Trusted

Layer 2 คืออะไร สำคัญยังไงกับบล็อกเชน

7 mins
อัพเดทโดย Apinat Phosuwan

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีบล็อกเชนเริ่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้เครือข่ายบล็อกเชนยอดนิยมต่างๆ เช่น Ethereum หรือ Bitcoin ซึ่งเป็นเครือข่ายหลักที่เป็นเครือข่าย Layer 1 ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม นั่นก็ส่งผลให้เครือข่ายเกิดความแออัดมากขึ้นเช่นเดียวกัน และสิ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวก็คือ “Layer 2” นั่นเอง แต่ Layer 2 คืออะไร? แล้วมันจะมาช่วยแก้ปัญหาให้กับบล็อกเชน Layer 1 ได้อย่างไร ไปดูกันเลยดีกว่า!

Layer 2 คืออะไร?

Layer 2 หมายถึง เครือข่าย, ระบบ, โซลูชั่น หรือ เทคโนโลยีใดๆ ที่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชน (เครือข่าย Layer 1) ซึ่งช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพให้กับเครือข่ายที่เป็นพื้นฐานอยู่ด้านล่าง โดยส่วนใหญ่แล้ว เครือข่าย Layer 2 จะช่วยให้บล็อกเชนใดๆ ก็ตามสามารถทำธุรกรรมได้มากยิ่งขึ้น

การเป็น Layer 2 ยังหมายความว่า เครือข่าย, ระบบ, โซลูชั่น หรือ เทคโนโลยีนั้นๆ จะต้องพึ่งพาความสามารถในการรักษาความปลอดภัยของบล็อกเชนที่พวกเขาถูกสร้างขึ้นมา และข้อมูลธุรกรรมต่างๆ (ที่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม) จะต้องได้รับการตรวจสอบและยืนยันโดยโหนดของเครือข่ายบล็อกเชนที่เป็นพื้นฐาน แทนที่จะเป็นโหนดที่แยกออกไปต่างหาก ตัวอย่างเช่น Sidechains ที่มักจะไม่ได้ถูกมองว่าเป็น Layer 2 เนื่องจากพวกเขาจะมีระบบฉันทามติ (Consensus Mechanism) และ ตัวตรวจสอบความถูกต้อง (Validators) ของตนเอง ส่งผลให้ไม่ได้รับความสามารถในการรักษาความปลอดภัยของบล็อกเชนพื้นฐานดั้งเดิมของพวกเขา

และเนื่องด้วยปัญหาของ Blockchain Trilemma (ปัญหาในเรื่องความสมดุลขององค์ประกอบหลักทั้ง 3 ของบล็อกเชน ได้แก่ การกระจายอำนาจ, ความปลอดภัย, และ ความสามารถในการปรับขนาด) ในบางครั้ง บล็อกเชนบางส่วนจึงยอมที่จะลดความเร็วในการทำธุรกรรมลง เพื่อให้ได้รับความปลอดภัยและการกระจายอำนาจที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้น Layer 2 คือสิ่งที่เข้ามาช่วยในการอุดช่องว่างตรงนี้ และช่วยให้บล็อกเชนพื้นฐานสามารถประมวลผลธุรกรรมได้มากขึ้น และยังส่งผลให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมลดลงได้อีกด้วย Layer 2 จึงมักจะถูกมองว่าเป็น Scaling Solution ที่ช่วยให้บล็อกเชน Layer 1 ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง

ความสำคัญของ Layer 2

บล็อกเชน คือ เครือข่ายของโหนดแบบกระจายอำนาจซึ่งช่วยในการประมวลผลธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายอย่างอิสระ เมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้น ข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวก็จะถูกจัดเก็บลงใน “บล็อก” (Block) ของข้อมูล และ นำไปจัดเรียง “ต่อ” (Chain) กัน ก่อให้เห็นเป็น “บล็อกเชน” (Blockchain) ขึ้นมา

แต่เมื่อเครือข่ายบล็อกเชนเริ่มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น (เช่น Bitcoin หรือ Ethereum เป็นต้น) เครือข่ายก็จำเป็นที่จะต้องมีพลังในการประมวลผมมากขึ้น เพื่อรองรับจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปที่ปัญหา Blockchain Trilemma เครือข่ายบล็อกเชนยอดนิยมเหล่านั้นก็อาจจะไม่สามารถประมวลผลธุรกรรมเป็นจำนวนมากได้ ทำให้เกิดความแออัดขึ้นมาในเครือข่าย ทำให้เครือข่ายทำงานได้ช้า (บางครั้งอาจจะใช้เวลาประมวลผลธุรกรรมนานถึง 10 นาที หรือมากกว่านั้น) หรือ ทำให้ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนเครือข่ายพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงได้มีการคิดค้น Scaling Solution เพื่อช่วยให้เครือข่ายบล็อกเชนยอดนิยมแต่ละเครือข่ายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดภาระการประมวลผลธุรกรรมของเครือข่ายหลักด้วยวิธีการต่างๆ ตัวอย่างเช่น State Channels ของ Lightning Network — เครือข่าย Layer 2 ของ Bitcoin ที่เป็นที่คุ้นหูกันดี — ที่จะทำการตรวจสอบสถานะของธุรกรรมแบบ Off Chain (นอกเครือข่ายหลัก) และเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว มันจึงจะทำการบันทึกข้อมูลธุรกรรมลงบนเครือข่ายหลัก เป็นต้น

ประโยชน์หลักๆ ของ Layer 2

ประโยชน์การใช้งานหลักๆ ของโปรโตคอล Layer 2 มีดังต่อไปนี้:

  • รองรับการประมวลผลธุรกรรมมากยิ่งขึ้น: Layer 2 Solutions ช่วยให้เครือข่ายบล็อกเชน Layer 1 สามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมที่สูงขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น Optimistic Rollups ซึ่งเป็น Layer 2 Scaling Solutions ของ Ethereum ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการประมวลผลธุรกรรมให้กับเครือข่าย Ethereum ได้หลายพันรายการต่อวินาที การปรับปรุงความสามารถในการปรับขนาดนี้จะช่วยให้เครือข่ายสามารถรองรับฐานผู้ใช้งานที่ใหญ่ขึ้นได้
  • ลดต้นทุนในการทำธุรกรรม: เมื่อเครือข่ายสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้มากยิ่งขึ้น นั่นก็จะทำให้เครือข่ายมีความแออัดน้อยลง และส่งผลให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นที่จะต้องจ่าย “ค่าแก๊ส” ที่สูงมากขึ้นเพื่อขอลัดคิวในการประมวลผลธุรกรรม ส่งผลให้ค่าแก๊สยังคงอยู่ในช่วงที่เหมาะสมมากที่สุด นอกจากนี้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมได้อีกด้วย เช่น ZK-Rollups บน Ethereum ที่จะทำการรวมธุรกรรมหลายรายการไว้ใน Proof เดียวเพื่อส่งไปยังเครือข่ายหลัก แนวทางนี้ก็จะช่วยให้ค่าธรรมเนียมในการประมวลผลธุรกรรมลดลงด้วยเช่นกัน
  • ช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น: เมื่อความแออัดบนเครือข่ายได้รับการบรรเทาลงแล้ว ความเร็วในการทำธุรกรรมจึงมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

ตัวอย่างของ Layer 2 Solutions ที่น่าสนใจ

แนวทางของ Layer 2 Solutions ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเอาธุรกรรมส่วนใหญ่ออกไปดำเนินการนอกเครือข่ายหลัก (Mainnet) โดยมี Optimistic Rollups และ Zero-Knowledge Rollups เป็น Layer 2 Solutions ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม มันยังมี Layer 2 Solutions ประเภทอื่นๆ อยู่อีกมากมาย ทั้งที่เป็นที่นิยมและคุ้นหูเหล่าสาวกคริปโตเป็นอย่างมาก หรือ แม้แต่ตัวที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมก็ตาม

1. Optimistic Rollups

แนวทางของ Optimistic Rollup ก็คือ “การมองโลกในแง่ดี” (Optimistically) ว่าธุรกรรมเลเยอร์ 2 ทั้งหมดนั้นถูกต้องจนกว่าจะมีการท้าทาย (Challenge) และได้รับการพิสูจน์ว่าผิดโดยตัวตรวจสอบความถูกต้อง (Validators) ของเครือข่าย

หากธุรกรรมถูกต้อง เครือข่ายหลักก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม ช่วยให้เครือข่ายทำงานได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการนำเข้าธุรกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือมีความเสี่ยง ระบบ Optimistic Rollups ก็จะเริ่มดำเนินการป้องกันการฉ้อโกง และทำการลงโทษ Validators ที่ให้การอนุมัติธุรกรรมดังกล่าว

ตัวอย่างของเครือข่ายบล็อกเชนที่ใช้งาน Optimistic Rollups: Arbitrum One, Optimism, Cartesi

2. Zero-Knowledge Rollups

Zero-Knowledge Rollup หรือ ZK-Rollup คือ การพิสูจน์ความถูกต้องของธุรกรรมโดยไม่เปิดเผยถึงรายละเอียดใดๆ ของธุรกรรม (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Zero-Knowledge) ZK-Rollup จะทำการสร้างหลักฐานที่มีการเข้ารหัสที่ถูกเรียกว่า SNARK (Succinct Non-Interactive Argument of Knowledge) เพื่อใช้เป็น “หลักฐานพิสูจน์ความถูกต้อง” ที่เป็นสิ่งเดียวที่จะนำไปบันทึกบนบล็อกเชนหลัก ซึ่งจะช่วยลดค่าแก๊สของผู้ใช้งานที่เกิดจากการประมวลผลข้อมูลทั้งหมดได้

ตัวอย่างของเครือข่ายบล็อกเชนที่ใช้งาน Zero-Knowledge Rollups: Polygon, Loopring, Immutable X, StarkWare

3. State Channels

State Channel เป็น ระบบการสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication) ระหว่างผู้เข้าร่วม ช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบุคคลที่ 3 เพื่อช่วยในการยืนยันการทำธุรกรรม โดยเริ่มจากการปิดผนึกส่วนหนึ่งของบล็อกเชนด้วย Multisig เพื่ออนุญาตให้เกิดการสื่อสารกันโดยตรงโดยไม่ต้องส่งหลักฐานใดๆ ไปยังตัวตรวจสอบ (เช่น นักขุด) จากนั้น เมื่อธุรกรรมได้รับการยืนยันแล้ว สถานะสุดท้าย (Final State) ของช่องทาง (Channel) ก็จะถูกเพิ่มลงไปยังบล็อกเชน

ตัวอย่างของเครือข่ายบล็อกเชนที่ใช้งาน State Channels: Lightning Network, Raiden Network

สรุปส่งท้าย

บล็อกเชน Layer 1 และ Layer 2 ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นคู่แข่งกันโดยตรง แต่เป็นการพึ่งพาอาศัยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบล็อกเชนหลัก ความสามารถในการปรับขนาด (Scalability) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของบล็อกเชน L1 นั้นคือสิ่งที่จำกัดศักยภาพของพวกเขาเอาไว้ และนั่นคือจุดที่ Layer 2 Solutions เข้ามา พวกเขาถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้โดยตรง โซลูชั่นเหล่านี้จะช่วยปลดล็อกศักยภาพในการเพิ่มปริมาณธุรกรรม, ความคุ้มค่า, และช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน

ในระหว่างที่ ‘เทคโนโลยีบล็อกเชน’ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง Layer 2 Solutions ก็จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้บล็อกเชน L1 เหล่านี้สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และเป็นสิ่งที่ช่วยในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้งานในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น

🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024
🎄แพลตฟอร์มคริปโตที่ดีที่สุดในไทย | ธันวาคม 2024

ข้อจำกัดความรับผิด

ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราเผยแพร่ด้วยเจตนาที่ดีและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลทั่วไปเท่านั้น การกระทำใด ๆ ที่ผู้อ่านดำเนินการตามข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ของเราถือเป็นความเสี่ยงของผู้อ่านโดยเฉพาะ Learn ให้ความสำคัญกับข้อมูลคุณภาพสูง เราอุทิศเวลาให้กับการแยกแยะ ค้นคว้า และสร้างเนื้อหาเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานนี้และเพื่อสร้างเนื้อหาคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง พาร์ตเนอร์ของเราอาจตอบแทนเราด้วยค่าคอมมิชชั่นสำหรับการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ในบทความของเรา อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิชชั่นนี้ไม่มีผลต่อกระบวนการของเราในการสร้างเนื้อหาที่ไร้อคติ ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์

Akhradet-Mornthong-Morn.jpg
Akradet Mornthong
อัครเดช หมอนทอง เป็น นักแปล/นักเขียนคอนเทนต์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน NFT Games, Metaverse, AI, Crypto และเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาจบการศึกษาในสาขาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล และมีประสบการณ์ในการทำงานในวงการเกมมากกว่า 10 ปี เมื่อ NFT Games ได้กลายเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ไม่พลาดที่จะก้าวเข้ามาในวงการนี้เพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงลึกต่างๆ ของวงการ NFT รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ Crypto อีกด้วย
READ FULL BIO
ได้รับการสนับสนุน
ได้รับการสนับสนุน