism คือ ระบบตรวจสอบความถูกต้องซึ่งถูกนำมาใช้งานในเทคโนโลยีบล็อกเชน และ “บล็อกเชน” คือ ระบบที่มีการกระจายอำนาจ (Decentralized) และไม่มีตัวกลางมาคอยควบคุม อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะบันทึกข้อมูลลงไปในระบบแบบกระจายอำนาจนี้ มันจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้องก่อนที่จะทำการบันทึกข้อมูลลงไป แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลที่จะบันทึกลงไปนั้นถูกต้อง? ในเมื่อระบบบล็อกเชนไม่มีตัวกลางที่คอยตัดสินความถูกต้องเหมือนระบบ Centralized อื่นๆ (เช่น ธนาคารแบบดั้งเดิม ที่การบันทึกข้อมูลจะมาจากหน่วยงานส่วนกลาง ซึ่งเราจะต้องให้ความไว้วางใจ (Trust) ต่อระบบ Centralized เหล่านั้นว่า ข้อมูลที่ถูกบันทึกเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง)

นั่นจึงเป็นจุดที่ Consensus Mechanism เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในระบบแบบ Trustless (ระบบที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง) ระบบฉันทามติจะเป็นแกนหลักที่ช่วยให้เครือข่ายปลอดภัยและมีการบันทึกข้อมูลลงไปอย่างถูกต้อง เนื่องจาก “บล็อกเชน” คือ บัญชีแยกประเภทดิจิทัลสาธารณะที่มีการกระจายอำนาจ ธุรกรรมแต่ละรายการจะถูก บันทึกเป็น ‘บล็อก’ ของข้อมูล ซึ่งจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างอิสระ โดยเครือข่ายของคอมพิวเตอร์แบบ Peer-to-Peer ก่อนที่จะถูกเพิ่มเข้าไปในเครือข่าย หรือ ’เชน’ ระบบฉันทามติคือสิ่งที่จะช่วยรับประกันว่า ผู้เข้าร่วมเครือข่ายบล็อกเชนทั้งหมดเห็นพ้องต้องกัน หรือ มี “ฉันทามติ” ร่วมกันว่า ข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวมีความถูกต้องก่อนที่จะบันทึกลงไปในบล็อกเชน

ความสำคัญของ “ระบบฉันทามติ”

ระบบฉันทามติมีประโยชน์อยู่มากมายนับไม่ถ้วน แต่ประโยชน์หลักๆ ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนนั้นมีอยู่ 2 ประการ ได้แก่

1. การหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด และ ธุรกรรมที่เป็นอันตราย

เมื่อต้องจัดการกับข้อมูลที่สำคัญ (เช่น ยอดคงเหลือของผู้ใช้งาน) สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ บล็อกเชนจะต้องปราศจากข้อผิดพลาด ด้วยระบบฉันทามติ คุณสามารถรับประกันได้ว่า เครือข่ายจะบันทึกเฉพาะธุรกรรมที่ถูกต้องเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น มันยังช่วยในการตรวจจับธุรกรรมที่เป็นอันตราย เพื่อไม่ให้มันถูกเพิ่มเข้ามาในเครือข่ายอีกด้วย โหนดหลายๆ ตัวจะมีหน้าที่รับผิดชอบในการเพิ่มหรือปฏิเสธบล็อก ซึ่งจะทำให้การแอบเพิ่มธุรกรรมที่เป็นอันตรายเข้ามาผ่านกระบวนการตรวจสอบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก

2. การกระจายอำนาจ และ ความปลอดภัย

ระบบฉันทามติช่วยให้ทุกๆ โหนดสามารถตกลงกันได้โดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานส่วนกลางใดๆ ดังนั้น ระบบฉันทามติก็คือสิ่งที่ช่วยส่งเสริมหลักการของการกระจายอำนาจด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยิ่งมีผู้เข้าร่วมเครือข่ายมากเท่าไร มันก็จะบรรลุฉันทามติได้ยากมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยรับประกันได้ว่า เมื่อผ่านกระบวนการนี้แล้ว เครือข่ายก็จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และธุรกรรมที่ถูกบันทึกลงไปจะมีความถูกต้องอย่างแน่นอน

“ระบบฉันทามติ” มีอะไรบ้าง

Consensus Mechanism มีอยู่หลากหลายประเภท ซึ่งทำงานด้วยหลักการที่แตกต่างกัน ตัวอย่างของระบบฉันทามติยอดนิยมบางส่วน ได้แก่:

Proof of Work (PoW)

ต้นกำเนิดของ “ระบบฉันทามติ” ทั้งหมด การทำงานของ Proof of Work จะขึ้นอยู่กับเหล่านักขุด (Miners) ซึ่งจะแข่งขันกันแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์เพื่อรับสิทธิ์ในการตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมและรับรางวัลบล็อก ข้อดีของฉันทามติ PoW คือมีระดับความปลอดภัยที่สูงมาก แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ มีความต้องการพลังงานที่สูงเช่นกัน

ตัวอย่างโปรโตคอลที่ใช้งาน Proof of Work: Bitcoin, Litecoin, Dogecoin

Proof of Stake (PoS)

Proof of Stake หนึ่งในระบบฉันทามติที่ถูกนำไปใช้งานมากที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุด ผู้เข้าร่วมเครือข่าย Proof of Stake จะต้องล็อก (Stake) สินทรัพย์ดั้งเดิมไว้บนเครือข่ายตามจำนวนที่กำหนดไว้เพื่อรับสิทธิ์ในการเป็น Validators (ผู้ตรวจสอบความถูกต้อง) ให้กับเครือข่าย ข้อดีของฉันทามติ PoS ก็คือ มีความประหยัดพลังงาน และ ไม่มีความต้องการทางด้านฮาร์ดแวร์เพื่อเข้าร่วม

ตัวอย่างโปรโตคอลที่ใช้งาน Proof of Stake: Ethereum, Cardano, Tezos

Delegated Proof of Stake (DPoS)

ลองนึกภาพฉันทามติ PoS แต่มีกระบวนการเลือกตั้งเพิ่มเติมเข้ามา ในระบบ Delegated Proof of Stake ผู้เข้าร่วมเครือข่ายจะต้องลงคะแนนให้ผู้รับมอบสิทธิ์ — ซึ่งจะถูกเรียกว่า “Witness” หรือ “Block Producer” เป็นบุคคลที่พวกเขาไว้วางใจให้ดูแลเครือข่ายให้ปลอดภัย — ที่พวกเขาต้องการ จากนั้น ผู้รับมอบสิทธิ์จะแบ่งปันรางวัลให้กับผู้ที่ลงคะแนนให้พวกเขา ข้อดีของระบบ DPos ก็คือ มีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และ มีความสามารถในการปรับขนาดที่ดียิ่งขึ้น (เนื่องจากระบบจะมี Witness เพียงแค่จำนวนหนึ่ง ทำให้กระบวนการตัดสินใจต่างๆ มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น)

ตัวอย่างโปรโตคอลที่ใช้งาน Delegated Proof of Stake: EOS, Ark, Tron

Proof of Authority (PoA)

ระบบ Proof of Authority แตกต่างจากระบบฉันทามติอื่นๆ ตรงที่จะเลือก Validator โดยอิงจากชื่อเสียงของพวกเขา นั่นหมายความว่า ตัวตนในชีวิตจริงของ Validators แต่ละรายจะได้รับการตรวจสอบว่าพวกเขามีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด — ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากโปรโตคอลบล็อกเชนส่วนใหญ่ ที่โดยปกติแล้ว Validators จะไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนเพื่อเข้าร่วม — นอกจากนี้ Validator แต่ละรายจะต้องทำการล็อกสินทรัพย์ของพวกเขาไว้เป็นจำนวนหนึ่งเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็น Validator ของพวกเขาอีกด้วย

ตัวอย่างโปรโตคอลที่ใช้งาน Proof of Authority: VeChain, JP Morgan, Xodex

Proof of History (PoH)

Proof of History ระบบฉันทามติที่จะรวมเอาระบบ Timestamps เข้ากับโปรโตคอลของบล็อกเชน ซึ่งช่วยให้เครือข่ายสามารถตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นในอดีตได้โดยไม่ต้องใช้โหนดมาช่วยยืนยันธุรกรรม ทำให้สามารถเครือข่ายสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่สูญเสียความปลอดภัยและการกระจายอำนาจไป

ตัวอย่างโปรโตคอลที่ใช้งาน Proof of History: Solana

นอกเหนือจากระบบฉันทามติยอดนิยมที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น ก็ยังมีระบบฉันทามติต่างๆ ที่ยังไม่ได้เอ่ยถึงหรือไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เช่น Proof Of Weight (Filecoin), Proof of Capacity (Storj), Proof of Activity (Decred), Proof of Importance (NEM), Practical Byzantine Fault Tolerance (Zilliqa) เป็นต้น ซึ่งระบบฉันทามติเหล่านี้ต่างก็มีวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไป

บทส่งท้าย

Consensus Mechanism หรือ ระบบฉันทามติ นั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในเทคโนโลยีบล็อกเชน และยังเป็นเหตุผลที่ทำให้สกุลเงินดิจิทัลมีความปลอดภัยและมีความกระจายอำนาจอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เราอาจจะพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า ระบบฉันทามติใดที่มีความปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากแต่ละระบบนั้นก็มีแนวทางและจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป การทำความเข้าใจวิธีการทำงานและความแตกต่างของระบบต่างๆ จะช่วยให้คุณเข้าใจรายละเอียดสำคัญของเทคโนโลยีของบล็อกเชนนั้นๆ ได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น หากคุณต้องการที่จะลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลใดๆ แล้ว นอกเหนือจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตัวเหรียญแล้ว การศึกษาข้อมูลอื่นๆ เช่น ระบบฉันทามติของโปรเจกต์ ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน